หลักการและเหตุผล
การพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติให้เติบโต เป็นมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพ เด็กและเยาวชนเหล่านั้นจำต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพและการศึกษาตั้งแต่วัยอันควร ผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว)ประจำปี 2559 ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่า เด็กประถมศึกษาปีที่ 1 มีไอคิวเฉลี่ยที่ 98.2 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ระดับ 100 โดยเด็กจาก 35 จังหวัดจาก 77 จังหวัด มีไอคิวอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และเด็กที่มีระดับสติปัญญาบกพร่องมีมากถึงร้อยละ 5.8 เกินมาตรฐานสากลที่ตั้งไว้ร้อยละ 2 ส่วนมากเป็นเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ซึ่งอาศัยในพื้นที่ทุรกันดาร และฐานะยากจนสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาคือ ภาวะขาดสารอาหารในแม่และเด็กระหว่างตั้งครรภ์ และการเติบโตทางร่างกายไม่สมวัยในช่วง 0-5 ขวบ (คมชัดลึก, 2559) ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ชัดว่า การจัดการด้านสุขภาพในเด็กก่อนวัยเรียน ส่งผลต่อความพร้อมทางสติปัญญา ความพร้อมในการเริ่มศึกษาเล่าเรียน ท้ายสุดสามารถส่งอิทธิพลต่อผลลัพธ์ทางการศึกษา ทั้งในด้านอัตราการจบ อัตราการเรียนต่อในระดับสูง และคุณภาพทางการ
เรียนรู้ของผู้เรียน
ความพร้อมทางสติปัญญาของเด็กไทย ที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล เป็นปัญหาที่น่าสนใจ หากคำนึงข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศไทยถือได้ว่ามีระบบสุขภาพในแถวหน้าของโลก มีทรัพยากรสุขภาพในรูปจำนวนเตียงโรงพยาบาลต่อพันประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก มีอัตราตายของเด็กและมารดาดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีรายได้ประชาชาติและรายจ่ายสุขภาพต่อหัวประชากรใกล้เคียงกัน (วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ, 2558)รายจ่ายสุขภาพปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และรายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 17 ของรายจ่ายทั้งหมด กระนั้นก็ตาม รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน รวมไปถึงลักษณะการกระจายทรัพยากรของรัฐด้านสุขภาพ ที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพของเด็กนักเรียน