ในคลิปนี้ ผศ.วิริยาภรณ์ อุดมระติ อาจารย์พิเศษประจำคณะจิตวิทยา สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมาสรุปให้ฟังถึงพัฒนาการของวัยนี้และการเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีในวัยนี้
ในช่วงป.1-3 เป็นช่วงรอยต่อของอายุเด็ก (Transition) เด็กจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจากการเรียนในโรงเรียนอนุบาลหรือเด็กปฐมวัยเข้าสู่วัยประถมที่ต้องเริ่มเรียนวิชาการ ครูจึงต้องให้โอกาสเด็กในการปรับตัว ถ้าเข้าใจรอยต่อตรงนี้ครูที่สอนเด็กประถมปีที่ 1 ก็จะไม่คาดหวังว่าเด็กจะต้องอ่านออกเขียนได้ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กผ่านจากปฐมวัยเข้ามาเรียนในระดับประถมศึกษา
วัยนี้เป็นวัยขยันขันแข็ง (industry) เพราะหน้าที่หรืองานทางพัฒนาการของเด็กวัยนี้ คือ เด็กเริ่มมีสังคม เมื่อมีสังคมมากขึ้น ทำให้เด็กจะต้องแข่งขัน และในขณะแข่งขันมีแพ้มีชนะ ไม่พอใจก็ต้องประนีประนอมกัน และต้องรู้จักทำงานร่วมกับเพื่อน หน้าที่ของครู คือ ต้องให้โอกาสเด็กมีประสบการณ์ทำอะไรได้ด้วยตัวเขาเอง ให้เขามีโอกาสทำงานกับเพื่อนเพื่อรู้จักการทำงานร่วมกับคนอื่น อีกด้านนึงที่สำคัญ คือ การเอาตัวเองเป็นที่ตั้งหรือศูนย์กลางจะลดน้อยลง ให้ความร่วมมือกับคนอื่นได้ ในเรื่องสติปัญญาการรู้คิด เขาจะเริ่มคิดอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่ยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป มนุษย์ที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่เรื่องวิชาการอย่างเดียว ดังนั้นการพัฒนาเด็ก ครูอาจต้องมองไปข้างหน้าด้วยว่าเด็กต้องเผชิญกับอะไรบ้าง อย่ากักเขาไม่ให้ทำอะไร แต่ควรฝึกให้เขาทำอะไรได้และฝึกใช้ระบบการคิดให้ติดตัวเขา
⚠️ หมายเหตุ :สื่อ “จิตวิทยาพัฒนาการ”สร้างขึ้นเพื่อแนะแนวทางบุคลากรในสถานศึกษาเพื่อให้ความช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาได้อย่างถูกวิธีตัวละคร สถานการณ์และสถานที่ในสื่อ เป็นเหตุการณ์สมมติมิได้มีเจตนาพาดพิงองค์กร หรือบุคคลกลุ่มใด ๆ
🔉 สื่อนี้จัดทำขึ้นภายใต้โครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนในสถานศึกษา