การใช้ชีวิตอยู่กับอาชีพและการทำงาน คิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งค่อนชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งโดยมากมักสัมพันธ์กับการศึกษาและช่วงชีวิตวัยเด็กอย่างมีนัยสำคัญ นักเรียนคนหนึ่งอาจต้องผ่านการเขียนคำตอบในใบงานเรื่อง ‘อาชีพในฝัน’ หลายต่อหลายครั้ง แต่จะสามารถสานต่อสิ่งที่เขียนลงในกระดาษคำตอบเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด ไม่อาจมีใครรู้ แต่สิ่งที่ทุกคนรับรู้ได้คือ มีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้นักเรียนหลายคนไปไม่ถึงฝั่ง
งานวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง ‘ปัจจัยของการไม่สามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้: กรณีศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดระยอง’ โดย เสาวลักษณ์ โรจน์สุธี และบัญญัติ ยงย่วน (2557) สำรวจเหตุผลที่นักเรียนหลายคนไม่สามารถตัดสินใจเลือกอาชีพที่ตนเองอยากเป็นได้ แม้จะอยู่ในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางอาชีพ ทั้งด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว ผลการวิจัยระบุว่ามีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1) ปัจจัยด้านครอบครัว ทั้งในแง่ของการให้อิสระในการตัดสินใจและฐานะทางเศรษฐกิจ 2) ปัจจัยด้านโรงเรียน โดยเฉพาะวิชาแนะแนวไม่ถูกให้ความสำคัญ และ 3) ปัจจัยส่วนบุคคลที่ทำให้ความคาดหวังของนักเรียนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
เหตุผลประการหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้นักเรียนจะทราบว่าสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ แต่นักเรียนก็ไม่ต้องการกู้ยืม เนื่องจากภาระหนี้สินของครอบครัวที่มีอยู่เดิม หากกู้ยืมเงินเพื่อเข้าเรียนต่อในคณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น แพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข จะกลายเป็นการเพิ่มภาระให้กับครอบครัวอีกทบหนึ่ง ถึงแม้ตนเองจะมีความใฝ่ฝันในอาชีพนั้นก็ตาม
นอกจากหลักฐานเชิงวิชาการ สื่อภาพและเสียงก็ช่วยสะท้อนระบบการศึกษาที่ไม่รองรับความหลากหลายทางอาชีพได้ไม่น้อย ดังเช่น School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน สร้างสรรค์โดย Eyedropper Fill คือภาพยนตร์สารคดีที่สะท้อนความคาดหวังของสังคมและระบบการศึกษาได้เป็นอย่างดี เมื่อเด็กคลองเตย 2 คน มีความฝันอยากเป็นแร็ปเปอร์โดยมีชีวิตที่ยากจนเป็นเดิมพัน ทว่าพวกเขาไม่สามารถมุ่งสู่ความฝันได้อย่างเต็มที่เมื่อสังคมคาดหวังผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระบบ ราวกับว่าหากไม่สามารถทำตามมาตรฐานการวัดผลของการศึกษาในระบบได้แล้ว พวกเขาอาจหมดอนาคตและไม่สามารถเป็นอะไรที่ต้องการได้อีกเลย ไม่เฉพาะครอบครัวและโรงเรียน แต่รวมถึงเพื่อนนักเรียนที่มองว่าผลการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพาไปสู่ชีวิตที่ดี
ระบบการศึกษาที่ยังมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ บวกกับความคาดหวังทางสังคม ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถฝันถึงอาชีพที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศและนานาชาติ อย่างเช่นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยมี PISA (Programme for International Student Assessment) เป็นตัวชี้วัด ทำให้แต่ละประเทศมุ่งให้ความสำคัญกับความสามารถเชิงวิชาการของนักเรียนมากกว่าด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการแข่งขันที่สร้างความเครียดและความกดดันแก่เด็ก
ถึงแม้ปัจจุบันระบบการศึกษาในโรงเรียนจะพยายามพัฒนาโดยเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น แต่ระบบเหล่านั้นยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงกรอบค่านิยมทางสังคมได้ ดังประโยคในหนังสือชื่อ Happy Schools! A framework for Learner Well-being in the Asia-Pacific ที่กล่าวว่า “โรงเรียนนั้นถูกออกแบบเพื่อเด็ก ทว่าโดยผู้ใหญ่” ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมระบบการแข่งขันกันเองแล้ว ยังทวีความรุนแรงจากช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างกันอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่า นอกจากอาชีพในฝันแล้ว นักเรียนยังต้องการระบบการศึกษาในฝันที่ทำให้พวกเขามีความสุขกับการพยายามเพื่อความฝันของตนเองได้อย่างเต็มที่ รวมถึงมีพื้นที่ให้พวกเขามีโอกาสสานต่อความฝันร่วมกับผู้อื่นในสังคมเดียวกันอีกด้วย
อ้างอิง
- งานวิจัย ปัจจัยของการไม่สามารถตัดสินใจเลือกอาชีพได้: กรณีศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดระยอง โดย เสาวลักษณ์ โรจน์สุธี และ บัญญัติ ยงย่วน นำเสนอในการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 15: The 15th Graduate Research Conferences ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557
- “School Town King” แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน [Official Trailer]
- จะ ‘ปีกกล้าขาแข็ง’ ได้อย่างไร เมื่อถูกการศึกษา ‘เด็ดปีก’