เรื่อง: กวิตา พร้อมเพราะ
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ระยะเวลาเกือบสองปีที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดยิ่งขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากเศรษฐกิจ สังคม
มีการปรับรูปแบบมาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือ ผสมผสานระหว่างหลายรูปแบบ กระทรวงศึกษาเองก็ตระหนักปัญหาที่จะส่งผลให้นักเรียนเสียโอกาสการเรียนรู้ จึงมีการประกาศแนวทางการจัดการเรียนการสอน ให้สถานศึกษาสามารถเลือกจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมตามระดับความรุนแรงของการระบาดในแต่ละพื้นที่เป็น 5 รูปแบบ คือ
- On Site จังหวัดในพื้นที่ที่ไม่ใช่สีแดงสามารถมาเรียนตามปกติ แต่ต้องเว้นระยะหรือลดจำนวนนักเรียนต่อห้องลง สำหรับจังหวัดพื้นที่สีเขียว สามารถจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ตามปกติ
- On Air การเรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ DLTV
- Online ให้ครูเป็นผู้จัดการเรียนการสอน ผ่านเครื่องมือที่ทางโรงเรียนกระจายไปสู่นักเรียน เป็นรูปแบบที่ถูกใช้ในการจัดการเรียนการสอนจำนวนมากที่สุด
- On Demand เป็นการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ครูกับนักเรียนใช้ร่วมกัน
- On Hand หากจัดในรูปแบบอื่นๆ ที่กล่าวมาไม่ได้ ให้ใช้แบบเรียนสำเร็จรูป ให้นักเรียนรับชุดการเรียนรู้ไปเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน โดยมีครูออกไปเยี่ยมเป็นครั้งคราว หรือให้ผู้ปกครองทำหน้าที่เป็นครูคอยช่วยเหลือ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การทดแทนการเรียนการสอนปกติด้วยการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวข้างต้นเป็นระยะเวลานานมีผลต่อการพัฒนาของเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งด้วยธรรมชาติของเด็กในช่วงวัยนี้ จะเรียนรู้ผ่านการเล่น จากการลงมือปฏิบัติจริง และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ผลการวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ก็แสดงให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยในพื้นที่ที่มีการระบาดจนต้องปิดโรงเรียนนั้น ส่งผลให้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กลดลง 1.98 เดือน หรือเกือบ 2 เดือน และด้านสติปัญญาลดลง 1.39 เดือน หรือ อาจพูดได้ว่า ความรู้ที่ถดถอยของเด็กปฐมวัยมาจากการเรียนรู้ที่หยุดชะงัก เช่น เด็กหยุดเรียน 3 สัปดาห์ ทักษะทางการเรียนก็จะถดถอยเทียบเท่ากับ 2-3 สัปดาห์เช่นกัน ขณะที่การเรียนแบบไม่พบหน้ากัน ซึ่งเป็นรูปแบบทดแทนการเรียนในห้องเรียนของเด็กปฐมวัยได้ผลเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ทำให้มีเสียงสะท้อนและความห่วงใยถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กปฐมวัย ว่าครูผู้สอนควรมีการปรับตัวหรือจัดกิจกรรมอย่างไร ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้อย่างเหมาะสม สนับสนุนพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม
แต่นั่นอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น คำถามสำคัญคือกระบวนการที่จะฟื้นคืนความรู้ที่ถดถอย หรือเยียวยาภายหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิดผ่อนคลายลงนั้นจะเป็นอย่างไร แล้วปัจจุบันมีการทำงานวิจัย พัฒนานวัตกรรม หรือองค์ความรู้เพื่อรองรับเรื่องนี้หรือยัง
คณะนักวิจัยจาก Brown Center on Education Policy สถาบัน Brookings ได้ศึกษาผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย โดยทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยกว่า 76 ชิ้น และสรุปแนวทางการวิจัยที่ควรดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยและเป็นประโยชน์ต่อแนวทางในการวางนโยบายด้านการศึกษาต่อไป โดย 6 ประเด็นสำคัญที่ควรทำการวิจัยประกอบด้วย
1. ติดตามการฟื้นคืนของกลุ่มเด็ก ครอบครัว และครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน และมีแนวโน้มที่จะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การติดตามเพื่อดูว่ากลุ่มเด็กปฐมวัยได้รับการดูแลเป็นอย่างดีแล้วหรือยัง ทั้งในด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการเรียนรู้ จะช่วยให้เกิดการวางแผนการศึกษาอย่างต่อเนื่องทั้งกับเด็กปฐมวัย ครอบครัว ครูผู้สอน และการจัดการเรียนการสอนโดยรวม
2. ผลการศึกษาเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่มีอยู่ อาจไม่สะท้อนถึงข้อมูลปัจจุบัน
ข้อมูลที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะสะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องในมิติด้านสุขภาพ และความปลอดภัยของเด็กปฐมวัย แต่ข้อมูลที่แสดงถึงผลกระทบที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนการสอน หรือการจัดกิจกรรมแก่เด็กปฐมวัยยังมีน้อยมาก ทำให้ไม่สามารถใช้อ้างถึงเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนได้ จึงหวังว่าเมื่อการแพร่ระบาดลดลง นักวิจัยจะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล สังเกตการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เวลาของเด็กในห้องเรียน คุณภาพการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือไม่ ครูต้องการการสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง ข้อมูลที่ได้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักสูตร และการวางนโยบายการศึกษาแบบ New Normal ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
3. การประเมินสมรรถนะหรือพัฒนาการด้านการเรียนรู้เด็กปฐมวัยเป็นรายบุคคล และครอบคลุมทุกมิติ
อ้างถึงในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ยังมีการวัด/ประเมินสมรรถนะหรือพัฒนาการด้านการเรียนรู้กับเด็กปฐมวัยเป็นรายบุคคลไม่มากนัก โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กปฐมวัยในครอบครัวที่มีรายได้น้อย หรือ เด็กปฐมวัยจากครอบครัวผิว ทำให้ไม่สามารถที่จะออกแบบการดูแลช่วยเหลือ และการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมได้ ซึ่งหากมีข้อมูลดังกล่าวที่เพียงพอ จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวทางนโยบายด้านการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การสนับสนุนขวัญกำลังใจ และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
ไม่เพียงแต่เด็กนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 บุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ และการสนับสนุนต่างๆ ที่ลดลง จากผลกระทบที่ได้รับนี้ ทำให้บุคลากรทางการศึกษาต้องการได้รับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาตนเองเกี่ยวกับความรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และการจัดการเรียนการสอนทางไกล (remote learning) ซึ่งควรมีการเก็บข้อมูลระยะยาวเกี่ยวกับผลกระทบและความต้องการของบุคลากรทางการศึกษาและวางระบบการสนับสนุนที่เหมาะสม เพราะหากบุคลากรเหล่านี้ได้รับการพัฒนาที่ถูกต้องสอดคล้องกับความต้องการ ย่อมส่งผลต่อเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแลและพัฒนาผ่านการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ท้ายที่สุดคือ เด็กจะมีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยนั่นเอง
5. การจัดลำดับความสำคัญโดยวิจัยกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคน แต่ความรุนแรงที่ได้รับอาจแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กปฐมวัยกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กพิการ และเด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลช่วยเหลือที่มากกว่าเด็กทั่วไป การเก็บข้อมูลเพื่อทำการวิจัยศึกษากลุ่มดังกล่าวจึงมีความสำคัญ จะเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ได้รับการดูแลที่เท่าเทียม และเหมาะสมกับแต่ละกลุ่ม
6. ประเมินผลกระทบเพื่อการตัดสินใจในการลงทุนด้านการศึกษาที่เหมาะสม
โดยผลจากการวิจัย สามารถเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการวางแผนเกี่ยวกับการศึกษาได้ในทุกระดับ ทั้งระดับครอบครัวที่จะใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนการศึกษาให้กับลูก หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางกำหนดนโยบายด้านการศึกษา เช่น การกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้ การกำหนดค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรทางการศึกษา และการดูแลช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบาง เพื่อให้เกิดระบบการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน
จากประเด็นสำคัญที่ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ในข้างต้น สามารถนำมาปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยข้อมูลที่ได้จากการวิจัยจะเป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสม รวมทั้งทำให้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการศึกษาต่อไปได้ หากเกิดสถานการณ์วิกฤติใดๆ ก็จะมีแนวทางด้านการศึกษาที่พร้อมรับมือ
อ้างอิง
- แนวทางปฏิบัติภายใต้สถานการณ์โควิด-19 สำหรับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ สืบค้น 25 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.obec.go.th/archives/363188
- Weiland, C., Greenberg, E., Bassok, D., Markowitz, A., Rosada, P. G., & Luetmer, G. (2021). 6 priorities for future research into COVID-19 and its effects on early learning. Retrieved 25 July 2021, from https://www.brookings.edu/blog/brown-center-chalkboard/2021/07/20/6-priorities-for-future-research-into-covid-19-and-its-effects-on-early-learning
- วีระชาติ กิเลนทอง, (2564). โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย