“เรารู้สึกว่านิทานเด็กไม่ใช่เครื่องมือทางศีลธรรม แต่ต้องเป็นเครื่องมือทางมนุษยธรรมที่ทำให้เราเป็นคนที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่มากกว่าที่จะรู้สึกว่า ฉันโดนบังคับให้เป็นแบบนี้หรือเพราะเขาสั่งมาให้เป็นแบบนี้”
เราทุกคนล้วนเคยอ่านนิทานที่หน้าสุดท้ายของหนังสือมักจะลงท้ายด้วย ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ ประโยคนี้เองที่ รับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตั้งคำถามกับนิทาน นิทานส่วนใหญ่กลายเป็นเครื่องมือสั่งสอนศีลธรรม สอนให้เชื่อมากกว่าตั้งคำถาม
จากคำถามนั้น เธอจึงเขียนนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมา – เดินไปดวงดาว
นิทานเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงและแม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองสีฝุ่น ตัวละครพยายามเดินไปดวงดาวโดยมีเป้แบกฝันและรองเท้าเหล็กเป็นเงื่อนไขติดตัวตลอดการเดินทาง ในระหว่างการผจญภัย เธอได้พบกับคนจากเมืองขี้เกียจและดวงดาวที่เงื่อนไขในชีวิตที่แตกต่างกันลิบลับ สุดท้ายแล้วเธอค้นพบว่าเป้แบกฝันเป็นเรื่องโกหกหลอกลวง เธอไม่มีวันเดินไปถึงดาวดาวอย่างที่แม่บอกได้
เราพูดคุยกับ รับขวัญ ในฐานะผู้เขียนและผู้วาดนิทานเรื่องนี้ นิทานที่ฉีกกฎนิทานทั่วไป หน้าสุดท้ายของนิทานไม่มีคำสอนประเภท ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ แต่ชวนผู้อ่านตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในโลกทุนนิยม
การเติบโตมาจากการเป็นนักเรียนทุนยากจนที่ต้องไปนั่งเล่าความน่าสงสารว่าที่บ้านยากจนอย่างไร กระบวนการเหล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทำให้เธอเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ และสะสมและรอวันที่จะประกาศออกมา
นิทานเรื่องนี้คือรูปธรรมหนึ่งที่เธอสั่งสมความบอบช้ำมาจากโลกใบเดียวกับที่เราหายใจร่วมกัน