ในปี 2564 คือปีที่เริ่มต้นด้วยประเด็นร้อน เมื่อยูทูปเบอร์คนหนึ่งมอบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับเด็กๆ บนดอยสูง จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ที่สุดเรื่องนี้ก็พาคนฝ่าลมหนาวไปทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ที่ถูกลืม ทำไมคนในหมู่บ้านหนึ่งๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ ทั้งที่ในเมืองใหญ่น้ำไหลไฟสว่างกระทั่งรบกวนแสงของดวงดาว
คำถามแตกกอต่อยอดไปจนถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา และการบริจาค ในประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงอันดับต้นๆ ของโลก ทำไมหลายโรงเรียนยังขาดแคลน และในประเทศที่มีผู้ให้ผ่านการบริจาคเต็มไปหมด ทำไมผู้รับยังไม่ลดลง กระทั่งความเหลื่อมล้ำต่ำสูงผ่านปรากฎการณ์สนทนารวมหมู่เหล่านั้นเปิดบาดแผลอีกลึกเพียงใด เมื่อเจอผีซ้ำด้ำพลอยด้วยโรคระบาด
ฟังทรรศนะของ ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อีกบทบาทหนึ่งคือคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น ทุนสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลสู่การเป็นครูรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ในอดีต ดร.ศุภโชค คือนักศึกษาคุรุทายาทรุ่นแรกของประเทศ ส่วนปัจจุบันเป็นประธานชมรมคุรุทายาทแห่งประเทศไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ
คลี่หมวกให้เห็นหลายใบ เพื่อขีดเส้นใต้ชัดๆ ว่าการเลือกคู่สนทนามาอธิบายปรากฎการณ์เหล่านี้มีหลักยึดอย่างไร แม้หมอกควันแห่งการถกเถียงจะสร่างซาบ้างแล้ว แต่ใช่หรือไม่ว่าปัญหาการศึกษาของบ้านเมืองเราโดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบางห่างไกลจากศูนย์กลางก็ยังไม่ได้หนีหายไปไหน