“เราทำงานทางด้านครีเอทีฟ เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้”
ประโยคหนึ่งจาก พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) องค์กรที่มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน
หลังจากที่พอลได้ร่วมงานกับรัฐบาลอังกฤษภายใต้โครงการ Creative Partnerships โดยรัฐบาลอังกฤษขณะนั้นเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล เงินสนับสนุนโครงการจึงถูกยกเลิกไป แต่ถึงอย่างนั้นพอลก็ไม่ล้มเลิกความคิดที่จะพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กภายในประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกด้วย
จากการทำงานและประสบการณ์ เขาพบว่าการจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น เด็กต้องมี 5 ลักษณะนิสัยพื้นฐานคือ อยากรู้อยากเห็น (inquisitive) มีความอดทน (persistent) มีจินตนาการ (imaginative) มีวินัย (disciplined) และการมีส่วนร่วม (collaborative) เมื่อรวมพฤติกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกันจึงเกิดเป็นนิยามของคำว่า สร้างสรรค์ ที่ควรมีในโรงเรียน
ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เขาสนใจร่วมงานด้วย เพราะมีองค์กรอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีแนวคิดเดียวกับ CCE ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่มีฐานะยากจนให้ดีขึ้น
การสนทนาครั้งนี้ คือการพาไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ในการสร้าง 5 ลักษณะนิสัย เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และตอบคำถามสำคัญว่า ทำไม CCE จึงหยิบประเด็นความคิดสร้างสรรค์มาแก้โจทย์ในการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก รวมไปถึงเปลี่ยนวิกฤติ COVID-19 เป็นโอกาสทางการศึกษา