การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ซ้ำเติมผลกระทบจากการล็อคดาวน์ระลอกแรกให้ซึมลึกยิ่งขึ้นในทุกกลุ่มคน แวดวงการศึกษาก็เช่นกัน เมื่อรั้วโรงเรียนถูกปิด กิจกรรมในห้องเรียนหยุดชะงัก ส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนไทยทั้งประเทศเกิดอาการสะดุด เพราะต้องย้ายจากโลกจริงไปสู่โหมดออนไลน์และออนแอร์
วงเสวนาออนไลน์ Equity Talk ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ ‘เมื่อโรงเรียนปิด ประตูการเรียนรู้จะเปิดได้อย่างไร’ จัดโดย Equity Lab ภายใต้สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนฟังมุมมองของคนรุ่นใหม่และเป็นไอดอลของใครหลายคน ได้แก่ อิม-พชร สูงเด่น รองบรรณาธิการบริหาร The Momentum, บอล-ทายาท เดชเสถียร, ยอด-พิศาล แสงจันทร์ พิธีกรรายการหนังพาไป และ กรทอง วิริยะเศวตกุล ผู้ร่วมก่อตั้งแฟนเพจ SpaceTH.co เพื่อร่วมกันมองหาโอกาสที่ยังหลงเหลือจากวิกฤติการศึกษาในครั้งนี้
คนกลุ่มแรกๆ ที่น่าห่วงใยและไม่ควรได้รับการเพิกเฉย คือกลุ่มเด็กเปราะบาง เด็กยากจน ที่ไม่อาจเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนที่เหมาะสม ยังไม่นับว่าบางพื้นที่อาจไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้
กรทอง วิริยะเศวตกุล กล่าวถึงใจกลางของปัญหาว่า อุปสรรคของการเรียนออนไลน์คือ ครูไม่สามารถนำเอารูปแบบการเรียนในห้องมาใช้กับออนไลน์ได้ และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อยู่ ครูจะต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กให้มากขึ้น
“ปัญหาเด็กเปราะบางเข้าไม่ถึงการศึกษา ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรละเลย ถ้าเราเชื่อว่าเด็กคืออนาคตของชาติ ก็ไม่ควรมีเด็กคนไหนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
สำทับด้วยความเห็นของ อิม-พชร สูงเด่น เธอมองว่า นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงเผยให้เห็นรอยแผลที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทย แผลแรกคือ การที่เด็กไม่สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนได้อย่างทั่วถึง แผลที่สองคือ แม้เด็กบางคนจะเข้าถึงได้ แต่การเรียนออนไลน์ก็ยังไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ทั้งหมด ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์
สร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้
ตัดเข้าสู่ประเด็นที่ว่า ในเมื่อโรงเรียนถูกปิด ประตูแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ จะเปิดได้อย่างไร ในความเห็นของอิม มองว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของชีวิต ซึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กก็คือการ ‘เล่น’ และ ‘ลอง’ เพราะเด็กจะใช้ทุกทักษะ แล้วสนุกไปกับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เด็กรู้จักลองคิด ลองตั้งคำถาม และนำไปสู่การค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
“จริงๆ แล้วการเรียนรู้ของเด็กไม่จำเป็นต้องมีระเบียบวิธีซับซ้อน แต่มันง่ายกว่านั้นมาก เด็กเพียงแค่เล่น ลอง ใช้ทุกทักษะที่ตัวเองมี กระโจนไปกับมัน และสนุกไปกับมัน การเล่นจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้พร้อมๆ กับการลอง แล้วค่อยๆ เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง”
อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทของสถานการณ์โควิดซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เด็กไม่สามารถออกไปเรียนรู้ประสบการณ์จากโลกภายนอกได้ อีกทั้งห้องเรียนยังมักตีกรอบความคิดของเด็กและไม่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม อิมให้ข้อสังเกตว่า การมีพื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนพื้นที่ในลักษณะนี้ค่อนข้างมาก และจะดีกว่านั้นหากทุกคนช่วยกันสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ขึ้นมา เพื่อแชร์ประสบการณ์แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เรื่องอะไรก็ตาม และเปิดโอกาสให้คนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ตามความถนัดและความสนใจของตัวเอง
“หลายครั้งเราอาจรู้สึกว่า ทำไมห้องเรียนเป็นอย่างนี้ ทำไมโครงสร้างการศึกษาเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะรู้สึกเบื่อมากเวลาที่ทุกคนบ่นว่าไม่ได้ดั่งใจ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ เราจะมีท่าทีกับมันอย่างไร และต้องไม่จำยอมไปกับมัน ในเมื่อไม่มีพื้นที่การเรียนรู้แบบนี้แล้ว เราจะช่วยกันสร้างขึ้นมาเองได้ไหมโดยไม่ต้องรอให้ใครมาประเคนให้”
โลกที่ผู้ใหญ่ต้องหัดเรียนรู้จากเด็ก
ยอด-พิศาล แสงจันทร์ เล่าย้อนประสบการณ์ให้ฟังว่า การเรียนสมัยวัยเด็กไม่เคยมีวิชาใดเลยที่รู้สึกชื่นชอบ เมื่อเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัยจึงต้องพยายามค้นหาตัวเองเพื่อหนีจากสิ่งที่ไม่ชอบ โดยเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
ยอดบอกอีกว่า สถานการณ์โลกยุคปัจจุบันเปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก ผู้คนต่างพากันอพยพเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดและโตขึ้นมาพร้อมวัฒนธรรมแบบใหม่ ระเบียบโลกใหม่กำลังถูกเขียนขึ้นโดยคนยุคนี้ ซึ่งคนรุ่นก่อนยากที่จะเข้าใจได้หากไม่เปิดใจรับฟัง ฉะนั้นครูจะใช้วิธีการสอนแบบเดิมด้วยการยัดเยียดความคิดให้แก่เด็กไม่ได้อีกต่อไป
“ทุกวันนี้ความสามารถของครูถูกท้าทายมากขึ้น บางเรื่องเด็กไม่ได้อยากรู้ เพราะถูกบังคับ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เขาสนใจ เขาก็จะไปค้นคว้าหาข้อมูลเอง เปิดอินเทอร์เน็ต เปิดยูทูบ เสิร์ชกูเกิล บางเรื่องยังง่ายกว่าและเข้าใจมากกว่าที่ครูสอนเสียอีก”
เช่นเดียวกับ บอล-ทายาท เดชเสถียร ที่สะท้อนว่า ตัวเขาเองเป็นผลผลิตของวาทกรรมที่ปลูกฝังกันมาว่าต้องค้นหาตัวเองให้เจอ ซึ่งในมุมหนึ่งก็ทำให้เด็กเกิดความทุกข์ทรมานจากการค้นหาสิ่งที่ชอบและอาชีพที่ใช่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการค้นหาตัวเองอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป
“กรอบคิดเรื่องการค้นหาตัวเองมักมีปลายทางอยู่ว่า สิ่งที่เราชอบคืออาชีพอะไร แต่ตอนนี้กรอบของคำว่าอาชีพถูกทลายไปหมดแล้ว การค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น แต่ถ้าใครยังหาไม่เจอก็ไม่เป็นไร รอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม”
ทางด้านกรทอง กล่าวเสริมว่า การเรียนในห้องเรียนมักไม่ตอบโจทย์ที่ตรงกับความชอบของเด็ก บางครั้งยังอาจทำให้เด็กรู้สึกกลัววิชานั้นไปเลย ซึ่งวิธีการเรียนรู้สำหรับเขามองว่า ควรเริ่มจากความสงสัย การตั้งคำถาม และลงมือทำ สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่คำตอบบางอย่างก็เป็นได้
“ถามว่าจำเป็นไหมที่เด็กต้องค้นหาตัวเอง ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องบีบบังคับตัวเอง แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเร่งตัวเอง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ ถ้าเราสนุกกับมัน เต็มที่กับมัน เวลาจะเป็นคำตอบ”
กรทองให้มุมมองทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ในช่วงที่ต้องเก็บตัวจากสถานการณ์โควิดก็สามารถเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ได้ และมนุษย์จะหยุดการเรียนรู้ก็ต่อเมื่อถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต