ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ ‘learning loss’ เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างต้องเจอในวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาดังกล่าวจะยิ่งเป็นประเด็นมากขึ้นในช่วงที่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเลือกใช้มาตรการปิดโรงเรียนให้เด็กเรียนออนไลน์เป็นหลัก
หากสังเกตจากคำว่า learning loss จะเห็นว่ามีอย่างน้อย 2 อย่างที่เราควรให้ความสนใจ คือ ‘การเรียนรู้’ และ ‘การสูญเสีย/ถดถอย’ ว่าแต่การเรียนรู้ถดถอยหมายความว่าอะไร เป็นปัญหาอย่างไร มีความร้ายแรงในระดับไหน จะจัดการหรือหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้อย่างไร และความเหลื่อมล้ำสัมพันธ์กับความรุนแรงของปัญหาหรือไม่
เราเก็บคำถามเหล่านี้มาพูดคุยกับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมทั้งนำข้อค้นพบที่ค่อนข้างน่าประหลาดใจ จากงานวิจัยล่าสุดที่ชื่อ Learning Losses from School Closure Due to the COVID-19 Pandemic for Thai Kindergartners มาให้เขาขยายความ
แม้ปัญหา learning loss ดูจะเบาบางลงหลังจากโรงเรียนเริ่มกลับมาเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ก็น่าเป็นห่วงว่ามาตรการปิดโรงเรียนอาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่อีกรอบ
การปิดโรงเรียน คือสิ่งที่วีระชาติมองว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงระยะยาวต่อเด็กและสังคม เขาย้ำว่า ไม่ควรมีมาตรการปิดโรงเรียนอีกแล้ว เพราะนั่นเป็นความเสี่ยงที่จะผลิตกลุ่มคนที่วีระชาติเรียกว่าเป็น ‘lost generation’
อะไรคือ learning loss
ในฐานะนักวิชาการ คำว่า learning loss สำหรับผมไม่ได้หมายความว่าเด็กแย่ลง แต่เขากำลังเผชิญกับความสูญเสีย เทียบกับสิ่งที่เขาควรจะเป็นถ้าไม่มีการบิดเบือนจากโควิด ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่านี่คือคอนเซปต์ในเชิงทฤษฎีทางวิชาการ เราพยายามบอกว่า ถ้าไม่ปิดโรงเรียนเด็กจะมีศักยภาพเท่านี้ แต่พอปิดเรียนศักยภาพจึงลดลงเหลือแค่นี้ นี่คือภาวะ learning loss โดยเราใช้วิธีการทางเศรษฐศาสตร์เพื่อจะคำนวณตัวเลขนี้ออกมา นั่นคือคำว่า loss
ทีนี้เด็กจะ loss ในทักษะอะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีข้อมูลอะไร ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์ ภาษา หรือ working memory เราสามารถประเมินได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับว่ามีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
ในการประเมินความเสียหายจาก learning loss ต้องเทียบกับข้อมูลก่อนหน้านี้ด้วยใช่ไหม
ไม่เชิงว่าก่อน แต่หมายความว่าเราต้องมีข้อมูลมากพอที่จะบอกได้ สมมุติว่าเด็กคนหนึ่งไม่ได้ไปโรงเรียน เราก็ตั้งคำถามเปรียบเทียบว่าถ้าโรงเรียนไม่ปิดเขาควรจะไปอยู่ตรงไหน ณ เวลาเดียวกัน คือแน่นอนมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่เราอาศัยการมีข้อมูลเยอะๆ จากทั้งคนที่ได้ไปและไม่ได้ไปโรงเรียน แล้วสร้างข้อมูลชุดใหม่ขึ้นมา สร้าง benchmark (เกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ) ขึ้นมา เพื่อจะวิเคราะห์ว่า ถ้าโรงเรียนไม่ได้ปิด เด็กจะอยู่ตรงไหน แล้วถ้าโรงเรียนปิด เด็กจะไปอยู่ตรงไหน ช่องว่างตรงนี้เราเรียกว่า learning loss
แนวคิดนี้จะคล้ายๆ เปรียบเทียบก่อนและหลัง แต่ก็ไม่เชิงแบบนั้นเสียทีเดียว จริงๆ เด็กเก่งขึ้นทุกคนนะ แต่ในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาเด็กเก่งขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กแย่ลง แต่เด็กแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น อันนี้คือคอนเซปต์ของการวิจัย
ทำไมจึงมุ่งศึกษาผลกระทบในด้าน working memory กับคณิตศาสตร์เป็นหลัก
ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งสมมุติฐาน ที่จริงผลกระทบด้านภาษาก็ปรากฏให้เห็นบ้าง แต่ไม่ชัดมากนัก อาจเป็นเพราะภาษาไม่ใช่เรื่องยากมากสำหรับผู้ปกครอง ผู้ปกครองอาจไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้อะไรมาก ถ้าอ่านออกเขียนได้ก็พอที่จะสอน ก.ไก่ ข.ไข่ ได้ แบบทดสอบที่เราใช้ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน อาจจะเป็นการทดสอบว่าเด็กรู้จักตัวหนังสือไหม เด็กมีความสามารถเกี่ยวกับการใช้ภาษาแค่ไหน
สำหรับคณิตศาสตร์ จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องยากมาก แต่อาจเป็นเพราะผู้ปกครองมีวิธีสอนที่ยากกว่า ลองคิดดูนะครับ เราจะสอนให้เด็กเล็กเข้าใจตัวเลข หรือคิดเลขบวกเลข จะสอนอย่างไร ซึ่งก็คงยุ่งยากกว่าสอนภาษา
ส่วนเรื่อง working memory ยิ่งซับซ้อนเข้าไปใหญ่ เพราะไม่รู้จะสอนอย่างไร มันไม่มีหลักสูตรว่าจะสร้าง working memory ให้เด็กอย่างไร ไม่เหมือนการสอน ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่ง working memory เป็นการพัฒนาในระดับสมองว่าคุณจะมีความจำอย่างไร พอเก็บความจำนั้นไว้แล้วเวลาจะดึงออกมาใช้งาน คุณทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งลึกๆ เราเชื่อว่ามันต้องเกิดจากการทำกิจกรรม ต้องมีปฏิสัมพันธ์ ครูต้องกระตุ้นเด็ก เด็กต้องได้ทำกิจกรรม เด็กต้องเรียนรู้จากกิจกรรมที่หลากหลาย ถ้าเราเชื่อตรงนี้มันก็สมเหตุสมผลว่า ในช่วงโควิดพอปิดเรียนปุ๊บ ทุกอย่างมันก็ขาดหาย
ผู้ปกครองอาจจะสอนและมีความตั้งใจดี แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นทักษะเหล่านี้ได้ดีพอ เพราะการกระตุ้นทักษะเหล่านี้ต้องการกิจกรรมที่ทำโดยคนที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งก็หมายถึงครูปฐมวัย กิจกรรมที่ออกแบบมา ต่อให้ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้สนใจ working memory เลย แต่ก็เป็นกระบวนการที่พอเด็กทำแล้วสามารถสร้างทักษะนี้ขึ้นมาได้เอง เพราะเป็นทักษะที่ไม่สามารถสอนได้โดยตรง พูดง่ายๆ ผมว่านั่นคือปัญหาใหญ่ของการปิดโรงเรียน พอปิดโรงเรียน working memory ก็เลยหายไป เพราะเด็กไม่ได้ไปสัมผัสหรือไปรับกิจกรรมเหล่านี้ ต่างจากภาษาซึ่งอาจจะง่ายกว่า เป็นธรรมชาติมากกว่า นี่คือคำอธิบายเท่าที่เราพอนึกออกว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างไร
ในเด็กเล็กเราก็ยังไม่แน่ใจนะครับว่าทำไมการทำงานของสมองถึงเป็นอย่างนั้น แต่จากประสบการณ์ในงานวิจัยที่ผ่านมาจำนวนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกัน คือเด็กจำนวนมากเรียนรู้ผ่านการกระตุ้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘stimulation’ ซึ่งทักษะนี้จะเกิดผ่านการเรียนออนไลน์ยากมาก ยิ่งเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ผู้ปกครองอาจจะไม่มีเวลา ไม่มีประสบการณ์มากพอ หรือไม่ได้ถูกเทรนมาเพื่อทำกิจกรรมที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ให้เด็กได้
เรารู้ว่าเด็กเล็กต้องเรียนรู้จากคนสู่คน อาจจะไม่สำคัญว่าต้องมาจากครูหรือไม่ แต่ขอให้กิจกรรมมันดี นั่นคือประโยชน์ว่าทำไมการไปโรงเรียนถึงสำคัญกับเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต อันนี้ไม่ได้บอกว่าเด็กโตไม่ได้มี loss นะครับ อาจจะมี แต่เท่าที่เราคาดการณ์กันทั่วโลก และนำงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่มีในเวลานี้มาประกอบรวมกัน เราเชื่อว่าเด็กโตอาจจะ loss น้อยกว่าเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านคนมากกว่า
ธรรมชาติของเด็กเล็กจะเรียนรู้จากคนมากกว่า อาจเป็นเพราะเขาไม่สามารถจดจ่อกับการเรียนที่ไม่ใช่คนต่อหน้าได้ หรือแม้แต่มีคนต่อหน้าบางทีเขาก็ว่อกแว่กได้ง่าย เด็กจึงต้องการความช่วยเหลือและต้องการกิจกรรมที่ active มากกว่า ผมเชื่อว่าอันนี้คือสาเหตุว่าทำไม loss จึงเกิดขึ้นสูงกว่าในเด็กเล็ก
มีข้อสังเกตว่า เด็กโตที่กำลังเลื่อนระดับชั้นหรือเปลี่ยนสังกัดโรงเรียน เช่น จาก ม.3 ขึ้น ม.4 หรือจาก ม.6 ไปมหาวิทยาลัย แต่เมื่อต้องเจอการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ ทำให้ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับคนหรือสถานที่มากนัก เพราะแทบไม่มีการปฏิสัมพันธ์กับใครหรืออะไรเลย ตรงนี้สามารถเทียบกับเด็กเล็กได้ไหม
ประเด็นนี้ก็จะลึกซึ้งขึ้น หมายความว่าเขาไม่รู้สึกถึง atmosphere (บรรยากาศ) แต่ว่าเด็กเล็กอาจไม่ได้คิดไกลถึงขนาดนั้น เด็กเล็กจะเป็นอะไรที่ obvious (ชัดเจน) กว่านั้น
ง่ายๆ ผมกำลังจะบอกว่าเขาไม่มี sense of belonging คือไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ฉันก็แค่เรียนจากวิดีโอ ฉันไม่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น แต่ว่าตอนนี้เราอาจจะยังไม่เห็นเด็กเล็กไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะเด็กต้องใช้เวลาในการสร้าง sense of belonging คือเด็กเล็กเวลาไปเรียน เขาต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าที่เขาจะ fit in (เข้ากันได้) กับห้องเรียน แต่ว่าจะไม่แสดงออกเหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่แสดงออก
เช่นว่า กว่าเด็กจะหยุดร้องไห้เวลาไปโรงเรียนก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง?
ใช่ๆ นั่นเป็นเพราะเขาไม่รู้สึกเชื่อมั่น เขาไม่รู้สึกถึงความปลอดภัย เขาไม่รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ผ่านขั้นนี้ก่อน อันนี้คือเรื่องจริงเลย มีตำราหลายเล่ม หลายทฤษฎีที่ชี้ไปในทางเดียวกัน คือเด็กจะต้องมี sense of belonging ต่อโรงเรียน ทำไมโรงเรียนที่ดีกับโรงเรียนที่ไม่ดีจึงต่างกัน เพราะมันมีเป็นไปได้สูงที่เมื่ออยู่ในโรงเรียนที่ดี เด็กจะ fit in เร็วขึ้น เด็กจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน พอเขาเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน การเรียนรู้ก็เกิดได้ง่ายขึ้น
ถ้าเราสนใจเรื่องนี้ เราต้องไปดูเด็กที่ transition ข้ามระดับ ซึ่งเด็กที่น่าสนใจคือ เด็ก ป.1 กับ ม.4 เด็กกลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะ sense of belonging ยังไม่เกิด ไม่รู้ว่าตัวเองมีเพื่อนไหม พอเกิดความวุ่นวายใจก็กระทบกับการเรียนรู้ได้เหมือนกัน แต่ว่าเรายังไม่มีหลักฐานนะครับ ต้องย้ำว่าอันนี้เป็นแค่แนวคิด
ความเหลื่อมล้ำมีผลต่อการเกิด learning loss มากน้อยเพียงใด
อันนี้เราไม่ได้ศึกษาโดยตรง แต่สิ่งที่เราพบและน่าแปลกใจมากๆ คือ เด็กที่อยู่ในกลุ่มที่ได้เปรียบ เช่น เด็กที่มีฐานะดีกว่า เด็กที่เรียนพิเศษเยอะกว่า เด็กที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงกว่า ถ้าเปรียบเทียบในระดับของการ loss แล้ว กลับเป็นกลุ่มที่ loss เยอะกว่า
ถ้าดูคำอธิบายอาจจะไม่ได้น่าแปลกใจนัก เพราะอย่างที่บอกคือ เราเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาควรจะเป็น โดยปกติแล้วจะมีคอนเซปต์หนึ่งที่เขาเรียกว่า ‘Summer Slide’ คือเวลาเด็กปิดเทอมปุ๊บ ความรู้จะหดหาย เพราะเด็กจะไปวิ่งเล่น ไม่ได้เรียนหนังสือ โอเค ทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งเด็กที่มีฐานะดีกว่าจะสไลด์น้อยกว่า ส่วนเด็กที่ฐานะแย่กว่าจะสไลด์มากกว่า เพราะเด็กฐานะดีเขาสามารถไปซัมเมอร์แคมป์ได้ ถ้าเป็นบ้านเราคือไปเรียนพิเศษ แต่เด็กยากจนเรียนพิเศษไม่ได้ เพราะไม่มีตังค์เรียน แต่สถานการณ์โควิดมันพิเศษตรงที่ว่า มันไม่ใช่แค่การหยุดเรียน มันยังมีปัญหาอื่นที่คุณชดเชยไม่ได้ ต่อให้คุณมีตังค์คุณก็เรียนพิเศษไม่ได้ เพราะครูสอนไม่ได้ ถูกสั่งให้ปิด หรือแม้แต่คุณเองก็ไม่กล้าให้คนมาสอนที่บ้าน
ฉะนั้น ประตูจึงถูกปิดมากขึ้น ในอดีตคนที่มีสถานะได้เปรียบอาจสามารถชดเชยได้ดีกว่า แต่พอชดเชยไม่ได้ ส่วนที่ loss จึงเยอะกว่า แต่แน่นอน ถ้าเราคิดในมุมกลับ หลังจากทุกอย่างกลับมาเปิดเป็นปกติ คนที่ได้เปรียบกว่าย่อมกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าแน่นอน
ถามว่า learning loss ทำให้ปัญหาการศึกษาเพิ่มขึ้นไหม ผมไม่กล้าบอกว่าเพิ่มขึ้น มันอาจจะลดลงบ้างชั่วคราว แต่ในระยะยาวมันคงกลับมา มันไม่ได้ทำให้ปัญหาแย่ลง ปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เรากลับพบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากๆ คือคนที่มีฐานะดีกว่า
หมายความว่าเด็กที่มีฐานะดีมีอะไรให้เสียมากกว่าเด็กที่มีฐานะรองลงมา?
ถูกครับ เพราะเขามีสิ่งที่ต้องเสียมากกว่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่เขาควรจะได้ เพราะโควิดมันปิดทุกประตู เขาหาอะไรมาชดเชยไม่ได้เลย ทุกคนเจอเหมือนกันหมด ส่วนเด็กยากจนที่ปกติก็ไม่เคยเรียนพิเศษอยู่แล้วก็ไม่กระทบมากเท่าเด็กที่มีฐานะดี
ประเด็นหนึ่งในงานวิจัยพบว่า เด็กผู้หญิง loss มากกว่าเด็กผู้ชาย?
ทำนองเดียวกันเลยครับ ปกติเด็กผู้หญิงในวัยนี้จะเรียนรู้ได้เยอะกว่าวันต่อวันเลยครับ เหตุผลเดียวกันเลยคือ คนที่มีต้นทุนมากกว่าก็จะเสียเยอะกว่า คนที่เคยทำอะไรได้ดีกว่า แต่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำได้ มันก็เลย loss เยอะกว่า
อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ เด็กที่พ่อแม่ที่มีการศึกษาดีกว่า แต่ทำไมเกิด learning loss มากกว่า
ตอนแรกหลายคนอาจจะคิดตรงกันข้าม ว่าครอบครัวที่มีการศึกษาดีกว่า เด็กก็คงเสียหายน้อยกว่า แต่ข้อมูลที่เราพบกลับค่อนข้างน่าประหลาดใจ คำอธิบายของเราคือ คนที่จบปริญญาตรีก็คือคนที่อยู่ในวัยทำงาน สิ่งที่คนทำงานทุกคนขาดก็คือเวลา แต่ก่อนตอนที่ไม่มีโควิด คุณสามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยาก คุณส่งลูกไปโรงเรียนที่ดีสักหน่อย คุณมีตังค์ มีความรู้ คุณก็เลือกโรงเรียนที่ดีได้ คุณอาจจะใช้เวลาหลังเลิกเรียนคุยกับลูกได้ แต่พอเกิดโควิด คุณไม่สามารถแทนครูได้เต็มวัน เพราะว่าคุณต้องไปทำงาน ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะงานเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของทุกคน ถึงแม้ผู้ปกครองจะมีความรู้ แต่ไม่มีเวลาใช้ความรู้ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ถามว่าเราพิสูจน์ได้ไหม ก็ไม่ครับ เพราะเราไม่มีข้อมูลมากพอ แต่เราเชื่อว่าพอจะอธิบายไปในทิศทางเดียวกันได้ว่า ของที่เคยเป็น advantage (ข้อได้เปรียบ) ก็ถูกโควิดทำให้กลายเป็นการเสียเปรียบไปในตัวมันเอง เพราะมันจำกัดทุกอย่าง
เวลาดูมาตรการ relearning เรามักจะเห็นโรงเรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่หลุดจากระบบการศึกษา คำถามก็คือ เราจะช่วยเด็กพวกนี้ให้เกิด relearning ได้อย่างไร
ในกรณีเด็กเล็กผมคิดว่าเรื่อง relearning ยังทำได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าไม่ควรทำนะ เพียงแต่ต้องเข้าใจว่ามันทำได้เท่าที่พอจะได้นะครับ สิ่งที่ผมเชียร์เสมอและอยากเห็นเสมอก็คือ การส่งเสริมกิจกรรมให้เด็กในช่วงซัมเมอร์ อาจเป็นแคมป์กิจกรรมสอนเสริม หรือทำกิจกรรมที่คิดว่าเหมาะสมทั้งวิชาการและไม่วิชาการก็แล้วแต่ ผมว่าเด็กเขาต้องการ และผู้ปกครองก็ต้องการ ผมไม่คิดว่าผู้ปกครองจะมีปัญหา ผู้ปกครองทุกคนจะชอบมาก และรัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณ เตรียมโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุน คุยกับครูให้เข้าใจว่าทุกคนมีภาระที่ต้องทำ ช่วงเวลาปิดเทอมอาจจะปิดให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตุลาคมนี้ต้องเริ่มทำ พอถึงมีนาคม-เมษายน ปีหน้าก็ต้องเปิดสอน
ผมว่ามีทางเดียวที่จะช่วยให้เด็กรื้อฟื้นศักยภาพได้ ผมยังนึกทางอื่นไม่ออก แน่นอนบริบทของการยกระดับคุณภาพการศึกษา คำนี้ต่อให้ไม่มีโควิดก็ต้องทำอยู่แล้ว และเราก็ยังทำไม่สำเร็จ ในระยะสั้นเราอาจหวังได้อย่างเดียวคือเอาเวลากลับคืนมาให้เด็ก เพราะถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินคือ เวลาของเด็กหายไป ต้องเอาเวลามาคืน นโยบายผมกระชับมาก ไม่ต้องคิดอะไรมาก คือ ‘summer school’
อาจารย์เคยให้สัมภาษณ์กับ WAY magazine ว่า ประเทศไทยผูก function การเรียนการสอนไว้กับโรงเรียนมาเป็นระยะเวลานาน คำถามคือในประเทศที่เขาไม่ต้องพึ่งพาโรงเรียนมากเท่านี้ เด็กเขามีการเรียนรู้ยังไง
คือมันก็ไม่เชิง ทุกประเทศก็ต้องเรียนที่โรงเรียน อาจจะมีต่างกันบ้าง อย่างแรกครูบ้านเรามักจะถูกสอนกันมาให้มีความภูมิใจในหน้าที่หลักคือการสอนเด็ก ซึ่งก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามพูดตลอดในช่วงโควิดก็คือ ครูทุกคนต้องตระหนักว่า บทบาทหน้าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ไม่อย่างนั้นผู้ปกครองก็คงออกไปทำงานไม่ได้เลย เศรษฐกิจของประเทศก็จะหด ทรัพยากรของสังคมจึงต้องไปลงที่โรงเรียน เพื่อให้ครูมาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ไป เราต้องยอมรับว่าโรงเรียนมีบทบาทที่สำคัญในการแบ่งเบาภาระผู้ปกครองให้สามารถไปทำงานได้ พูดง่ายๆ คือให้ไปเพิ่ม labour supply (อุปทานแรงงาน) ในตลาด
ทีนี้มามองอีกฝั่งหนึ่ง ผู้ปกครองเองก็ยังขาดความพร้อม ถามว่าโควิดมันโชว์อะไร มันโชว์ว่าผู้ปกครองขาดความพร้อมในการที่จะดูแลเด็กในบางช่วงเวลาอย่างมาก เรายังไม่ได้ทำอะไรที่ช่วยผู้ปกครองในแง่นั้นมากนัก ภาษาวิชาการคือ เรายังไม่ได้พัฒนาทักษะในการเลี้ยงดูเด็กให้กับผู้ปกครองมากพอ มีกิจกรรมหนึ่งที่เขาทดลองทำกันมาพอสมควรและยังทำกันอยู่ คือเรื่อง ‘parenting’ หรือการสอนผู้ปกครองให้เลี้ยงดูเด็กอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างที่เราคุยกันตอนเริ่มต้นว่า ปัญหามันเกิดจากการที่ว่าผู้ปกครองไม่รู้จะกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กอย่างไร สิ่งเหล่านี้เราจะค่อยๆ สร้างได้อย่างไร ความยากคือของพวกนี้ไม่สามารถสร้างได้ข้ามคืน ครูต้องเรียน 4 ปีกว่าจะทำเป็น แต่ผู้ปกครองเราก็อาจจะหาทางสอนเขาได้ ข้อดีคือถ้าผู้ปกครองเขารู้ เขาจะมีแรงจูงใจที่จะทำ เพราะมันคือผลงานของเขา ผลลัพธ์ที่ออกมาเขาได้ทุกบาททุกสตางค์ คือลูกดีขึ้น เขาก็ดีขึ้น จุดสำคัญก็คือเราจะสอนเขาอย่างไร และจะพัฒนาเขาอย่างไร
ประเด็นนี้เรากำลังจะร่วมมือกับ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เพื่อจะพัฒนาความสามารถของผู้ปกครองในการเลี้ยงดูเด็ก โดยเฉพาะในชนบท เราจะไปพัฒนาสิ่งเรียกว่า parenting ให้กับผู้ปกครอง และจะร่วมมือกับทีมงานจากต่างประเทศที่เขามีประสบการณ์ในการทำงานเรื่องนี้มาก่อน
เรียกว่าเป็นการลงทุนกับผู้ปกครองได้ไหม
ได้ครับ เป็นการลงทุนกับครัวเรือน จริงๆ แล้วการพัฒนาคนมีองค์ประกอบหลายอย่างที่สำคัญ หนึ่งในนั้นคือครอบครัว ซึ่งสำคัญไม่น้อย แต่ก็ไม่ง่ายที่จะไปสอนเขา เพราะแต่ละครอบครัวก็ต่างกัน นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำในอนาคต
โรงเรียนก็สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำวิจัยคือ โรงเรียนมีส่วนสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก แต่เรายังไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น นอกจากโรงเรียนแล้วก็คือ ชุมชน สังคม
สถานการณ์โควิดพิสูจน์ให้เห็นว่า กลไกของโรงเรียนยังทำงานได้ไม่ดีพอ ซึ่งหลายประเทศก็เป็นกันหมด อันนี้ต้องเข้าใจ ไม่อย่างนั้นต่างประเทศคงไม่ดิ้นรนที่จะเปิดโรงเรียนให้ได้ พอเปิดแล้วก็พยายามที่จะไม่ปิดกันสุดๆ อย่างโรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่มีโควิดมา ปิดเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากนั้นรัฐบาลไม่เคยสั่งปิดโรงเรียนอีกเลย
ทุกวันนี้จำนวนผู้ป่วยโควิดรายวันยังค่อนข้างสูงมาก ถ้าในอนาคตจะต้องปิดโรงเรียนกันอีก อาจารย์คิดเห็นอย่างไร
ผมไม่ทราบครับ ถ้าถามผมนะ ผมไม่ใช่หมอ ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ และผมก็ค่อนข้างกังวลเรื่องนี้ ผมไม่อยากให้ปิดอีกแล้ว หมดเวลาปิดแล้ว เราคงต้อง adopt policy (ปรับใช้นโยบาย) ที่เรียกว่า ‘test to stay’ หมายความว่า ใครที่เทสต์แล้วไม่ติดก็มาโรงเรียนได้ แต่ทุกคนต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยง ทุกนโยบายที่ตัดสินใจแบบนี้ไม่มีคำว่า zero risk (ความเสี่ยงเป็นศูนย์) เพราะเราอยู่ในโลกที่ไม่มี zero risk ไม่มีอะไรที่ไม่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ดี ผมว่าคนไทยอยู่ในโลกอุดมคติที่แปลกประหลาดมาก ผมเข้าใจว่าเรายังอยู่ในคอนเซปต์ของปัจจัย 4 เราคิดว่าอะไรที่ไม่ใช่ปัจจัย 4 ยังไม่ต้องทำ แต่เรากลับลืมไปว่าพอเด็กไม่ถูกพัฒนา ก็จะเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของทุกคน รวมทั้งตัวเขาเองที่จะกลายเป็น lost generation
คำว่า lost generation สำหรับผมง่ายๆ คือ กลุ่มที่จะถูกแซนด์วิชโดยคนที่ไม่เคยเจอโควิดในช่วงวัยเรียนซึ่งจะมีทักษะที่สูงกว่า และคนที่มาทีหลังที่มีทักษะสูงกว่า คนรุ่น lost generation พอเขาโตไปก็จะไม่รู้ว่าควรจะอยู่อย่างไร อย่าลืมว่าในตลาดแรงงานเราไม่ได้แข่งขันกับคน generation เดียวกันเท่านั้นนะครับ มันไม่ได้เหมือนเรียนหนังสือที่เราแข่งกับเฉพาะรุ่นเดียวกัน
ปิดเทอมหรือไม่ปิดเทอม ranking (อันดับ) มันไม่ได้เปลี่ยนหรอกครับ ranking มันเหมือนเดิม ยิ่งมัธยมปลายยิ่งเปลี่ยนแทบไม่ได้ แต่มันเกิดความเสียหายกับทุกคนในรุ่นนี้เลย อย่างถ้าพูดถึงช่วงมหาวิทยาลัย เดี๋ยวเรามารอดูข้อมูล labour force survey (แบบสำรวจภาวะแรงงาน) ไปพร้อมๆ กันว่า คนในรุ่นโควิดที่เพิ่งจบ กับรุ่นที่จบก่อนหน้านั้น สุดท้ายในระยะยาวรายได้ต่างกันไหม ตลาดยอมรับต่างกันไหม เพราะตลาดเขาไม่ได้สนใจ และเขาไม่สงสารคุณ เพราะเขาก็ต้องการผลงาน ไม่อย่างนั้นเขาก็อยู่ไม่ได้
นั่นคือคำว่า lost generation ของผม คือเป็นกลุ่มคนที่ถูกแซนด์วิช วันข้างหน้าก็ไม่รู้ว่ากลุ่มนี้จะมีกี่ generation หรือกินเวลากี่ปี ซึ่งจะถูกแซนด์วิชโดยคนที่ไม่เคยเจอปัญหาโควิด กับกลุ่มคนรุ่นหลังที่เก่งกว่า ทำให้กลุ่ม lost generation ไม่สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้
ฟังดูแล้วน่ากลัวมาก?
ผมยังไม่มีบทพิสูจน์นะ แต่ผมคิดว่านั่นคือความน่าเป็นห่วง และผมก็กังวล ผมหวังว่ารัฐบาลจะกล้าหาญขึ้นที่จะเปิดเทอมพฤษภาคมนี้ ไม่ว่าจำนวนเคสจะเป็นเท่าไร ต้องไม่มีการปิดโรงเรียนอีกแล้ว ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลเปิดประเทศ เพราะถ้าเราไม่เปิดประเทศ เราจะลำบากมากและจะลุกไม่ขึ้นเลย เพราะหนี้สาธารณะเราจะมหาศาล ดังนั้นเราต้อง take ความเสี่ยง ฝั่งการแพทย์ก็ต้องหาช่วยกันทางออก ฝั่งรัฐบาลก็ต้อง evaluate risk (ประเมินความเสี่ยง)
สิ่งที่ผมเขียนในงานวิจัยส่วนหนึ่งก็คือ อยากให้คนตระหนักว่านโยบายที่ง่ายที่สุดก็คือ สั่งปิดทุกอย่าง ซึ่งมันง่ายมาก ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องเปลืองสมอง แต่การเปิดประเทศอย่างชาญฉลาดต่างหากที่เปลืองสมอง คุณต้องวางแผน คุณจะกล้ารับความเสี่ยงแค่ไหน เราเสียเวลามา 2 ปี และเราคงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้ แต่เรายังทนต่อได้จริงหรือ
เยาวชนกลุ่มนี้โตมาจะอยู่ในสังคมอย่างไร พอไม่มีทักษะทางสังคม สิ่งที่ตามมาในอนาคตคือ crime ไม่ว่าจะปัญหาคนติดยาเสพติดหรือก่ออาชญากรรม เพราะเขาไม่เห็นคุณค่าของการอยู่ในสังคม ซึ่งการเห็นคุณค่าในสังคมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณมี sense of belonging หรือความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ผมไม่เคยเชื่อในคำว่า disruption ที่ว่าทุกคนเรียนออนไลน์แล้วจะสามารถอยู่ในสังคมได้ มันอาจได้บางเรื่อง ได้เรื่องที่ผิวเผิน แต่ sense of belonging ความเป็นมนุษย์ ความคิดลึกซึ้ง ความคิดที่เป็นนามธรรม มันไม่ได้ มนุษย์ยังต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ยังต้องอยู่กับเพื่อน อยู่กับคนรอบข้าง ผมไม่คิดว่าเราจะฝืนมันได้
ผมอาจจะเป็นไดโนเสาร์นะ ผมคิดว่าอาจมีประโยชน์บ้างบางส่วน เราใช้มันเสริมสิ่งที่มีอยู่ได้ แต่จะขาดการมีปฏิสัมพันธ์เชิงมนุษย์และเชิงสังคมไม่ได้ นักศึกษาต้องมาเจอเพื่อน ต้องมาเจอรุ่นพี่ เจอกลุ่ม เจออาจารย์ ทำไมนักศึกษาปริญญาเอกถึงเรียนจากอาจารย์เยอะที่สุด เพราะเจอกันบ่อยที่สุด นักศึกษาปริญญาตรีทำไมถึงบ่นว่าเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่ค่อยจะเจออาจารย์ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์
การเรียนออนไลน์ไม่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้เลยหรือ
เพราะเราคือมนุษย์ ผมหวังว่าเราจะกล้าหาญได้แล้ว โรงเรียนต้องเปิดได้แล้ว เด็กสูญเสียโอกาสไปมากพอแล้ว เราต้องยอมรับความเสี่ยง ไม่ใช่เอา extreme case (กรณีการระบาดที่ร้ายแรงที่สุด) มาใช้ในการตัดสินใจ คือทุกครั้งที่ผมพูดว่าการติดเชื้อในเด็กนั้นเกิดน้อยมาก คนก็จะตอบว่า “มีเคสนี้นะ” ก็ต้องเอาเปอร์เซ็นต์มาดูกัน ทำตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำให้กลัวอย่างเดียว ดูสิว่ากี่เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้เราต้องใช้ข้อมูลมากขึ้น ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่ให้ปิดโรงเรียนเลย
ที่ผ่านมาแม้แต่จะปิดแค่ระดับชั้นเรียนก็ยังเห็นไม่ตรงกันอยู่ บางโรงเรียนพอมีเคสหนึ่งก็ต้องปิดทั้งโรงเรียน หรือปิดห้องเรียนเสร็จแล้วก็ยังปิดทั้งชั้นเรียน โอ้โห คือมันปั่นป่วนทั้งระบบ รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนเป้าหมายใหม่ว่าเราจะสร้างทุนมนุษย์ ไม่ใช่เพียงแค่ผ่านวิกฤตินี้ไปได้
ผมไม่อยากให้อาจารย์หรือครูในโรงเรียนคิดเพียงว่าตนเองมีหน้าที่แค่สอน โดยไม่สนใจเด็ก หรือให้เด็กนั่งเรียนเพียงเพื่อให้จบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าทุกคนสมรู้ร่วมคิดในระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้น ผู้นำต้องกล้าหาญ ผู้นำต้องทำความเข้าใจกับทุกคน และผู้นำต้องรับผิดรับชอบได้