ผู้เขียน: จินต์ภาณี สุขวัฒโน
นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
การสร้างนวัตกรรมและการประกอบธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในวิกฤตการการแพร่ระบาดของ Covid- 19 ธุรกิจน้อยใหญ่ต่างพากันปรับตัวจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และยากที่จะคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากนับไปถึงบริษัท องค์กรใหม่ๆต่างมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เพื่อความอยู่รอดในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน วงผลกระทบไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทางภาคเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่ยังลุกลามไปถึงภาคสังคม สาธารณะสุข และการศึกษา
ประเด็นหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากภาคเศรษฐกิจ คือ ภาคการศึกษา นักเรียนจำนวนกว่า 1. 57 พันล้านคน จาก 191 ประเทศ หรือคิดเป็น 91.3% ของผู้เรียนทั่วโลก[1] ต้องเดินออกจากห้องเรียนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนสู่รูปแบบอื่นๆ ซึ่งในประเทศไทยผลกระทบจากโรงเรียนปิด ส่งผลโดยตรงทางการศึกษาและพัฒนาการของนักเรียนกับนักเรียนไทยกว่า 13 ล้านคน ตั้งแต่ระดับประถมวัยถึงระดับอุดมศึกษา รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อครอบครัวนักเรียนในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าความท้าทายครั้งนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กทุกกลุ่ม แต่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษ คือเด็กนักเรียนจำนวน 2.4 ล้านคน จาก 13 ล้านคน ที่ตกอยู่ในสภาวะยากจนหลายมิติ[2] ได้แก่ กลุ่มเด็กยากจน ครอบครัวเปราะบาง มีปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด นักเรียนผู้พิการ เด็กที่ต้องพึ่งพาอาหารเช้าหรือกลางวันจากโรงเรียน[3]
จากความท้าทายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดเดา ในภาวะวิกฤตที่ไม่ปกติเช่นนี้ เมื่อถอดบทเรียนออกมาพบว่า สิ่งที่สำคัญในการผ่านพ้นวิกฤตนี้คือ การเรียนรู้ และการเข้าใจ เพื่อหาหนทางการแก้ปัญหา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลับมาฉุกคิดว่า แท้จริงแล้วเมื่อปัญหาเกิดขึ้นนอกกรอบความคิดที่คิดไว้ หน้าตาของกระบวนการแก้ปัญหาจึงมีความสำคัญที่ต้องสอดรับกับบริบท (Context) ที่เปลี่ยนแปลงไป กรอบการแก้ปัญหาแบบเดิมไม่อาจพึ่งพาได้ หากแต่กระบวนการที่ดำรงอยู่รอดจำเป็นต้องมีความรวดเร็ว กระชับ และมีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาเช่นนี้ได้ ความจริงที่เกิดขึ้นไม่อาจสร้างได้ด้วยการทำงานของคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดเพียงลำพัง หากแต่เกิดจากการร่วมมือกันของผู้คนจากหลายหลายความสามารถ ไม่ว่าคุณเป็น Start up ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน หรือภาครัฐ ที่มองเห็นความต้องการที่ยังไม่ถูกบรรลุ (Pain Point) จากปัญหาของลูกค้าหรือประเด็นทางสังคม เป็นผู้มีความรู้ (Knowledge) และ Know How แต่ยังหาทางออกไม่เจอ จากกรอบที่บดบังอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งในสภาวะเช่นนี้การแก้ปัญหาที่ยังมีช่องโหว่เพียงลำพัง อาจเป็นไปได้ยาก หากการผนึกกำลังกันปลดล๊อคความเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้จากผู้ที่มองเห็นโอกาสจากหลายภาคส่วน ถือว่านี่คือ โอกาสสำคัญของการสร้างนวัตกรรมเร่งด่วน ที่สร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคมทุกภาคส่วนให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน ความท้าทายนี้
เมื่อวิกฤต คือโอกาสในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
โอกาสจากวิกฤต ในการสร้างนวัตกรรมที่มา Disrupt จากการถูก Disrupt ของการแพร่ระบาด Covid-19
ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) ในสหรัฐอเมริกา ที่ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ระบบนิเวศน์ผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Ecosystem) โดยการรวบรวมความคิดริเริ่ม ไอเดีย งานวิจัย นวัตกรรมต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
ในช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่มหาวิทยาลัยปิดเทอม นักเรียน อาจารย์ และบุคคลากรมหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมกันทำ กิจกรรมสร้างสรรค์และการพัฒนา รูปแบบการเรียนการสอน หรือนวัตกรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ Covid- 19 การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโจทย์ที่คิดถึงผู้เรียนเป็นจุดศูนย์กลาง (Student Centered Approach) ของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าไม่แตกต่างจากวิถีการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ ที่คิดลูกค้าเป็นตัวตั้งในการออกแบบสินค้าและบริการ (Customer Centric Approach)
คิดว่าจะช่วยกันยังไงมากกว่าแข่งกันยังไงให้ดี
Covid-19 Rapid Innovation Dashboard: Hub of MIT’s Covid- 19 related activities [4] ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมกิจกรรม โครงการ งานวิจัย ข้อมูล นวัตกรรม ทั้งในรูปแบบโปรโมท และส่งเสริมโครงการน้อยใหญ่ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือลดการแพร่กระจายของเชื้อ Covid-19 กว่า 50 โครงการ ภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ในช่วงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ถึง ต้นเดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็นโครงการด้านการแพทย์ ด้านการพัฒนาข้อมูลติดตามการแพร่ระบาดของโลก รวมถึงด้านการศึกษา
ประโยชน์ที่เห็นชัดเจนจาก Dashboard นี้คือการแสดงให้เห็นว่าใครทำอะไร รวมทั้งผู้เข้าชมDashboardนี้สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง การแสดงให้เห็น(Visibility) ความโปร่งใส (Transparency) และตรวจสอบได้ (Accountability) ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและการต่อยอดไอเดีย ให้ได้รับการพัฒนาพร้อมทั้งได้รับการสนับสนุน สามารถเรียกได้ว่าหน้าที่ของ Dashboard นี้คล้ายกับการเป็น Match maker ระหว่าง ผู้ที่ดำเนินโครงการหรือผู้สร้างผลกระทบเชิงบวก (Impact Creator) ผู้ให้การสนับสนุน (Impact investor) เช่นนักลงทุน ผู้รู้ (Expert) และผู้ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ (End-user) ได้เจอกัน ซึ่งทำให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ดำเนินโครงการ กลุ่มเป้าหมาย และผู้ให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน
ตัวอย่างผลลัพธ์จาก Dashboard นี้ ในประเด็นด้านการศึกษามีชื่อว่า CovEd[5] โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมเด็กที่จบการศึกษาในระดับหลังมัธยมปลาย (Higher Education) เช่น นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้เรียนในโรงเรียนการฝึกวิชาชีพขั้นสูง กับ นักเรียน ประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 และ มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (K-12) ที่มีรายได้น้อยกให้ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนถูกปิด ทั้งในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ และแพตฟอร์ม สำหรับนักเรียนที่ห่างไกลที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต
ช่องว่างของประเทศไทยในการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมที่รอการเติมเต็ม
จากการศึกษาระบบนิเวศน์นวัตกรรมทางสังคมของไทย โดย ChangeFushion (2019) [6] พบว่า
4 ความท้าทายในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่ประเทศไทยยังรอการเติมเต็ม คือ การขาดตัวกลางความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีทรัพยากรและองค์กรดำเนินงานต่างๆ (Lack of intermediaries) ความไม่แน่นอนของรัฐบาล (Inconsistency within the government) การขาดความตระหนักรู้ของสังคม (Lack of awareness) และ ช่องว่างการลงทุนทางสังคมสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม (Social investment gap for social enterprises) ผลกระทบที่ตามมาจากประเด็นเหล่านี้ คือ การแก้ปัญหาที่ขาดความเป็นหนึ่งเกิดเดียว โจทย์และกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงานที่ทับซ้อน รวมถึงการขาดความเข้าใจประเด็นปัญหาอย่างลึกซึ้งในการออกแบบกระบวนการแก้ปัญหา
ทุกคนคือผู้เติมเต็มช่องโหว่ในการพัฒนานวัตกรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในการปิดช่องว่างของการพัฒนานวัตกรรมทางสังคมคือ การปรับเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรมทางสังคม (System-Changing Social Innovation) แต่เมื่อหันกลับมามองในระดับปัจเจกบุคคล หากคุณเป็นผู้ที่มีฝัน มองเห็นประเด็นทางสังคม โอกาสทางธุรกิจ กระทั่งเป็น ผู้รู้ ไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรภาครัฐหรือเอกชน
นี่คือโอกาสในการเติมเต็มช่วยกันกระตุกต่อมความคิด จากความเป็นไปไม่ได้ให้มันเป็นไปได้ ด้วยการเข้ามีมีส่วนร่วมตีโจทย์ความต้องการที่ยังไม่ถูกบรรลุ (Unmet need) แชร์ความรู้ และKnowhow เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเด็นความท้าทายในสังคม
ปัญหาและความท้าทายที่เกิดขึ้นไม่อาจแก้ได้ด้วยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือเพียงแค่กลุ่มบุคคล หากแต่ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสอดส่อง ตีโจทย์ ระบุประเด็นปัญหาทางสังคม (Social Issue) และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเชื่อมเครือข่ายระหว่าง ผู้มีส่วนได้เสีย(Stakeholder) ผู้สร้างผลกระทบ (Impact creator) และผู้สนับสนุน (Impact Investor) เพราะเราเชื่อว่าทุกคนคือส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศน์ทางนวัตกรรม
“ถึงเวลาแล้วที่คุณจะตัดสินใจว่าคุณอยากเป็น หรือเป็นใครใน Social Innovation Ecosystem นี้…”
[1] ข้อมูลจาก UNESCO (https://en.unesco.org/covid19/educationresponse) ณ วันที่ 20 เมษายน 2563
[2] รายงานความยากจนหลายมิติของเด็กในประเทศไทย โครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจนแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมกับ UNICEF และสภาพัฒน์ฯhttps://www.unicef.org/thailand/th/reports/
[3] ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค (2020). ผลกระทบของ Covid-19 ต่อระบบการศึกษาของโลกและประเทศไทยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์. ค้นหาเมื่อ 20 เมษายน 2020 จาก https://thaipublica.org/2020/04/19-economists-with-covid-19-15/
[4] เว็บไซต์รายละเอียดเพิ่มเติม: https://innovation.mit.edu/c19rapidinnodash_mitglobalprojects/
[5]เว็บไซต์รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/groups/493988507924808/
[6] Changefushion (2019). Social Innovation Eco-system Study (Thailand). ค้นหาเมื่อ 20 เมษายน 2020 จาก https://drive.google.com/file/d/ 1ooMnSx4XiLLiFIl3UqQTVSZ4OsDpmLel/view