สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ข้อมูลจากสถาบันสถิติแห่งองค์การยูเนสโก (UNESCO Institute for Statistics: UIS) ชี้ให้เห็นว่ายังมีเด็กและเยาวชนมากกว่า 263 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่ได้เข้าเรียนหรืออยู่นอกระบบการศึกษา ในจำนวนนี้เป็นเด็กระดับประถมศึกษาถึงกว่า 60 ล้านคน โดยเด็กผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะไม่ได้เข้าโรงเรียนมากกว่าเด็กผู้ชาย
ด้วยเหตุนี้หลายประเทศทั่วโลกจึงเห็นตรงกันว่า การศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม โดยมีองค์การยูเนสโกเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
การศึกษาที่เท่าเทียมและทั่วถึง (Quality Education) ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ 4 (SDGs4) ที่ประเทศสมาชิกจะต้องแก้ไขให้สำเร็จภายในปี 2030 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ เพื่อสร้างหลักประกันว่า เด็กทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียนจนถึงระดับมัธยมศึกษา รวมถึงการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกผู้คน ไม่ว่ายากดีมีจน และต้องไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
จากการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560 ได้ให้นิยามของคำว่า ‘เด็กในภาวะเปราะบาง’ หมายถึง เด็กที่เผชิญภาวะเปราะบางในช่วงขณะหนึ่งที่เข้าไม่ถึงสิทธิ โดยนโยบายภาครัฐหรือมาตรการในทางปฏิบัติเอื้อมไม่ถึง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิทธิพลเมือง การศึกษา สุขภาพ และการมีส่วนร่วม
ตัวเลขจากการสำรวจพบว่า มีเด็กที่ต้องเผชิญกับภาวะเปราะบางไม่ต่ำกว่า 3.17 ล้านคน อาทิ เด็กที่อยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา บางกลุ่มขาดสิทธิการรักษาพยาบาล เด็กไร้สัญชาติ ลูกแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิการเป็นพลเมือง เด็กเร่ร่อน เด็กยากจนพิเศษ ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดคุณภาพชีวิต เด็กๆ เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พวกเขาหลุดพ้นภาวะเปราะบาง
การช่วยเหลือดูแลเด็กด้อยโอกาส เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ คือหนึ่งในภารกิจของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน โดยมีข้อค้นพบว่าปัญหาความยากจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กกว่า 5 แสนคน ต้องหลุดออกนอกระบบ และเด็กในกลุ่มครอบครัวที่ยากจนและยากจนพิเศษอีกเกือบ 2 ล้านคน เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ ปี 2551-2559 ยังสะท้อนตรงกันว่า ในกลุ่มครอบครัวยากจน 20 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ จะมีเด็กเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากครอบครัวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา
จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มาจากสาเหตุอันซับซ้อน กสศ. เชื่อว่าการแก้ไขต้องเริ่มต้นที่ต้นทาง เริ่มจากการทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมกันนั้นยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่
หนึ่งในแนวทางการทำงานของ กสศ. คือ การร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในฐานะที่เป็นกลไกที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันพบว่า อปท. หลายแห่งทั่วประเทศมีความพยายามที่จะสำรวจ ติดตาม และเข้าถึงเด็กเปราะบางหรือเด็กที่ต้องออกจากระบบเนื่องจากฐานะทางครอบครัว พร้อมทั้งหาทางช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอีกครั้ง
ในแต่ละปีจะมีเด็กที่หายไปจากระบบการศึกษาจำนวนไม่น้อย เด็กกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มที่ภาครัฐยากจะเข้าถึง สาเหตุเนื่องจากความไม่ไว้ใจหรือหวาดกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กรณีเด็กที่เป็นบุตรหลานแรงงานข้ามชาติ หรือบางรายไม่สามารถติดตามตัวเด็กได้ เนื่องจากมีการโยกย้ายถิ่นฐานตามพ่อแม่
กรณีตัวอย่างของ อปท. ที่มีผลงานน่าสนใจในการติดตามช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบาง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งมีวิธีการเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ด้วยการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกถูกคุกคาม สอบถามความต้องการที่แท้จริงของเด็ก พร้อมทั้งจัดให้มีโครงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อช่วยให้เด็กนอกระบบสามารถฝึกฝนทักษะ จนสามารถหารายได้เลี้ยงตนเองและช่วยเหลือครอบครัวได้
ปัจจุบันเทศบาลนครขอนแก่นสามารถเข้าถึงเด็กนอกระบบได้มากขึ้น จาก 300 คน เพิ่มเป็น 1,300 คน ในจำนวนนี้มี 96 คน สามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
อีกตัวอย่าง เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ได้ริเริ่มโครงการ ‘การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ’ โดยมุ่งให้เด็กที่ออกจากการเรียนกลางคันได้มีโอกาสกลับเข้ามาศึกษาต่อ โดยมีการสอบถามความต้องการของเด็กว่าอยากเรียนต่อ กศน. หรือต้องการฝึกอาชีพ ซึ่งมีหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพ และมีการประสานงานกับภาคเอกชน หากเด็กต้องการทำงานในพื้นที่
ส่วนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีพบปัญหานักเรียนออกจากโรงเรียนกลางคัน โดยเฉพาะในครอบครัวเกษตรกร เมื่อประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ส่งผลให้เด็กนักเรียนต้องหลุดออกจากระบบไป ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนในระดับอาชีวศึกษาถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุนี้ อบจ.สุราษฎร์ธานี จึงจัดให้มีโครงการ ‘การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ’ และสอดแทรกการฝึกทักษะอาชีพเข้าไปในวิชาพื้นฐานสำหรับนักเรียนในสายสามัญอีกด้วย
เช่นเดียวกับ อบจ.ยะลา ได้มีการจัดทำฐานข้อมูล Social Map และฐานข้อมูล Health Medicine ทำให้พบว่ามีเด็กจำนวนมากประสบปัญหาหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน รอการเยียวยาแก้ไข
ปี 2562 อบจ.ยะลา จัดให้มีโครงการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษา กลุ่ม Never และ Drop out เริ่มจากการสำรวจและติดตามเด็ก เพื่อโน้มน้าวให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา กับอีกส่วนหนึ่งจะมีการพัฒนาอาชีพเพื่อให้เด็กมีงานทำ ส่วนกลุ่มเด็กยากไร้ได้มีการช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 2,386 คน
ตัวอย่างเล็กๆ เหล่านี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม สาเหตุของความเหลื่อมล้ำนั้น นอกจากปัญหาความยากจน ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมแล้ว ยังสืบเนื่องมาจากคุณภาพของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ตลอดจนคุณภาพหรือประสิทธิภาพของครูที่มีความแตกต่างกันอีกด้วย
สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ชวนให้คิดว่า หากมองเผินๆ อาจเข้าใจว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบจะได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่โดยข้อเท็จจริงถึงแม้ว่าจะสามารถดึงเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ เนื่องจากคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาของโรงเรียนที่ต่างกันระหว่างในเขตชนบทและเขตเมือง และความแตกต่างเช่นนี้จึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน
ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งกลุ่มเด็กที่อยู่ในระบบหรือหลุดออกจากระบบการศึกษา ควรจะได้รับการส่งเสริมให้มีทั้งทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และต้องให้การสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อขยายขีดความสามารถในการทำงานของตนเอง ยกระดับทักษะของตนเอง ที่สำคัญคือการหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กทุกคนด้วยความเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ