ในเวลานี้ประเทศต่างๆ กำลังดำเนินการตามแผนฉุกเฉินเพื่อชะลอและจำกัดการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์การปิดสถานศึกษาที่ยาวนานทั้งระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศได้มีโอกาสพัฒนาระบบทางการศึกษาทางเลือกที่หลากหลายขึ้น ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์นับเป็นทางเลือกหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในช่วงของวิกฤติการณ์ครั้งนี้ดังนี้
การใช้แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ในขณะที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยถูกปิด
ในกรณีที่มีการปิดสถานศึกษา การรวบรวมรูปแบบการศึกษาออนไลน์และทรัพยากรทางการศึกษาแบบต่างๆ นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถดำเนินการได้ดังนี้
- ใช้แพลตฟอร์มการเรียนทางไกลออนไลน์ที่มีอยู่แล้ว เช่น เนื้อหาบทเรียน วิดีโอการบรรยาย ฯลฯครูสามารถเลือกเนื้อหาการบรรยายและแบบฝึกหัดที่นักเรียนควรศึกษาและปฏิบัติผ่านห้องเรียนแบบเสมือนจริง ในกรณีที่ไม่มีแพลตฟอร์มแบบออนไลน์ ครูสามารถใช้แหล่งทรัพยากรทางการศึกษาจากแหล่งอื่นๆ ได้ในทำนองเดียวกัน
- พัฒนาแพลตฟอร์มการสอนออนไลน์ใหม่(ห้องเรียนเสมือนจริง) ครูสามารถสอนนักเรียนจากระยะไกลในขณะที่พวกเขาอยู่ที่บ้านโดยใช้แพลตฟอร์มต่างๆ
- สร้างพันธมิตรกับแพลตฟอร์มการศึกษาภาคเอกชน เพื่อขยายขีดความสามารถในการรับมือกับวิกฤตทางการศึกษาที่จะมีอีกยาวนาน
- ทำงานร่วมกันในระดับสากลเพื่อรวบรวมแหล่งข้อมูลการศึกษาออนไลน์ที่แต่ละประเทศมีถึงแม้ว่าสถานศึกษาในแต่ละประเทศจะมีหลักสูตรที่แตกต่างกัน แต่มักจะมีแนวโน้มที่จะสอนวิชาที่คล้ายคลึงกันและสามารถนำหลักสูตรนั้นๆมาทำการแปลและใช้ทรัพยากรในรูปแบบดิจิทัลของต่างประเทศที่สอดคล้องกับหลักสูตรของพวกเขาได้
- ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดตามความเหมาะสม เช่นบทเรียนผ่านโทรทัศน์ดูจะมีความเหมาะสมสำหรับนักเรียนที่อายุน้อยหรือในพื้นที่ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาไม่ทันสมัยมากนัก
- ให้โอกาสครูในการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล จัดหาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ต่างๆที่ให้ความรู้ด้านการสอนออนไลน์ให้กับครู หรือมีพื้นที่ระบบออนไลน์ที่ให้ครูได้แบ่งปันทรัพยากรและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
ความท้าทายของการนำไปใช้
การเรียนรู้และทำงานร่วมกันในสภาพแวดล้อมแบบออนไลน์ระหว่างครูและนักเรียนอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ดังนั้นในการพิจารณากำหนดนโยบายเพื่อรับมือกับการจัดการศึกษาในขณะที่โรงเรียนยังปิด ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาแนวทางในการดำเนินการดังต่อไปนี้:
- ปรับสมดุลการเรียนการสอนแบบดิจิทัลด้วยกิจกรรมที่ไม่ทำให้นักเรียนต้องใช้เวลาหน้าจอมากเกินไปทั้งนี้เพื่อสุขภาพของนักเรียน ควรใช้วิธีลดการบรรยายทางออนไลน์ให้สั้นลง และเสริมด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่ใช่ดิจิทัลให้มากขึ้น
- หมั่นดูแลสุขภาพทางด้านอารมณ์ของนักเรียน การจมอยู่กับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆเกี่ยวกับเชื้อไวรัสและการต้องปิดโรงเรียนอาจมีผลให้นักเรียนเกิดความไม่มั่นคงและสับสนทางจิตใจจึงจำเป็นต้องหาวิธีในการสนับสนุนนักเรียนผ่านการสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันระหว่างครูกับนักเรียน การมีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการเรียนการสอน
- เข้าถึงอุปกรณ์ นักเรียนมีแนวโน้มที่จะมีอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากกว่าการมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านหากต้องการให้นักเรียนได้เข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รัฐบาลอาจแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์โดยการให้นักเรียนสามารถยืมเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาได้หรือโดยการจัดสรรอุปกรณ์ให้โดยวิธีการอื่น ๆ
- จัดการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การให้นักเรียนทุกคนต้องเชื่อมต่อเข้าในระบบออนไลน์ในเวลาพร้อม ๆ กันอาจทำให้เกิดปัญหาการเชื่อมต่อสัญญาณในบางสถานที่ ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบการระบบการเข้าถึงในช่วงเวลาที่ต้องใช้สัญญาณหนาแน่นเพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลในเวลาเดียวกันได้โดยสะดวก
ที่มา: https://oecd.dam-broadcast.com/pm_7379_120_120544-8ksud7oaj2.pdf