ลูกจ๋า….เราจะผ่านทุกอย่างไปด้วยกัน
ความผันแปรที่เกิดขึ้นจาก COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างรวดเร็วโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ต่างต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ใครที่มีทุนสำรองอาจพอประคับประคองตนเองและครอบครัวให้ผ่านพ้นสภาวะนี้ไปได้อย่างไม่บอบช้ำมากนัก หากแต่บางครอบครัวเหตุการณ์ครั้งนี้เปรียบเสมือนวิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ และไม่รู้ว่าจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างไร ในวันที่ลูกน้อยต้องหยุดเรียนและไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่มีความยากลำบากในการประกอบอาชีพเช่นนี้
ความกังวลใจแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องปากท้อง ข้าวปลาอาหารและของใช้จำเป็นกลายเป็นสิ่งหายากและมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ลูกน้อยจะกินจะอยู่อย่างไร คุณพ่อคุณแม่อาจต้องลดมาตรฐานลง หยิบฉวยของใกล้ตัวมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารอย่างง่าย ๆ ราคาไม่แพง ได้พึ่งพาผู้ใจบุญที่เอื้อเฟื้อนำอาหารและของใช้จำเป็นมาแจกจ่าย หรือพึ่งพาการช่วยเหลือของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เห็นถึงน้ำใจของคนไทยในยามยาก
นอกจากเรื่องปากท้องในแต่ละวันที่พอจะมีทางออกให้กับปัญหานี้แล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญควบคู่กันคือ การดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการแนะแนวทางการใช้ชีวิตของลูก ๆ “การดูแลสุขภาพกาย” คือการสอนให้ลูกรู้วิธีป้องกันตนเองและช่วยสังคมไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่ม นั่นก็คือ กินร้อน ช้อนกลาง (ของตนเอง) ล้างมือ รักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากเมื่อต้องพบปะผู้คน “การดูแลสุขภาพใจ” คือ การรู้ถึงหัวใจของลูกที่อาจจะเผชิญกับความทุกข์และความกดดันไม่ต่างจากเรา การที่คุณพ่อคุณแม่หาโอกาสนั่งคุยเป็นเพื่อนลูก เปิดใจรับฟังมุมมองความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของลูก และแสดงออกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้กับลูก พร้อมที่จะช่วยเหลือลูกนะ เช่น “แม่เข้าใจ ลูกเบื่อการอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนหรือเที่ยวเล่น แม่เองก็รู้สึกเช่นเดียวกัน งั้นเราหาอะไรทำกันดีในช่วงเวลานี้ แล้วพอเราออกไปข้างนอกได้เมื่อไหร่ แม่จะพาลูกไปทำกิจกรรมที่ลูกชอบ” นั่นคือคุณพ่อคุณแม่กำลังใช้หลักของ “การรู้ซึ้งถึงอารมณ์ของบุคคลอื่น (empathy)” ซึ่งจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเข้าไปนั่งกลางใจลูก เข้าใจมุมมองความคิดและอารมณ์ความรู้สึกของลูกที่มีต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และสามารถแนะแนวทางการใช้ชีวิตให้แก่ลูกได้
“การแนะแนวทางการใช้ชีวิต” เริ่มต้นตั้งแต่ “การรู้จักเสพข่าวแต่พอดี” จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หากรู้สึกเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ลูก ๆ ลองเปลี่ยนอิริยาบถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง “ทำหน้าที่ที่ควรต้องทำอย่าให้ขาด” เช่น แม้จะไม่สามารถไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ลูกก็สามารถหาความรู้ด้วยตนเองได้จากการอ่านหนังสือ หรือศึกษาจากบทเรียนออนไลน์ที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต ช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือหางานพิเศษทำเพื่อเพิ่มรายได้ “การช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังและโอกาส” เริ่มจากการช่วยแบ่งเบาภาระของคนในครอบครัว ช่วยทำงานบ้าน ดูแลน้อง เย็บหน้ากากผ้าไว้ใช้เองหรือแบ่งปันให้ผู้อื่น ฯลฯ ทั้งนี้ การได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่นบ้างจะทำให้ลูก ๆ มีความสุขมากขึ้น เป็นที่รักของคนอื่น และไม่จมอยู่กับปัญหาของตนเอง “ชวนมองสถานการณ์จากมุมที่สร้างสรรค์” การชวนให้ลูกน้อยมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแง่บวก เป็นการส่งเสริมทักษะการมองโลกในแง่บวก (positive thinking) ซึ่งเป็นวิธีการมองสถานการณ์ต่าง ๆ ในด้านดีบนพื้นฐานของความเป็นจริง และทำให้สามารถรับมือ รวมทั้งมีกำลังใจต่อการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่ย่อท้อ (Ventrella, 2001) เช่น “มี COVID-19 ก็ทำเราพ่อ แม่ ลูก ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น” “ถึงแม้จะไม่ได้ไปโรงเรียน แต่ลูกก็ได้มีเวลาอยู่กับงานศิลปะที่ลูกชอบ”
เมื่อลูก ๆ มีการรับรู้และอารมณ์ต่อสถานการณ์ในด้านบวกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใช้โอกาสนี้ถ่ายทอดสถานการณ์ของคุณพ่อคุณแม่เองที่กำลังเผชิญอยู่ให้ลูกรับรู้ด้วย เพื่อสร้าง “ความเข้าใจและการมีส่วนร่วม” ในการแก้ไขปัญหาของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่อาจมอบหมายความรับผิดชอบ และการตัดสินใจบางอย่างให้แก่ลูก เช่น “ตอนนี้แม่ไม่ได้ทำงานที่เดิมแล้ว ตั้งใจว่าอยากหาอะไรใหม่ ๆ ทำ ลูกคิดว่า เราทำอะไรกันดี” “พ่ออยากให้ลูกช่วยดูแลทำงานนี้ให้พ่อ พ่อมั่นใจว่าลูกของพ่อจะทำได้เป็นอย่างดี ลูกมีความเห็นว่าอย่างไร” การกระทำเช่นนอกจากลูก ๆ จะมีอะไรทำในช่วงที่ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมทักษะการดำรงชีวิต เพิ่มประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติทั้งทางความคิดและการกระทำ อันเป็นการเพิ่มวุฒิภาวะทางอารมณ์และสังคม (social-emotional maturity) รวมทั้งการเห็นคุณค่าในตนเอง (self-esteem) และช่วยให้ลูก ๆ เกิดการรับรู้ความสามารถของตนเอง (self-efficacy) ได้อีกด้วย
ทุกวิกฤตมี “โอกาส” เสมอ ขอแค่เพียงการมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความเป็นจริง ยอมรับสิ่งที่เกินความสามารถในการควบคุมอย่างมีสติ และหันมาจัดการกับสิ่งที่ทำได้บนข้อจำกัดที่มี ใช้เวลาช่วงนี้ย้อนมาสำรวจความคิด ความรู้สึกและจิตใจของตนเองและลูกน้อย ย้ำเตือนกับตนเองว่า อะไรที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ มองด้านดีงามของสิ่งที่มีแล้วจะพบว่า เราสามารถก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกันได้ และทุกก้าวย่างของคุณพ่อคุณแม่จะทิ้งรอยเท้าให้ลูกก้าวเดินตาม…. ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมีสุขภาพที่ดี มีพลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นหลักให้กับลูก ๆ ของเรากันนะคะ
ผศ.ดร.ชุติมา สุรเศรษฐ
ดร.ชนัญชิดา ทุมมานนท์
ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย