ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จุดร่วมของปัญหาที่นักเรียนไทยทุกยุคต้องเผชิญนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือการไม่สามารถตั้งคำถามและค้นหาความต้องการที่แท้จริงได้ว่า เรียนจบออกไปแล้วอยากจะทำอะไร เมื่อปัญหาเหล่านี้ยังสั่งสมก็ส่งผลกระทบไปยังการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาในการเลือกเส้นทางการศึกษาต่อหรือการเลือกอาชีพที่ไม่อาจตอบได้ว่า นั่นใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการหรือไม่
ปัญหาข้างต้น นำไปสู่การผลิตบุคลากรหรือการเพิ่มจำนวนของเด็กจบใหม่ที่พบว่าตนเองยังไม่มีความพร้อมในการทำงาน และขาดทักษะในหลายๆ ด้านไป ซึ่งจะเห็นได้จากส่วนหนึ่งของของงานวิจัย ‘โครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน’ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีจุดประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนไทยในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution) ที่ระบุไว้ว่า แรงงานในประเทศไทยขาดทักษะพื้นฐานและขาดอุปนิสัยที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ส่งผลให้มีคุณสมบัติที่ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
“ผมเริ่มต้นทำงานครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยการเป็นพนักงานพาร์ตไทม์แมคโดนัลด์ ซึ่งเป็นงานที่ทำนานถึง 7 ปี หลังจากนั้นก็ออกไปเป็นพนักงานเคเอฟซี ส่งพิซซ่า เด็กปั๊ม เปิดร้านเกม เป็นบาริสต้า ขายหูฟัง ขายสเต็กที่เชียงใหม่ จากนั้นมีโอกาสทำงานกับนิตยสาร GM ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ต่อมาจึงได้โอกาสไปทำงานในตำแหน่ง Digital PR Agency ที่ Moonshot ประมาณ 2 ปี และได้เปลี่ยนไปทำตำแหน่ง Digital Marketing Manager ที่ SF Cinema จากนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นครีเอทีฟที่เอเจนซีกตัญญู (KATANYU) จากนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็น Director of Communication ที่ GQ จนปัจจุบันทำงานในตำแหน่ง Creative Brand Manager ที่สตาร์ทอัพอย่าง Fastwork”
ข้อความข้างต้นคือการบอกเล่าประสบการณ์การทำงานเกือบครึ่งชีวิตของ นิก-อชิร รวีวงศ์
Equity lab ได้ชวน นิก-อชิร มาร่วมสนทนาในฐานะหนึ่งในอดีตเด็กนักเรียนที่เลือกเดินออกจากระบบการศึกษา และมุ่งหน้าเข้าสู่ชีวิตการทำงานสารพัดอาชีพตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดเริ่มต้นจากการค้นพบว่า การเรียนในโรงเรียน ณ ขณะนั้น ไม่มีอะไรที่จะช่วยส่งเสริมทักษะและความต้องการในชีวิตของเขาได้ พร้อมชวนพูดคุยถึงสาเหตุว่า ทำไมปลายทางของการศึกษาไทยจึงยังไม่สามารถสร้างทักษะ เตรียมความพร้อม และผลักดันให้ผู้เรียนค้นหาความต้องการหรืออาชีพที่ตนเองอยากจะทำได้
ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ทำไมจึงตัดสินใจกระโจนเข้าสู่ชีวิตการทำงานในขณะที่เด็กวัยเดียวกันกำลังเรียนอยู่
เพราะ ‘จน’ ครับ คือตอนแรกครอบครัวก็ไม่ได้ลำบาก จนกระทั่ง ป.4 ช่วงใกล้ๆ เหตุการณ์ต้มยำกุ้ง พอที่บ้านล้มละลาย ชีวิตก็เปลี่ยน ปกติก็ได้เรียนโรงเรียนเอกชน แต่หลังจากนั้นก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนหลังตลาด ประตูโรงเรียนก็ไม่มี และรู้สึกว่าในช่วง ป.5-6 ไม่ได้รับอะไรจากตรงนั้นเลย
ช่วงที่ลำบากจริงๆ คือต้องย้ายไปอยู่โคราช เพราะโดนยึดทุกอย่าง ไม่มีอะไรเหลือเลย โทรทัศน์ก็ไม่มีให้ดู ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่เด็กทุกคนต้องดูโทรทัศน์ เพื่อที่จะเอาเรื่องในโทรทัศน์มาคุยกับเพื่อน แต่เรากลับไม่มีอะไรไปคุยกับเขาเลย แล้วเราก็ฝังใจว่าทำไมชีวิตมันลำบากขนาดนี้ ตอนนั้นแม่ขายข้าวแกงอยู่ที่เดอะมอลล์ โคราช แล้วเราก็เห็นป้ายติดไว้ที่แมคโดนัลด์ว่ารับสมัครพนักงานพาร์ตไทม์ อายุ 15 ปีขึ้นไป คือป้ายนั้นเปลี่ยนชีวิตเลย ตอนนั้นผมอายุ 13 ปี อยู่ ม.2 เลยคิดว่าอายุ 15 ปี มีบัตรประชาชนเมื่อไหร่ จะมาสมัครแน่นอน จะไม่ทนแล้ว จะทำงานแล้ว
หลังจากนั้นก็ได้ไปเรียนการศึกษานอกระบบ (กศน.) เพื่อที่จะตามเด็กคนอื่นให้ทัน ม.4 ซึ่งจังหวะที่จะต้องเข้า ม.4 คือกำลังจะกลับไปจับฉลากโรงเรียนเดิมที่เคยเรียนเมื่อตอนอยู่กรุงเทพฯ จนกระทั่งได้คุยกับป้าแม่บ้านที่คอนโดที่เคยอยู่ ทำให้รู้ว่าลูกของป้าแม่บ้านเขาเรียนที่พาณิชย์ และ ‘เลิกเรียนเร็วมาก’ คำนั้นคำเดียวเลย จากที่กำลังจะนั่งรถเมล์กับแม่เพื่อไปจับฉลาก ก็นึกถึงป้ายโฆษณาแมคโดนัลด์ที่เขาบอกไว้ว่ารับสมัครงาน ซึ่งตอนนั้นเหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะได้ทำบัตรประชาชนแล้ว เลยบอกแม่ไปว่าจะไม่เรียนที่เดิมแล้วเลือกจะไปเรียนพาณิชย์เพราะเลิกเร็วแล้วจะได้ไปทำงานต่อ
วันแรกหลังเลิกเรียน เราก็เดินไปสมัครงานที่แมคโดนัลด์ สาขาเซ็นเตอร์วัน เตรียมบัตรประชาชนไว้เรียบร้อย แล้วเดินเข้าไปหาพี่คนหนึ่งที่ดูทรงแล้วว่าน่าจะต้องเป็นผู้จัดการแน่ๆ บอกเขาไปว่า “ขอสมัครงานครับ” แล้วก็ทดลองงานวันนั้นเลย คือยืนทอดไก่ 4 ชั่วโมง แล้วเขาก็ประเมินให้ผ่านและรับเข้าทำงาน นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำงาน
ตอนนั้นรู้สึกว่าถ้ารอเรียนจบมันไม่ทัน ต้องนับไปอีกกี่ปีถึงจะหาเงินได้ ตอนนั้นคิดว่าไม่ไหวแล้ว ต้องหาเงินมาเลี้ยงตัวเอง
การที่เด็กคนหนึ่งเดินเข้าสู่สายอาชีพ จะช่วยถมช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร
จริงๆ ความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเลือกเรียนสายสามัญหรือสายอาชีพ แต่มันเป็นโครงสร้างใหญ่ของการศึกษาต่างหาก และที่ใหญ่กว่าการศึกษาคือระบบการทำงาน เมื่อจบออกมาแล้วก็ยังต้องถูกแบ่ง อย่างเรียนพาณิชย์ เรียนอาชีวะ จบไปต้องเป็นช่าง ถ้าเรียนสายสามัญก็ถูกแบ่งเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ถ้าเรียนสายศิลป์ก็ดูจะทำอะไรไม่ได้มาก พอถึงระดับมหาวิทยาลัยก็สำคัญขึ้นอีก เรื่องเหล่านี้มันถูกปลูกฝังตั้งแต่เรายังเด็ก ทุกคนจะคอยบอกว่า นี่คือทางเดินที่ดี การศึกษาที่ดีต้องเป็นแบบนี้ แต่ไม่มีใครตั้งคำถาม
ถ้าคำถามคือ การเลือกเรียนสายอาชีพช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ไหม ผมคิดว่าประเด็นคงไม่ได้อยู่ตรงนั้น
ทำไมปลายทางของการศึกษาไทยจึงไม่สามารถช่วยให้ผู้เรียนค้นหาตัวตนได้ว่า ชอบอะไรหรือต้องการจะทำอาชีพอะไรต่อไป
เพราะมันไม่มีการตั้งคำถามถึงระบบ ทั้งด้วยตัวอาจารย์และตัวเด็กเอง สังคมไทยไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น ผมยกตัวอย่างแบบนี้ดีกว่า เนื่องจากผมก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการศึกษา ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง รู รัง เรือน (เขียนโดย ยรรยง บุญ-หลง) และเจอประเด็นหนึ่ง เรื่อง ‘ซิลิคอนวัลเลย์’ (Silicon Valley) (พื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมบริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วโลกหลายร้อยบริษัท เช่น Adobe Systems, Apple, Facebook, Google, Intel, Yahoo เป็นต้น) เขายกตัวอย่างว่าความแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นที่นี่ มีพื้นฐานมาจากโรงเรียนเทศบาล เขาเปรียบเทียบว่า หากเอาคะแนนของโรงเรียนเทศบาลในสหรัฐอเมริกามาเทียบกับไทย คะแนนของสหรัฐอเมริกามากกว่าไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ต้องไปเทียบแบบห่างชั้นอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่นเลยนะ แต่สังคมการเรียนของสหรัฐอเมริกานั้นให้ความสำคัญกับ ‘การตั้งคำถาม’ โดยในโรงเรียนจะมีโปสเตอร์อันหนึ่งเป็นรูปหน้าไอน์สไตน์ และมีคำพูดที่เขียนไว้ว่า “ขนาดไอน์สไตน์ยังถามเลย” และในหนังสือได้กล่าวว่า โรงเรียนเทศบาลถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กที่ไม่เก่งได้ฝึกตั้งคำถาม ซึ่งเราไม่เคยเห็นสิ่งนี้กับโรงเรียนในไทย ไม่ว่าจะโรงเรียนเทศบาล เอกชน หรืออะไรก็ตาม
สิ่งที่เราเห็นและอ่าน ทำให้รู้สึกว่า การตั้งคำถามมันสำคัญมากๆ กับระบบการศึกษา นอกจากนี้ โรงเรียนเทศบาลของซิลิคอนวัลเลย์ไม่มีแบ่งสายวิทย์-สายศิลป์ เด็กอยากเรียนอะไรก็เลือกได้ ให้ไปทดลองได้ คะแนนจึงไม่ได้โดดเด่นเหมือนสิงคโปร์หรือที่อื่น โดยเขาเปรียบเทียบประเทศทั้งหมดที่มี Smart City หรืออื่นๆ ก็ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถสร้างนวัตกรรมได้เท่ากับเด็กที่เติบโตจากซิลิคอนวัลเลย์ จะสังเกตได้ว่าคนที่เป็นเจ้าของ Yahoo, Google หรืออะไรทำนองนี้ จริงๆ ไม่ใช่คนที่อยู่สหรัฐอเมริกา อย่าง สตีฟ จ็อบส์ เองก็ไม่ใช่คนสหรัฐอเมริกาแท้ๆ แต่เป็นคนที่อพยพมา โดยมีจุดเริ่มต้นจากตรงนี้
คำถามที่ว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่” ที่เกิดขึ้นระหว่างเรียนนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร
คิดว่าเกิดจากการทำงาน พอทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ทุกขณะที่เราเรียนอยู่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์กับการทำงานเลย จริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นคนแหกกฎอะไร เราก็เซฟตัวเองด้วย คือเรียนสักหน่อย พูดง่ายๆ คือเรียนพาณิชย์เพื่อให้จบง่ายๆ อย่างน้อย ณ ตอนนั้น ถ้าเราอยากจะทำงานที่ดีขึ้นมันก็ต้องมีวุฒิปริญญาตรี แต่ก็จะมีคำถามตลอดเวลากับสิ่งที่เรียนอยู่ สุดท้ายก็หนีออกจากระบบไม่ได้ เพราะต้องทนกับกรอบที่ว่าต้องมีวุฒิการศึกษา
การไม่มี ‘วุฒิการศึกษา’ มีอิทธิพลหรือส่งผลกระทบต่อคนคนหนึ่งได้มากขนาดไหน อย่างไรบ้าง
มีผลมากนะครับ ยกตัวอย่างจากกรณีผมที่เรียนไม่จบ เนื่องจากจังหวะเปลี่ยนผ่านที่ผมเรียน ปวส. และจะต้องต่ออีก 2 ปี เพื่อให้จบปริญญาตรี แต่มันมีงานที่ผมได้โอกาส ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ปกติจบปริญญาตรีแล้วเท่านั้นถึงจะได้ทำ ผมบอกคนสัมภาษณ์ไปว่า “ถ้าพี่รับผม ผมเลิกเรียนเลย” แล้วเขาก็รับ ผมก็เลยไม่เรียนต่อปริญญาตรี
พอทำไปได้สักพัก ผมกลับอยากทำอะไรที่มันสนุกขึ้นนอกเหนือไปจากงานบริการ เลยเปลี่ยนไปขายหูฟัง ร้านมั่นคง (Munkonggadget) อีกทั้งตอนนั้นโลกออนไลน์มันกำลังมาใหม่ๆ เราชอบอ่านหนังสือ เลยอยากจะเขียนอะไรสักอย่าง แต่เราคงเป็นนักเขียนไม่ได้หรอก ตอนนั้นเราขายหูฟัง เราก็เลยเขียนรีวิวไป และคนก็ชอบอ่าน แต่สักพักก็เบื่อ เลยเปลี่ยนไปขายสเต็กอยู่เชียงใหม่ แต่เจ๊ง เลยกลับมา
ตอนที่ผมกลับมาที่ร้านมั่นคงอีกครั้ง อายุประมาณ 25 ปี เรารู้สึกว่าไม่ได้ต้องการเพียงความสนุกอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องการเงินให้มากขึ้นด้วย เลยคิดว่าคงต้องกลับไปทำอะไรที่ถนัดเพื่อแลกกับเงินที่มากขึ้น นั่นคืองานบริการ และเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มต้นสมัครงานอย่างจริงจัง ผมยื่นไปหลายที่มาก ผมใส่ประสบการณ์ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่กลับไม่มีใครเรียกผมเลย เพราะไม่มีวุฒิ โดยตำแหน่งที่ผมต้องการคือระดับผู้จัดการ จนมีร้านหนึ่ง เป็นร้านขนมหวาน ผมก็โทรไปหา เขาก็บอกว่าเห็นแล้วว่ามีประสบการณ์เยอะ แต่ตำแหน่งนี้ต้องใช้วุฒิขั้นต่ำสุดคือปริญญาตรี ฉะนั้นมันจึงมีอิทธิพลกับมนุษย์คนหนึ่งขนาดนี้ ประสบการณ์ไม่ได้ช่วยอะไรเลยถ้าคุณไม่มีวุฒิ
สุดท้ายจึงกลับไปถามหัวหน้าเก่าๆ เขาก็ฝากงานให้ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ก็รู้สึกว่านั่นไม่ใช่ตัวเอง มันเลยจุดนั้นมาแล้ว และเราก็ไม่อยากทำอะไรแบบนั้นแล้ว ณ ขณะที่ยืนมองร้าน ก็มีสายหนึ่งโทรเข้ามา เรียกให้ผมไปทำงานนิตยสาร ซึ่งนั่นคือจุดเปลี่ยนชีวิตเลย เนื่องจากเป็นคนอยากทำงานเกี่ยวกับนิตยสารมาตลอด ตอนนั้นไปสัมภาษณ์ที่ตึก GM ซึ่งใหญ่มาก ถึงตอนนั้นแทบจะเป็นวาระสุดท้ายของนิตยสารแล้ว แต่ก็ยังมีนิตยสารเต็มไปหมด ผมยอมลดเงินเดือนจากเดิมที่ตั้งใจว่าจะต้องได้เงินเพิ่ม คิดว่าไม่สนใจแล้ว ไม่เรียนต่อแล้ว ไม่มีวุฒิก็ได้ ชีวิตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ เอาอันนี้แหละ
หากถามว่าวุฒิการศึกษามีผลกับคนอื่นๆ ไหม ผมว่ามีผลมาก ทุกวันนี้ ขนาดองค์กรรุ่นใหม่ๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับ Creativity ต่างๆ สุดท้ายสเปกที่เขาอยากได้ก็จะมีคำว่า ‘ปริญญาตรี’ อยู่ดี ถ้าคุณไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นระดับรางวัลจริงๆ วุฒิการศึกษาก็มีผล
รู้ตัวตั้งแต่เมื่อไหร่ว่าอยากทำนิตยสาร
รู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ ตอนที่อยู่โคราชและไม่มีโทรทัศน์ ความบันเทิงเดียวที่ผมมีคือ การไปยืนอยู่ที่ร้านหนังสือซีเอ็ด (SE-ED Book) ซึ่งจริงๆ มันเริ่มต้นจากนิตยสาร Boom หนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ เราไม่มีเงินซื้อหรอก แต่มันจะมีคนมาแกะให้เราอ่านตลอด หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านอย่างอื่นมาเรื่อยๆ คือยุคผมเด็กๆ นิตยสารมันเหมือนเฟซบุ๊คในยุคปัจจุบัน อยากรู้อะไรมีหมด นิตยสารเกี่ยวกับหนูแฮมสเตอร์ ปลาหางนกยูง ยังมีเลย เราเลยอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับหนังสือ
หากให้เปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผ่านมุมมองของตัวเอง คิดว่ามีความแตกต่างหรือความคล้ายคลึงกันในแง่ใดบ้าง
ผมว่ามันเหมือนเดิมเลย ผมเองก็เคยได้เรียนโรงเรียนเอกชนดีๆ ตอนยังเด็ก จนเปลี่ยนมาเรียนโรงเรียนหลังตลาด เรียน กศน. เรียนพาณิชย์ และได้เจอน้องๆ รุ่นใหม่ที่จบมหาวิทยาลัยดีๆ ผมมาเข้าใจเรื่องความเหลื่อมล้ำตอนมาเจอน้องเก่งๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยดีๆ นี่แหละ เนื่องจากผมไม่เคยสัมผัส ก็ไม่เข้าใจและนึกถึงอะไรได้หรอก
จนตอนมาทำเอเจนซีและเจอน้องเก่งๆ ที่มาจากมหาวิทยาลัยดีๆ เราเข้าใจเลยว่า นี่คือความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีนะ คือเขาเก่งมากและอยู่ในสังคมที่ดี ทุกอย่างมันเพียบพร้อม ผมเข้าไปผมเป็นคนที่แก่ที่สุดและเป็นจูเนียร์ (Junior) ส่วนทุกคนเป็นซีเนียร์ (Senior) หมดแล้ว และทุกคนก็เก่งมาก สังคมที่เต็มไปด้วยคอนเนกชั่น ทุกๆ อย่างมันดีสุดๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะได้โอกาสไปอยู่จุดนั้น นั่นแหละคือความเหลื่อมล้ำ แล้วมันก็มาจากเรื่องพื้นฐานอย่างที่ผมบอก เช่น การตั้งคำถาม หรือครูที่มีไม้เรียวเป็นเทพเจ้า จนทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง
จากอาชีพบริการสู่การทำ ‘สตาร์ทอัพ’ ได้เรียนรู้หรือเห็นปรากฏการณ์อะไรจากเส้นทางนี้บ้าง
อย่างตอนทำงานบริการ ผมไม่ได้คิดว่างานบริการต่ำต้อย แต่เราเลือกแมคโดนัลด์เพราะไปเจอในนิตยสารว่า จริงๆ มูลค่าบริษัทมันเยอะกว่าโค้ก ณ ตอนที่ผมได้เข้าไปทำ ผมคิดว่าผมได้ทำงานกับแบรนด์ระดับโลก ทำอยู่ 2 ปี ก็ได้เป็นเทรนเนอร์ (Trainer)
เราโชคดีอย่างหนึ่งที่พอมาทำงานแล้วได้หันกลับไปมองระบบโรงเรียน เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราเห็นสองโลกพร้อมๆ กัน เราโชคดีกว่าคนอื่นที่เห็นความจริงจากทั้งสองโลก ไม่ว่าจะระบบเรียนหรือทำงานก็เหลื่อมล้ำเท่ากัน ถ้าคุณไม่ตั้งคำถาม
คิดว่า Mindset มีส่วนสำคัญไหม และ Mindset ที่เรามีอยู่ตอนนี้มาจากไหน
คิดว่าสำคัญที่สุดเลยแหละว่าเราทำไปเพื่ออะไร ซึ่งระบบการศึกษามันไม่ค่อยให้ทางเลือกกับเรา ยกตัวอย่างตอนผมจับฉลากเข้า ม.1 ทั้งหมดมี 15 ห้อง ผมได้อยู่ห้อง 1 แม่ผมดีใจมากเลย ไปคุยกับทั้งบ้านว่าลูกได้อยู่ห้อง 1 เพราะเข้าใจว่าเป็นห้องคิงส์ ที่ไหนได้ ห้องคิงส์คือห้อง 15 เป็นห้องวิทย์ ส่วนห้อง 1 คือรวมเด็กจากที่ไหนก็ไม่รู้ แค่นี้ก็เห็นแล้วว่ามันถูกตีกรอบ ต้องมีห้องคิงส์ ห้องบ๊วย โดยเด็กห้องบ๊วยไม่มีทางจะได้ดีกว่าเด็กห้องคิงส์ เอาแค่สังคมหน้าห้องกับหลังห้อง เด็กก็โดนตัดสินแล้ว
การที่ผมมี Mindset แบบนี้ เพราะอยู่มาหลายสังคม ผมโชคดีที่ไม่ได้ลำบากตั้งแต่เกิด และเมื่อผมได้อยู่กับเด็กในสลัมหรือเด็กแว๊น จะเห็นเลยว่า การว่าเด็กเป็นเด็กแว๊น มันเป็นปัญหาที่มาจากโครงสร้างทั้งนั้น มันไม่ใช่ปัญหาของเด็ก ทุกสังคมต้องการการยอมรับ แต่พวกเขาถูกกดทับจนต้องยอมรับ คนที่รวยมากๆ อาจจินตนาการไม่ออกว่าคนจนต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งก็ไม่ผิดนะ แต่ก็ต้องคิดด้วยว่าคนจนเขามองภาพไม่ออกหรอกว่าชีวิตที่ดีกว่านี้คืออะไร
ตอนเข้าไปทำงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นมาก่อน มีวิธีการรับมือกับความท้าทายและเรียนรู้ในแต่ละงานอย่างไร
เราทำเลย เราจะไม่กลัว แต่อย่างที่บอก เราตั้งคำถามก่อนว่าเราอยากทำสิ่งนี้จริงหรือเปล่า ถ้าเราอยากทำจริงๆ ก็ลงมือทำ ผมไม่ได้มองว่าอะไรท้าทายหรือไม่ท้าทาย ถ้าเราอยากทำก็ลองทำเลย
ส่วนใหญ่น้องๆ ที่เพิ่งจบจะมีความกลัว เพราะตอนอยู่ในมหาวิทยาลัยจะมีดาวเด่นที่ทำอะไรก็เก่งไปหมด ส่วนคนที่เป็นตัวรอง หรือ Underdog ต่อให้ทำมากเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นเมื่อมาเริ่มทำงานก็จะมีความกลัว จบใหม่คือว่างเปล่า ไม่มีประสบการณ์เลย ความกลัวเต็มไปหมด แต่สำหรับผมคือต้องลองทำ ถ้าทำไม่ได้ก็บอกไม่ได้ แล้วให้เขาช่วยสอน นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ เพราะหากคุณรอให้มีประสบการณ์ก่อนแล้วค่อยทำ โอกาสไม่รอคุณหรอก และโอกาสจะมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ สิ่งที่จะทำได้คือเตรียมตัวให้พร้อม อย่างหนังสือต่างๆ ที่ผมอ่านตอนเป็นเด็ก ผมก็สามารถเอามาลากเส้นเชื่อมโยง หรือ Connect the dots ในบางเรื่องจากที่เราอ่านได้
จากประสบการณ์ของตัวเอง มีจุดหรือ dots ไหนบ้าง ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับชีวิตในทุกวันนี้ได้
ยกตัวอย่างตอนผมเข้าไปทำงานเอเจนซี ตอนนั้นความรู้ผมไม่มีเลย แต่มีงานหนึ่งที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับการที่ผมอยู่กับเด็กแว๊นมาครึ่งชีวิตได้ ซึ่งนั่นเป็นงานที่เกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ งานนั้นกลายเป็นงานที่ผมทำให้ทุกคนเห็นว่าผมทำได้ ใครจะไปคิดว่าจะเชื่อมโยงกันได้
ทุกอย่างที่ผ่านมาทำให้เราเป็นคนที่รู้อะไรไม่ลึก แต่เรารู้กว้างๆ อย่างเฟซบุ๊คแต่ละเพจ ก็เป็น dots ให้เราได้ ถ้าได้โจทย์ใหม่ๆ มา เราก็สามารถกลับไปควาน dots ได้ เพราะเราทำงานมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะขนส่ง โรงรับจำนำ ร้านหนังสือ ซึ่งถ้าเราปล่อยให้งานเหล่านี้ผ่านไปเฉยๆ มันคงไม่สามารถจะเป็นเราได้อย่างทุกวันนี้
ในฐานะที่อยู่ในตลาดแรงงานมาเกือบครึ่งชีวิต คิดว่าทักษะอะไรบ้างที่เด็กยุคปัจจุบันควรมี เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต
สำหรับการทำงานในทุกอาชีพต้องมี ‘ทักษะในการตั้งคำถาม’ กับสิ่งที่เขากำลังจะทำ เพราะถ้าไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม หรือเลือกที่จะทำไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งแล้วจะไม่สามารถ Connect the dots ได้ ซึ่งการที่เราจะลากเส้นเชื่อมโยงได้นั้นเราต้องมีจุดก่อน ต้องเข้าใจว่าแต่ละจุดมีไว้เพื่ออะไร และรอวันที่จะลากเส้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการตั้งคำถาม
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝึกกันยาก เพราะเป็นเรื่องของ Mindset แต่หลังๆ เด็กรุ่นนี้เขาตั้งคำถามไปเกินกว่ารุ่นผมมาก อย่างผมแค่ตั้งคำถาม ทิ้งระบบเพื่อออกไปต่อสู้ให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น แต่เด็กรุ่นใหม่เขาทิ้งระบบเพื่อที่จะทำให้สังคมดีขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องมีการบาลานซ์ (Balance) ในการตั้งคำถาม เพราะการตั้งคำถามที่คนรุ่นใหม่มีต่อสังคมในตอนนี้มันเป็นภาพกว้าง ผมนับถือมากๆ แต่ในส่วนที่เขาต้องต่อสู้กับระบบเดิมๆ ในที่ทำงาน อาจจะต้องบาลานซ์ ต้องกล้าให้เป็น ไม่ใช่กล้าไปแล้วไม่ได้อะไรเลย มันไม่เหมือนกัน ต้องมีการถอยบ้าง เดินหน้าบ้าง
การจะทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตหรือจบออกไปเป็นแรงงานที่มีความพร้อม จำเป็นต้องมีทักษะหรือองค์ประกอบอะไรบ้าง
อย่างแรกเลยคือต้องมี ‘การศึกษาที่ดี’ ซึ่งยาก และต้องได้รับโอกาส โดยโอกาสแรกที่เด็กต้องได้รับคือ ‘โอกาสทางการศึกษา’ เขาต้องได้รับโอกาสในการเรียนที่ดี ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรงเรียน แต่หมายถึงการศึกษาที่จะสามารถช่วยปลูกฝังเขาได้ และทำให้เขารู้ว่าต้องการอะไร สามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเรียนรู้อะไร ไม่ใช่การบังคับว่าต้องเรียนแบบนั้นแบบนี้
อย่างที่สอง กรณีที่โตขึ้นมาหน่อยก็จะเป็นเรื่องของ Mindset ซึ่งทุกๆ สิ่งที่คุณทำควรจะมีความหมายกับตัวคุณและคนอื่นด้วย Mindset ที่ไม่ใช่แค่การทำผ่านๆ หรือทำเพราะเขาให้ทำ แต่สิ่งที่ทำมันต้องตอบแทนเราในวันหนึ่ง
ในฐานะที่เป็น ‘พ่อ’ จะสอนลูกให้มีมุมมองต่อประเด็นนี้อย่างไร
ผมไม่ได้มองว่าลูกเป็นเด็ก แต่ก่อนอื่นเราต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งตั้งแต่มีลูก ชีวิตการทำงานของผมก้าวกระโดดมาก จากปกติที่ชอบทำงาน แต่ตอนนี้เราต้องทำงานบนฐานความคิดที่ว่าต้องรับผิดชอบอีกหนึ่งชีวิตด้วย เวลาเราคุยกับลูก เราให้เขาตั้งคำถาม และเราก็ตั้งคำถามเขา เช่น ทำไมเขาถึงทำแบบนี้ ถามจนกว่าเขาจะตอบได้ และมันจะไม่มีการที่พ่อถูก ลูกผิด มันมีเพียงการตั้งคำถามว่าทำทำไม ทำไมถึงต้องร้องไห้ การร้องไห้ไม่ใช่เรื่องผิด เราเป็นผู้ใหญ่เรายังร้องไห้ ดังนั้นการที่เด็กร้องไห้เป็นเรื่องปกติมาก เราจะไม่บอกให้เขาหยุดร้อง แต่เราจะถามว่าเขาร้องทำไม จนเขาตอบได้ และเขาก็หยุดร้องของเขาเองเมื่อเขาเข้าใจตัวเอง
ปัจจุบันผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยมองว่า ระบบการศึกษาในไทยยังไม่สร้าง Mindset ที่เหมาะสมด้านการทำงานให้กับผู้เรียนได้ ในฐานะผู้ประกอบการมีความคิดเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้
จริงครับ ผมว่ามันก็กลับเข้ามาสู่ปัญหาเดิมคือ การขาดการตั้งคำถาม เพราะ Mindset มาจากการตั้งคำถาม มันมี Mindset อยู่ 2 อย่างที่คนชอบพูดถึงกัน คือ Growth Mindset และ Fixed Mindset แต่เราจะสร้าง Growth Mindset ได้อย่างไรถ้าการศึกษาไทยยังไม่เกิดการตั้งคำถาม และจะไปหวังให้เด็กเกิด Growth Mindset มันก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะเด็กไทยติดอยู่กับ Fixed Mindset ที่เป็นกรอบทางการเรียนมาเกือบ 20 ปี เรียนอยู่ด้วยกรอบเดิม และหากผู้ใหญ่จะคิดว่าเด็กออกจากกรอบมาแล้วจะมี Growth Mindset มันก็คงจะมหัศจรรย์เกินไป มันเป็นไปไม่ได้ ผมว่าวิธีการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอยกตัวอย่างถ้าตอนนี้ผมกลับไปเรียน ปวช. หนังสือเรียนก็น่าจะยังเป็นเล่มเดิมอยู่ แต่โลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปรวดเร็ว แต่หนังสือที่เด็กไทยได้เรียนยังเป็นเล่มเดิมอยู่เลย แล้วจะให้เอา Growth Mindset มาจากไหน มันไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ในฐานะที่เคยเป็นหนึ่งในเด็กที่ได้รับผลกระทบจนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน คิดว่าหน่วยงานหรือภาคส่วนใดควรเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ และควรจะมีแนวทางในการจัดการอย่างไร
หน่วยงานหรือองค์กรใดก็ได้ที่เขาสามารถพาเด็กไปเจอโอกาสที่ดีในการศึกษา คุณอาจจะไม่ต้องให้ทุนเด็กเพื่อเข้าไปในโรงเรียนก็ได้ เพราะหากให้ทุนเด็กที่เรียนดีมากๆ คนหนึ่งกลับเข้าไปอยู่ในโรงเรียนที่ผมพูดมาทั้งหมด ก็ไม่มีประโยชน์ เขาก็แค่ได้ทุนไปอยู่ในที่ที่ถูกปลูกฝังว่าไม่ให้ตั้งคำถามอยู่ดี แต่หากจะสนับสนุน ผมคิดว่าเขาควรสนับสนุนหลักสูตรใหม่ๆ อย่างเช่น Home School ลงชุมชนเลย และทำ Home School ให้เด็กเหล่านี้ โดยหลักสูตรนี้ต้องสามารถเอาไปขึ้นทะเบียนได้ คุณเอาเงินก้อนนี้มาทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็ก ให้เขาเรียนอยู่ในชุมชนได้
เท่าที่ผมอ่านหนังสือและจับใจความมา ผมเข้าใจว่าระบบการศึกษาเกิดขึ้นจาก ‘ระบบทุนนิยม’ นั่นคือการที่พ่อแม่ต้องทำงาน ไม่มีคนเลี้ยงลูก ก็ต้องส่งลูกไปโรงเรียน ไปสู่ระบบการศึกษา การแข่งขัน มีใบการันตี มีทิศทางไปต่อ หลังๆ จะเห็นว่าคนที่เขาตั้งใจมีลูกจริงๆ เขาจะส่งลูกไปยังโรงเรียนทางเลือกหรือ Home School แต่การที่องค์กรอะไรก็ตามที่อยากจะผลักดันด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไปที่โรงเรียนแบบเดิมๆ ผมว่ามันไม่ค่อยช่วย แต่หากนำเงินตรงนี้ไปสร้างหลักสูตร ผมว่าจะมีประโยชน์กว่า เอาคนที่ไม่ใช่ครูมาสอนก็ได้ อย่างนักเล่านิทานมาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้ว่ามีอาชีพนี้ เพราะอาชีพไม่ได้มีเพียงหมอ ตำรวจ
นอกจากการปรับหลักสูตรแล้ว คิดว่าจำเป็นไหมที่ผู้เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายจะต้องมีการปรับ Mindset ด้วยเช่นกัน
ถ้าอยากให้เด็กมี Mindset ที่ดี ก็ต้องมีผู้ใหญ่ที่มี Mindset ที่ดีมาวางระบบให้เด็ก หากคนที่ถืออำนาจในการวางระบบยังไม่เปลี่ยนแปลง ก็คงไม่สามารถคาดหวังให้คนที่เข้ามาอยู่ในระบบเปลี่ยนแปลงได้
ยกตัวอย่างผมไปสัมภาษณ์น้องคนหนึ่งที่เป็นศิลปิน Abstract ซึ่งตอนอยู่เมืองไทยมีแต่คนบอกว่าเขาวาดรูปไม่สวย แต่เขาชอบศิลปะมากๆ ขนาดคนที่รู้ตัวเองตั้งแต่เด็กๆ ยังเจ็บปวดกับระบบ และระบบก็ยังทำให้เขาบิดเบี้ยวได้ขนาดนั้นเลย จนเขาไปเรียนเมืองนอก ครูที่นั่นสอนว่าอยากทำอะไรก็ทำ เขาจึงมีความมั่นใจที่จะกลับมาวาดรูปอีกครั้ง
นอกจากนี้ ในส่วนของครูผู้สอนในระบบ ผมคิดว่าหากเขาได้รับอิสรภาพในการจัดการ เรียนการสอน ก็จะส่งผลดีต่อผู้เรียนด้วยเช่นกัน แต่หากระบบยังไม่เปลี่ยนตาม สุดท้ายก็จะค่อยล่มสลายๆ ไป พ่อแม่ที่เขาพร้อมก็จะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ลูกเกิดมาเจอกับระบบแบบนี้
คำถามสุดท้าย จากการเข้าสู่สายอาชีพและการทำงาน ก็พิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่าเราก็สามารถใช้ชีวิตได้ แต่ทำไมจึงคิดว่าการศึกษายังสำคัญอยู่
ผมออกจากระบบการศึกษาได้ เพราะผมได้โอกาสที่คนอื่นไม่ได้ มันคือตัวผมคนเดียวที่มองว่ามันดีกว่าระบบการศึกษาในตอนนั้น แต่หากถามถึงภาพรวม ยังไงการศึกษาก็สำคัญที่สุดในทุกๆ อย่าง เพราะการศึกษาคือพื้นฐานของทุกอย่าง และการศึกษาที่ดีคือ การศึกษาที่สามารถตั้งคำถามได้
หากย้อนเวลากลับไปแล้วเลือกเรียนสิ่งที่ผมจะอยากเรียนได้ ผมก็จะเรียน ผมยืนยันว่าการศึกษาสำคัญที่สุด แม้ผมจะออกมาจากระบบแล้วมีงานที่ดีก็ตาม แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าผมโชคดี เพราะมันมีคนที่ทำงานเก่งและขยันกว่าผมมาก แต่โอกาสมันไม่ได้มีให้ทุกคน ต่อให้ผมไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา แต่การศึกษาก็ยังสำคัญมากและควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
อ้างอิง: