การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ขอเรียกสั้นๆว่าโควิด) ได้ส่งผลกระทบการใช้ชีวิตของเด็กๆที่เป็นลูกหลานเราอย่างรุนแรงเนื่องจาก
- พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย (ผู้ดูแลเด็ก) มีความกังวล ติดตามข่าวสารจนอาจลดเวลาและความสนใจกับเด็ก
- ผู้ดูแลเด็กอาจมีปัญหารายได้ จากมาตรการให้สถานที่ต่างๆหยุดงาน ทำให้รายได้ครอบครัวลดลง มีความเครียดเพิ่มเติมจากปัญหาค่าใช้จ่าย
- มาตรการเว้นระยะห่างทำให้โรงเรียน สนามเด็กเล่น และสถานที่ที่เด็กเคยไปใช้เวลาทำกิจกรรมปิดตัวลง เด็กต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน
- สื่อที่เด็กรับดู เช่น TV เปลี่ยนผังรายการมาเน้นเรื่องโควิดเป็นอย่างมาก จนเด็กก็รับรู้ข่าวสารโควิดมาก จนอาจเกิดความสับสนได้
ข้อเสนอสำหรับผู้ดูแลเด็ก
1) จัดกิจวัตรประจำวันของเด็กให้ใกล้เคียงของเดิมให้มากที่สุดโดยมีเวลาที่สมดุลระหว่างการดูแลตนเอง การช่วยเหลือพ่อแม่ การเรียนรู้และกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ
2) การจัดการตนเองของผู้ใหญ่มีความสำคัญมาก ไม่จำเป็นต้องกลัวเกินไป ถ้าเราปฏิบัติตามหลักการป้องกันตนเอง 3 ข้อหลัก (เว้นระยะ ล้างมือและใช้หน้ากากผ้าขณะออกนอกบ้าน) เราย่อมป้องกันตนเองได้ และติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่เชื่อถือได้และใช้เวลาวันละ 2-3 ชม.ก็พอเพื่อให้มีเวลาสำหรับดูแลลูกหลาน และทำกิจกรรมของตนเอง
3) ให้เด็กได้พูดคุยความเข้าใจและความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับโรคโควิด ซึ่งเด็กๆจะได้รับสื่อมากมาย จะช่วยให้เขาได้ระบาย รู้ว่าเรายังสนใจเขาช่วยทำความเข้าใจเหตุการณ์และผลที่เกิดขึ้นกับเขาและครอบครัว
4) ให้เด็กได้เรียนรู้จากหนังสือและสื่อที่เหมาะสมกับวัยเขา และร่วมกิจกรรมกับเขาด้วย เช่น อ่าน ทำอาหารหรือขนม ทำของเล่น เป็นต้น (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tkpark.or.th/ (อ่าน E-Book ฟรี) https://inspiremyplay.com/ (รวมกิจกรรมให้เด็กเล่นสนุก ทำเองได้ที่บ้าน) และ https://stories.audible.com/discovery (หนังสือเสียงฟรี )Top of Form
5) รักษาความใกล้ชิดกับเด็กให้มากขึ้น ผ่านการพูดคุยและทำกิจกรรมกับเด็ก เนื่องจากเด็กจะมีเวลาในบ้านมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะติดต่อเพื่อนๆไม่ได้ ส่งเสริมให้เด็กยังใกล้เชิดกับเพื่อนๆ ผ่านสื่อโทรศัพท์ สื่อสังคม อนุญาตให้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆได้โดยยังใช้กฎความปลอดภัยกับทั้ง 3 ข้อ (ระยะห่าง ล้างมือ ใช้หน้ากากผ้า) ในส่วนที่ปลอดภัย เช่นในบ้าน สนามหรือสวนที่ไม่มีคนมาก
อย่าลืมว่าครอบครัวและชุมชนจะฝ่าวิกฤตได้ต้องไปด้วยกัน ให้เกิดความปลอดภัย ความสงบไม่ว้าวุ่นใจจากข่าวสารต่างๆ มีความหวังว่าเราจะก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยใช้พลังและความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน ใช้วิกฤตหนนี้ช่วยให้ลูกหลานเราเรียนรู้ และมีความสามารถในการปรับตัวแม้ในยามยากลำบาก
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์
ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต