จาก “ไฮสโคป” สู่ “School Readiness” เครื่องมือ สร้างความพร้อมเด็กอนุบาล สู่พลเมืองที่“คิดเป็น” เสียงเจื้อยแจ้ว เด็กน้อยเดินแถวเรียงหนึ่ง ไปตามถนนในหมู่บ้าน มุ่งหน้าท้องนาเขียวขจี ในสัปดาห์นี้ เด็กๆ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองตอกแป้น เรียนรู้เรื่อง “ข้าว” เด็กๆ จึงได้ออกมาเรียนรู้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอย่างมีความสุข
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองตอกแป้น ตำบลหนองตอกแป้น อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็น 1 ใน 3 แห่ง ที่เป็นศูนย์อบรมของโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (Reducing Inequality through Early Childhood Education: RIECE Thailand) หรือ “ไรซ์ไทยแลนด์” โดยใช้หลักสูตร “ไฮสโคป” (HighScope) ที่เน้นกระบวนการเรียนการสอนเป็นสำคัญ ไม่ใช้อุปกรณ์พิเศษที่มีราคาสูง สามารถใช้ไฮสโคปได้กับทุกบริบท โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในท้องถิ่น
วงล้อแห่งการเรียนรู้ของไฮสโคปเน้น Active learning ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และรู้จักอดทนรอคอย ส่วนในขั้นตอนการลงมือทำ เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ได้ใช้มือจับ สัมผัส ใช้ตาดู ผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย
ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเองอย่างกระตือรือร้น ได้เรียนรู้จากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนได้ใช้ความคิดในการลงมือปฏิบัติ และได้สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน
จาก “ไฮสโคป” สู่ “School Readiness” คือการสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำเครื่องมือ School Readiness ซึ่งดัดแปลงและปรับปรุงมาจากชุดเครื่องมือ Measuring Early Learning Quality and Outcomes (MELQO) โดยได้นำไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก เช่น จีน อินโดนิเชีย ลาว มองโกเลีย บังกลาเทศ อินเดีย เปรูบราซิล นิการากัว เอธิโอเปีย แทนซาเนีย เป็นต้น
“School Readiness” จึงเป็นเครื่องมือที่มุ่งหวังที่จะวัดความพร้อมของเด็กปฐมวัย ว่าสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและครู เด็กและโรงเรียน เด็กและผู้ปกครอง
จากการลงสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล 3 ในปีการศึกษา 2561 จนถึงปัจจุบัน สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ได้ดำเนินการมาถึงระยะที่ 3 ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลสถานะความพร้อมฯ สำหรับประเทศไทย (Thailand school readiness database) ที่มีข้อมูลความพร้อมฯ ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด อันจะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานและการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงทีทั่วทั้งประเทศ โดยในระยะที่ 3 นี้ จะสำรวจสถานะความพร้อมฯ ทั้งหมด 19 จังหวัด ครอบคุลมทั้ง 4 ภูมิภาค
รศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะหัวหน้าโครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (School Readiness) กล่าวถึงความตั้งใจในความร่วมมือกับ กสศ. ว่า เกิดจากความคิดของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ที่มองเห็นปัญหามาตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งปัญหาใหญ่ของเด็กคือ “โลกทัศน์” โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดต่อให้เรียนเก่งมากแค่ไหนก็ตาม ถ้าการมาเรียนหนังสือแล้วไม่ได้อะไร จึงพยายามเปลี่ยนโลกทัศน์ของเด็กให้กว้างขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาคุณภาพจริงๆ ไม่เคยถูกแก้ไข ดังนั้น จะทำอย่างไรเด็กถึงจะได้รับการศึกษาที่ดี และขณะเดียวกันก็ยังคงรู้สึกว่า “การศึกษาคือคำตอบ”
จุดเริ่มต้น ของการทำไอสโคป ด้วยความตั้งใจในการพัฒนาการศึกษาจริงๆ “ผมไม่ได้จัดการศึกษาที่ทำให้เด็กมีความสุข ฟังแล้วเหมือนจะแย่ ผมต้องการจัดการศึกษาที่ทำให้ “เด็กคิดเป็น” ดังนั้น อย่าเอาความสุขเป็นตัวตั้ง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้เด็กมีความสุข แต่ต้องการให้เด็กเติบโตมาแล้วคิดเป็น รู้จักสื่อสาร กล้าคิด กล้าทำ รู้จักวางแผน เมื่อชอบอะไรก็จะเกิดการคิดวางแผนเพื่อจะทำสิ่งนั้น และรู้ว่าตนเองจะเรียนอะไร โดยไฮสโคปเป็นแนวทางและก็ตอบโจทย์เรื่องความสุขได้ด้วย จึงได้เรียนรู้วิธีการสอนให้เด็ดคิดเป็น มีชีวิตชีวาและมีความสุขไปด้วยได้”
ส่วนเรื่อง School Readiness ขอให้ยกความดีความชอบให้ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่อยากให้ทำเรื่องปฐมวัย ซึ่งมีเหตุผลที่น่าสน จากคำถามที่ง่ายที่สุด คือ เด็กที่มี School Readiness ที่ดีกว่า เมื่อเติบโตขึ้นจะเรียนดีกว่าเด็กคนอื่นหรือไม่ เช่นเดียวกับโอเน็ต ป.3 ดีกว่าสำคัญหรือไม่ในอนาคต ซึ่งก็พบว่ามีนักวิจัยได้ทำการศึกษาไว้และพบว่ามีผลต่อกัน โดยเฉพาะความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งพบว่าเด็กที่มีความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ดีกว่าในระดับอนุบาล เมื่อเติบโตขึ้นไปเรียนชั้น ป.4, ป.5 จะมีผลการเรียนที่ดีกว่าและมีความพร้อมด้านอื่นๆ ที่ดีกว่าด้วย
จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับ กสศ. ซึ่งเครื่องมือวัด School Readiness สะท้อนอะไรบางอย่างให้เราเห็น โดยไม่ได้ยัดเยียดเด็ก แต่เราจะไม่ทิ้งเด็กให้ตกหล่นในความรู้มากจนเกินไป ดังนั้น School Readiness เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราถอยมาอยู่ตรงกลาง ทั้งนี้ ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าเด็กอนุบาลไม่สามารถอยู่โดยไม่มีพื้นฐานวิชาการได้ เนื่องจากเด็กที่ไม่มีความรู้วิชาการเลย เมื่อโตไปก็จะลำบาก ซึ่งต้องแยกเรื่องการยัดเยียดกับความมีวิชาการออกจากกันให้ได้ ซึ่งต้องเข้าใจว่าความเป็นวิชาการคือพื้นฐานที่ต้องเข้าใจตัวเลขพื้นฐาน แต่หากไม่รู้เลยสะท้อนถึงความไม่ดูแลเอาใจใส่ ถ้าเด็กขึ้นชั้น ป.1 ต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งงานวิจัยชี้ชัดเจนว่าเด็กสามารถเรียนรู้พื้นฐานเหล่านี้ได้ เพราะโลกในอนาคตวิชาการต้องมีเป็นสิ่งที่จำเป็น เด็กจำเป็นต้องรู้เป็นขั้นบันไดขึ้นไป แต่สิ่งที่ประเทศไทยไม่มีคือขั้นบันไดที่ชัดเจน ว่าแต่ละช่วงวัยควรเรียนรู้เรื่องอะไร ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดีพอ ดังนั้น จะปฏิเสธวิชาการไม่ได้ แต่ต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น
จากการสำรวจความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ พบว่า ปัญหาการศึกษาไทยที่ผ่านมา ส่งเสริมให้เด็กเรียนคณิตศาสตร์แบบคณิตคิดเร็ว คณิตคิดในใจ ส่งผลให้คนที่คิดไม่เร็วมีอคติต่อคณิตศาสตร์ ซึ่งในความจริงคณิตศาสตร์เพียงมีกระดาษไว้ทดเลข อยากให้เห็นว่าคณิตศาสตร์มีประโยชน์นำไปใช้ได้ อย่าทำให้เด็กเกลียดคณิตศาสตร์ และสุดท้ายอย่าปล่อยให้เด็กคิดคณิตศาสตร์จริงๆ ไม่เป็น เราพยายามสอนเด็กแบบง่ายๆ ให้รู้จักการทดเลขซึ่งดีที่สุดแล้ว
“ปัญหาเด็กที่คิดเร็วจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่ายมาก เกิดคำถามจากเด็กว่า คิดเป็นกับคิดเร็วอันไหนดีกว่ากัน ซึ่งแน่นอนการคิดเป็นย่อมดีกว่า คณิตศาสตร์มีวิธีการแก้ปัญหาหลายวิธี เมื่อพบปัญหาจะเลือกใช้ได้ถูก โดยระบบการศึกษาเราทำให้เด็กท้อถอยแต่แรก นำไปสู่สิ่งที่เด็กทำไม่ได้ เช่น การสอนคณิตคิดเร็ว เป็นปัญหามาก ครูต้องบริหารจัดการชั้นเรียนให้เก่งมากขึ้น เมื่อบริหารได้ครูก็พร้อมเปิดให้เด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก ฉะนั้น องค์กร หรือหน่วยงานวิจัยต่างๆ ควรประเมินนโยบายการศึกษา ว่าทำแล้วเด็กดีขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ดีขึ้น อย่ากำหนดเป็นนโยบาย ซึ่งต้องขอบคุณ กสศ.ที่กล้าเสี่ยงในการทำเรื่องนี้”
School Readiness เป็นเครื่องมือที่คล้ายกับ PISA ซึ่งมีผลกระทบต่อนโยบายการจัดการศึกษาของประเทศและทั่วโลก จึงมีความหวังว่า School Readiness ที่มีจุดเด่นคือข้อมูลพัฒนาการความพร้อมของเด็กอนุบาล 3 ทั่วประเทศเป็นอย่างไร ถ้าเด็กมีความพร้อมตาม School readiness แต่หากพบปัญหาก็สามารรถปรับปรุง เช่น คณิตศาสตร์พื้นฐาน หรือเรื่องที่ซับซ้อน เช่น mental transformation ที่เด็กต้องมีจินตนาการคิดมากขึ้น เรื่องภาษา หรือการอ่านข้อความให้เด็กฟัง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขยับไปมากกว่าการจำ แต่ให้มีกระบวนการคิดที่มากขึ้น คิดได้ซับซ้อนขึ้น การทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กคุ้นชินกับการคิดมากขึ้น เมื่อเติบโตไปเด็กมีพื้นฐานเพื่อการต่อยอดในอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญระดับนโยบายที่ต้องมาช่วยกันให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพทำกิจกรรมที่ให้เด็กมีกระบวนการคิดมากขึ้น อย่าสอนแบบให้ท่องจำ ต้องเป็นการเรียนการสอนที่ครบวงจร
ทั้งนี้ หากมองไปถึงข้อเสนอเชิงนโยบาย ก็ยังคงคิดว่า การพัฒนาคุณภาพการศึกษา ครูต้องหันมาทำกิจกรรมพื้นฐาน เช่น อ่านหนังสือให้เด็กฟัง ไม่ได้อ่านแล้วจบ แต่มีการพูดคุย ทำกิจกรรมต่อ เด็กก็จะได้รับประสบการณ์ การกระตุ้นให้คิด โดยไฮสโคปเป็นรูปแบบหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการศึกษาได้
ขณะนี้ โครงการกำลังดำเนินการในระยะที่ 4 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตามความตั้งใจของ กสศ. โดยการทำงานที่เชื่อมประสานกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดให้ได้รับรู้รับทราบปัญหาของพื้นที่ เพื่อเป็นมาตรฐานในการติดตามดูแลการศึกษาปฐมวัย โครงการนี้ จึงไม่ใช่แค่การวิจัย แต่คือการพัฒนา โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งในการนำไปใช้ตัดสินใจแก้ปัญหา และใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง