เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสมแก่ความเจริญก้าวหน้าให้กับพลเมืองได้ ผลที่ตามมาคือ โอกาสในชีวิตของแต่ละคนจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างยาวนานไปชั่วลูกชั่วหลาน เพราะเศรษฐกิจการเมืองผูกโยงกับความไม่เสมอภาคอย่างแนบแน่น หลายประเทศจึงประเมินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวผ่านตัวชี้วัดมาตรฐานการเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility)
มีข้อค้นพบบางประการที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการจะเอื้อให้การเลื่อนชั้นทางสังคมเป็นไปได้มากกว่าประเทศที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมทั่วไปและไม่มีตาข่ายรองรับพลเมืองของตัวเองที่แข็งแรงพอ
คงไม่ต้องแปลกใจว่า ปัญหาการติดกับดักอยู่ในสถานะเดิมของพลเมืองไม่ได้ส่งผลเฉพาะระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจสังคมระดับมหภาคด้วย โดยในทางสังคมศาสตร์ยอมรับกันว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกัน ในสังคมที่การเลื่อนชั้นทางสังคมมีไม่มากพอ มักจะมาควบคู่กับความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในชีวิต
The World Economic Forum 2020 ได้สร้าง ‘ดัชนีชี้วัดการเลื่อนชั้นทางสังคม’ (The Global Social Mobility Index) ขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นมาตรฐานใช้วัดในพื้นที่ 82 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ถูกออกแบบมาให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถระบุพื้นที่ในการยกระดับการเลื่อนชั้นทางสังคม และส่งเสริมโอกาสในทางเศรษฐกิจ
ในแง่ความหมาย ‘การเลื่อนชั้นทางสังคม’ หมายถึง การขยับฐานะใดๆ ในช่วงชั้นทางสังคม อาจเป็นไปได้ทั้งในแนวดิ่ง เช่น การเปลี่ยนแปลงของปัจเจกชนโดยเปรียบเทียบกับคนรุ่นพ่อและแม่ (อาจจะเปลี่ยนจากชนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชนชั้นอื่นๆ ของสังคมในทางสูงหรือต่ำลง) หรืออาจเป็นไปในแนวนอน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากตำแหน่งหนึ่งไปอีกตำแหน่งหนึ่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน
การเลื่อนชั้นทางสังคมเกี่ยวข้องโดยตรงกับความสามารถของเด็กที่จะมีประสบการณ์ชีวิตที่ดีขึ้นกว่ารุ่นของพ่อแม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็นการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเงื่อนไขของผลลัพธ์ในชีวิตคนคนหนึ่ง ซึ่งวัดได้หลากหลายมิติ ตั้งแต่สุขภาพที่ดี การสำเร็จทางการศึกษา ไปจนกระทั่งรายได้
จากการสำรวจของ The World Economics Forum จะเห็นว่ามีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสมในการเลื่อนชั้นทางสังคม โดยกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีการใช้แนวทางรัฐสวัสดิการในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดที่มุ่งไปที่รายได้หรือสถานะทางสังคมโดยเปรียบเทียบกับคนรุ่นพ่อแม่แบบเดิม ยังไม่อาจช่วยให้เข้าใจบริบทโลกในปัจจุบันได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากอีกหลายประเทศมีโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างออกไปจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย
The Global Social Mobility Index ขยายตัวชี้วัดให้เหมาะสมมากขึ้น โดยสนใจไปที่แรงขับของการเลื่อนชั้นทางสังคมที่สัมพันธ์กันในหลายปัจจัย แทนที่จะไปสนใจที่ผลลัพธ์ของชีวิตพลเมืองเพียงอย่างเดียว ดัชนีนี้ได้วิเคราะห์ไปยังนโยบาย การปฏิบัติ และปัจจัยในเชิงสถาบัน ตลอดจนพิจารณาครอบคลุมไปยังความแตกต่างของภูมิภาคและรุ่นของคน โดยแสดงออกมาใน 10 ตัวชี้วัด ภายใต้ 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. สุขภาพ 2. การศึกษา 3. การเข้าถึงเทคโนโลยี 4. โอกาสในการทำงาน 5. สภาพการทำงานที่จะได้ค่าจ้างที่เป็นธรรมและได้รับการคุ้มครองที่ดีพอ
การสำรวจของดัชนีนี้ชี้ให้เห็นว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดการเลื่อนชั้นทางสังคม เพราะส่วนใหญ่ยังขาดปัจจัยที่เหมาะสมอีก 4 ด้าน คือ 1. การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม 2. การคุ้มครองทางสังคม 3. สภาพการทำงานที่ดี และ 4. การได้เรียนรู้ตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้ยังคงยืนยันข้อสรุปที่ว่า เด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการไล่ล่าความสำเร็จที่มากกว่าครอบครัวที่มีรายได้สูง นอกจากนี้ความไม่เท่าเทียมยังคงเพิ่มสูงขึ้นแม้กระทั่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น แม้ว่าจะมีการสำรวจภายใต้การปรับดัชนีชี้วัดใหม่ ผลการสำรวจยังพบว่าประเทศที่มีอัตราการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ดียังอยู่ที่กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มประเทศผู้นำอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งคือ ประเทศเยอรมนี (11) รองลงมาคือฝรั่งเศส (12) และแคนาดา (14) ขณะที่ประเทศในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่และมีอัตราการเลื่อนชั้นทางสังคมที่ดีคือ รัสเซีย (39) จีน (45) บราซิล (60) และอินเดีย (76)
ขณะที่ประเทศไทยแม้ว่าจะยังทรงตัวอยู่ที่อันดับกลาง (55) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศยังพบว่า ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจกับความไม่เท่าเทียมนั้นมีความลึกซึ้งและกว้างขวาง
รายงานฉบับนี้เสนอว่า วิธีการสร้างโอกาสที่ดีให้พลเมืองสามารถเลื่อนชั้นทางสังคมได้ คือการไปให้พ้นจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม การสูญเสียเอกลักษณ์และศักดิ์ศรี การขจัดความอ่อนแอของโครงสร้างทางสังคมที่ทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการทางการเมือง เพื่อให้พลเมืองมั่นใจว่าทุกคนจะมีโอกาสเท่ากันในการไขว่คว้าความสำเร็จของชีวิตได้
ข้อคิดจากรายงานดังกล่าว หากพิจารณากับประเทศไทยช่วยให้เข้าใจได้ว่า แม้ว่าจะมีนักเรียนยากจนจำนวนหลายแสนคน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องรักษาและสนับสนุนมากขึ้นคือ การสร้างโอกาสของชีวิตผ่านการสนับสนุนโดยรัฐ กรณีนี้ ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า
“เด็กนักเรียนยากจนจะมีต้นทุนในการเรียนที่สูงกว่าคนอื่น คนเหล่านี้ไม่ใช่เพียงไม่มีเงินเก็บ แต่ยังเป็นหนี้ด้วย เขาต้องมีรายได้วันนี้ ถ้าไม่มีรายได้วันนี้ การมาเรียนของเขาจะมีมูลค่าหลายพันบาท เด็กยากจนส่วนใหญ่ยังมีเงินติดลบและมีค่าเสียโอกาส
“อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการศึกษาของคนมีรายได้น้อยที่เรายังไม่มีมาตรการแก้ไขตรงนี้ ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ แล้วให้เงินปีละ 3,000 บาท ยังไงก็ไม่จบ ดังนั้นการทำวิจัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่จะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้ และอีกด้านหนึ่งเมื่อมองไปยังอนาคต พ่อแม่ของเด็กที่มีรายได้น้อยและเรียนจบไม่เกิน ป.6 พ่อแม่จะไปบอกลูกได้อย่างไรว่าเรียนมหาวิทยาลัยมันดีอย่างไร จะบอกลูกได้อย่างไรว่าพ่อแม่จะปากกัดตีนถีบส่งลูกไปถึงมหาวิทยาลัยได้ ฉะนั้นจึงตอบไม่ได้ว่าเรียนไปแล้วได้อะไร เพราะมองเห็นประโยชน์ของการศึกษาในอนาคตไม่ชัดเจน
“ถ้าเราปรบมือสองข้าง ทุกวันนี้เราแจกเงินไปโดยไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาต้นทาง ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจปัญหาต้นทาง ต่อให้อัดเงินเข้าไปกี่ปี ความเหลื่อมล้ำก็ไม่หาย”
ประเด็นของไกรยสย้ำให้เห็นว่า การเลื่อนชั้นทางสังคมต้องอาศัยแรงผลักที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การสนับสนุนด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสในชีวิต ฉะนั้นในประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทยและมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แข็งแรงพอ จนกระทั่งยังมีเด็กยากจนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยอยู่จำนวนมาก แนวทางการเข้าไปสนับสนุนเด็กโดยตรงอาจจะเป็นทางออกหนึ่งในการสร้างโอกาสชีวิตให้แก่เด็กให้สามารถเลื่อนชั้นทางสังคมได้