นับจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศ ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ประการ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 เพื่อเป็นแนวทางหลักในการวางแผนพัฒนาโลกในด้านต่างๆ ในระยะ 15 ปีข้างหน้า (2559-2573) และหนึ่งในนั้นคือเป้าหมายด้านการศึกษาที่ถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ 4 (SDG4) โดยเน้นให้แต่ละประเทศจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ
ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในสมาชิก ได้มีการดำเนินการที่สอดรับตามเป้าหมายดังกล่าว ล่าสุดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัยในหัวข้อ ‘การพัฒนาเครื่องมือและจัดเก็บข้อมูลความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และแรงงานรุ่นใหม่ระดับจังหวัด ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4)’ จัดทำโดย เทวธิดา ขันคามโภชก์ และคณะ (ปี 2562) เพื่อเป็นการพัฒนาต้นแบบเครื่องมือสำรวจความก้าวหน้าของการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นแรงงานรุ่นใหม่ และให้หน่วยงานในระดับจังหวัดมีเครื่องมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ขององค์การสหประชาชาติ
ขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการนี้ เริ่มจากการพัฒนาเครื่องมือสำรวจ โดยนำไปทดลองจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ สุรินทร์ และสงขลา จากนั้นจะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด และนำข้อมูลมาสังเคราะห์ความก้าวหน้าของการพัฒนาเด็ก เยาวชน และแรงงานรุ่นใหม่ในมิติต่างๆ ต่อไป
คณะนักวิจัยได้ทำการศึกษาทบทวนสถานการณ์การจัดการศึกษาโดยรวมของไทยในช่วงปี 2560-2561 พบว่าประเทศไทยมีทั้งความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าและมีจุดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ การเข้าถึงบริการการศึกษามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เด็กเข้าถึงการศึกษาปฐมวัยและภาคบังคับได้มากขึ้น แต่คุณภาพในการจัดการศึกษายังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง เมื่อพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ย O-NET ที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และคะแนนเฉลี่ย PISA ที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางการศึกษาของแต่ละจังหวัดยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งการพัฒนาศักยภาพคนต้องเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ให้สามารถปรับตัวก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และควรใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลรายบุคคลของนักเรียน
สำหรับแนวทางการพัฒนาเครื่องมือและตัวชี้วัดความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะนักวิจัยได้ทำการประมวลและคัดเลือกตัวชี้วัดที่มีความเกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ตัวชี้วัด SDG4 ของประเทศไทย ได้แก่ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยอายุ 15-59 ปี และค่าเฉลี่ยคะแนน O-Net ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3
2. ตัวชี้วัดการจัดการศึกษาของแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี (2560-2579) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายของการจัดการศึกษาไว้ 5 ประการ ได้แก่ 1) ประชากรทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานอย่างทั่วถึง (access) 2) ผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้รับบริการการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐานอย่างเท่าเทียม (equity) 3) ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถเต็มศักยภาพ (quality) 4) ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย (efficiency) และ 5) ระบบการศึกษาที่สนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง (relevancy)
3. ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI) ประจำปี 2562 ประกอบด้วย 8 ด้านคือ สุขภาพ การศึกษา ชีวิตการงาน รายได้ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ชีวิตครอบครัวและชุมชน การ คมนาคมและการสื่อสาร และการมีส่วนร่วม
4. กรอบการตรวจติดตามนิเทศและประเมินผลการจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
5. ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education: iSEE)
6. เครื่องมือสำรวจความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ระดับจังหวัด ได้แก่ 1) การสำรวจทักษะและความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา (School Readiness Survey: SRS) และ 2) การสำรวจทักษะและความพร้อมในการประกอบอาชีพของเยาวชนก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Career Readiness Survey: CRS)
ทั้งนี้ งานวิจัยในโครงการนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาและจัดเก็บข้อมูล หากผลการวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้วคาดว่าจะสามารถพัฒนาองค์ความรู้และนำไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงสนองตอบความต้องการด้านกำลังแรงงาน และยกระดับความสามารถของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาและขยายผลไปสู่ทั่วประเทศต่อไป