ในรายงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ ได้ประเมินระดับความพร้อมของครอบครัวของเด็กปฐมวัยด้านต่างๆ รวมถึงความพร้อมของครอบครัวในด้านการส่งเสริมการอ่าน หรือ familys readiness for children
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การอ่านหนังสือของเด็กปฐมวัย ซึ่งทีมวิจัยพิจารณาจากการมีหนังสือนิทานหรือสมุดภาพที่บ้าน และระยะเวลาที่ผู้ใหญ่ในบ้านอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ศึกษาวิจัยในโครงการนี้ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยผลการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ กาญจนบุรี ระยอง และภูเก็ต พบว่า มีเด็กปฐมวัยจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีหนังสือนิทานหรือสมุดภาพที่บ้าน โดยจังหวัดที่มีมากสุดคือ ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่น้อยสุดคือ เชียงใหม่
เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยของจำนวนหนังสือนิทานหรือสมุดภาพที่มีอยู่ที่บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เด็กปฐมวัยไทยมีหนังสือนิทานหรือสมุดภาพที่บ้าน โดยเฉลี่ยเพียง 3.9-8.7 เล่ม แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากกว่าการมีหนังสือที่บ้านคือ สัดส่วนของเด็กปฐมวัยที่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังที่บ้านมีค่าต่ำกว่าสัดส่วนการมีหนังสือ นั่นหมายความว่ามีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่มีหนังสือนิทานที่บ้าน แต่ไม่ได้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง
สำหรับจังหวัดที่มีการอ่านมากที่สุดคือ ศรีสะเกษ และน้อยที่สุดคือ เชียงใหม่ เช่นเดิม เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยของจำนวนวันในหนึ่งสัปดาห์ที่ผู้ใหญ่อ่านนิทานให้เด็กฟัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่อ่านนิทานให้เด็กปฐมวัยฟังโดยเฉลี่ยเพียง 1.1-1.6 วันต่อสัปดาห์
สาเหตุหนึ่งของการที่ผู้ใหญ่อ่านนิทานให้เด็กฟังน้อยมาก อาจจะมาจากการมีหนังสือที่ไม่หลากหลายมากพอ ทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นจากเด็กมากนัก ซึ่งส่วนนี้อาจจะแก้ปัญหาได้ด้วยการส่งเสริมสถานศึกษาให้เด็กปฐมวัยยืมหนังสือกลับไปให้ผู้ปกครองอ่านให้ฟัง เพราะสถานศึกษามีแนวโน้มที่จะมีหนังสือที่หลากหลายมากกว่า
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกันคือ การที่ครอบครัวส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้เรียนพิเศษหรือกิจกรรมเสริม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า มีเด็กปฐมวัยเพียงเล็กน้อยที่ได้รับการส่งเสริมให้ได้เรียนพิเศษหรือกิจกรรมเสริม โดยจังหวัดที่มีมากสุดคือ ภูเก็ต ส่วนจังหวัดที่น้อยสุดคือ กาญจนบุรี
แน่นอนว่า งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการสรุปว่า ครอบครัวควรจะต้องลงทุนให้เด็กได้เรียนพิเศษหรือกิจกรรมเสริมหรือไม่ เพราะบางกิจกรรมอาจจะมีประโยชน์ แต่บางรูปแบบอาจจะเป็นการเร่งรัดเด็กจนเกินไปก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้ น่าจะสะท้อนถึงสภาพแวดล้อมและการสนับสนุนของครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย