ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุผลสำรวจการทำงานของประชากรในเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 พบว่า จำนวนผู้ที่มีงานทำมีทั้งหมด 37.71 ล้านคน และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จำนวนผู้ที่มีงานทำมีทั้งหมด 38.26 ล้านคน ลดลงไปถึง 550,000 แสนคน
ตอกย้ำข้อมูลดังกล่าวด้วยงานวิจัย ‘โครงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน’ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่มีจุดประสงค์เพื่อประเมินความพร้อมของเด็กและเยาวชนไทยในการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
ประโยชน์ของการประเมินความพร้อมของเด็กในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน (career readiness) คือการสำรวจเพื่อสร้างเครื่องมือในการช่วยให้ผู้เรียนในฐานะเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นแรงงานสำคัญ ได้ประเมินระดับความพร้อมของตนเอง และสามารถค้นหาอาชีพที่ตนเองต้องการ ช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการศึกษาเล่าเรียน และลดอัตราการออกกลางคัน ลดการทำงานไม่ตรงกับวุฒิการศึกษา
ส่วนหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุไว้ว่าแรงงานในประเทศไทยขาดทักษะพื้นฐานและขาดอุปนิสัยที่ดีของคนทำงาน ทำให้มีคุณสมบัติที่ไม่ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
จากการสำรวจความพร้อมทำงานของแรงงานจบใหม่ พบว่า มีทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานตามที่นายจ้างคาดหวังไว้ จึงเกิดปัญหาด้านช่องว่างทักษะ (skill gap) ขึ้น ซึ่งช่องว่างทักษะนี้เป็นภาพสะท้อนของความพร้อมในการทำงาน บทความชิ้นนี้พาไปสำรวจสถานการณ์ด้านความต้องการกำลังคนและปัญหาช่องว่างทางทักษะแรงงาน โดยเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ตามลำดับ เพื่อประมวลทิศทางของสถานการณ์ด้านความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงานโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
ไทย
เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labor) กับการจ้างงานทั้งหมด ในภาคการผลิต 6 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือมากที่สุดคิดเป็น 83.5 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะมีผู้จบการศึกษาในระดับสูงและมีแรงงานมีฝีมือจำนวนมาก แต่ระบบการศึกษาไทยถูกวางรากฐานเพื่อตอบสนองการเติบโตของเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ส่งผลให้ผู้เรียนที่จบออกมาไม่สามารถปรับตัวกับโลกการทำงานในภาวะปัจจุบัน ผลลัพธ์ครั้งนี้ช่วยย้ำว่าประเทศไทยมีแรงงานทักษะน้อยกว่าที่ควรจะมีในตำแหน่งงานหรือวุฒิที่ได้รับ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นแรงงานที่มีปัญหาช่องว่างทักษะนั่นเอง
จากรูปจะเห็นว่าใน 6 ประเทศ ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานไร้ฝีมือสูงกว่ามาเลเซีย 0.3 เท่า สูงกว่ากัมพูชา 3.2 เท่า สูงกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย 4 เท่า และสูงกว่าฟิลิปปินส์ถึง 8 เท่า
ตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดปัญหาเชิงโครงสร้างตลาดแรงงานของประเทศ ซึ่งเกิดจากสาเหตุ 2 ประการที่เกี่ยวข้องกัน คือ การมุ่งสร้างคนในระดับปริญญาตรีโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ในภาคปฏิบัติได้ดีพอ
นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทยต้องแก้ไขและพัฒนาต่อไป
สหรัฐอเมริกา
สถานการณ์ความต้องการแรงงานในสหรัฐ มีความแตกต่างกันในแต่ละเมือง ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น เช่น ในช่วงปี ค.ศ. 2013-2015 นิวยอร์คต้องการกำลังคนในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสุขภาพ ขณะที่มลรัฐอื่นๆ อาจมีความต้องการแรงงานที่ต่างออกไป
ปัจจุบันสหรัฐขาดแคลนแรงงาน 3 กลุ่มทักษะ กลุ่มแรกคือ ทักษะจำเป็นขั้นพื้นฐานของแรงงาน โดยครอบคลุมทั้งทักษะด้านความรู้ (hard skill) และทักษะทางความคิด (soft skill) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ การสื่อสารเบื้องต้น การอ่าน ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน กลุ่มที่ 2 คือแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ต้องการมากที่สุดคือ แรงงานที่มีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM)
สาเหตุที่ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานหลักๆ นอกจากคุณสมบัติของแรงงานไม่เป็นไปตามที่นายจ้างต้องการแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากสหรัฐเองมีกลุ่มแรงงานจะเกษียณอายุจำนวนมาก ทำให้นายจ้างต้องรับคนงานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานเข้ามาแทน
สหราชอาณาจักร
สถานประกอบการกว่าร้อยละ 48 ในสหราชอาณาจักรประสบความสำเร็จในการรับสมัครแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ ซึ่งเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับข้อมูลในปีก่อน แต่หากมองในภาคการผลิตและภาคบริการแล้ว พบว่ายังมีปัญหา เพราะขาดแคลนแรงงานมีฝีมือที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ในขณะที่ภาคบริการจะขาดแคลนแรงงานประเภทผู้จัดการ ผู้บริการ ซึ่งในอนาคตอีกประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า ภาคธุรกิจที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะระดับกึ่งฝีมือขึ้นไปมากที่สุด ได้แก่ ภาคก่อสร้าง ภาคบริการ และภาคค้าปลีกและการขนส่งกระจายสินค้า ตามลำดับ
ทว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2016 ส่งผลให้ปัญหาด้านแรงงานทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่มีใดหน่วยงานในสหราชอาณาจักรรับผิดชอบเรื่องการสำรวจลักษณะและขนาดของปัญหาช่องว่างทักษะแรงงานโดยตรง
สหภาพยุโรป
ยุโรปมีแนวทางในการเตรียมกำลังคนให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต จึงมีความต้องการกำลังคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยทักษะที่เป็นที่ต้องการและคาดว่าจะต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตคือ e-skill และทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (computer science)
ปัจจุบันกำลังคนไม่ต่ำกว่า 80 ล้านคนในยุโรปที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่นายจ้างต้องการ เกิดขึ้นกับคนงานร้อยละ 42 ในประเทศกรีซ ร้อยละ 41 ในโปรตุเกส และร้อยละ 37 ในเยอรมนี โดยทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการของนายจ้างมากที่สุดคือ ผู้จัดการ กลุ่มงานสุขภาพ ครูอาจารย์ และกลุ่มงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สาเหตุที่ทำให้เกิดช่องว่างทักษะในยุโรป เนื่องจากเด็กจบใหม่ไม่ได้รับการฝึกฝนและเตรียมพร้อมเกี่ยวกับทักษะที่ผู้ประกอบการต้องการได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งเกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจ้างงาน ทำให้ทักษะของกำลังคนที่มีอยู่ไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนที่มีทักษะสูงขึ้น นั่นคือ ยิ่งมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดช่องว่างทักษะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย