รายงานของธนาคารโลก ปี 2563 ได้ทำการสำรวจดัชนีโอกาสของเด็กและเยาวชนไทยในการเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากร และบริการสาธารณะต่างๆ พบว่า เด็กไทยในแต่ละภูมิภาคยังมีความเหลื่อมล้ำของโอกาสอย่างเห็นได้ชัด เช่น เด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ อายุระหว่าง 6-14 ปี มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สามารถเข้าถึงโอกาสครบทุกด้าน ในขณะที่เด็กและเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีโอกาสเช่นนั้น
ในรายงานของธนาคารโลกมีข้อเสนอเชิงนโยบายด้วยว่า ภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรเร่งส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้สามารถพัฒนาไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดงานที่เน้นทักษะมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับโอกาสที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในด้านการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
ในแง่ภาพรวมระดับประเทศ ภารกิจดังกล่าวย่อมเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับกระทรวง ทบวง กรม ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาการศึกษา แต่หากมองในภาพย่อยระดับพื้นที่ กลไกหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยกระจายความเท่าเทียมไปสู่ทุกหย่อมหญ้าคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เนื่องจากเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ได้สัมผัสและรับรู้กับปัญหาในพื้นที่เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีบทบาทโดยตรงต่อการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาในระดับท้องถิ่น
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีเด็กราว 2 ล้านคน อยู่ในความดูแลของ อปท. ทั้งในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กประมาณ 18,000 ศูนย์ และในโรงเรียนสังกัดเทศบาล 1,725 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงนับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้
สิ่งที่ท้องถิ่นสามารถทำได้ทันที คือการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และการออกแบบหลักสูตรการศึกษาเฉพาะตามศักยภาพของแต่ละชุมชน
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นหน่วยงานที่มีอิสระในการบริหารจัดการ และการจัดการศึกษาก็ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า ท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ทุกระดับ ทุกประเภท ให้สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของท้องถิ่น นี่คือบทบาทของเรา” สุพจน์ จิตร์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว
ปัจจุบันมี อปท. หลายแห่งพยายามยกระดับคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ของตนเองให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับโรงเรียนชั้นนำ กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ อาทิ เทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวนโยบายด้านศึกษาที่โดดเด่นในการพัฒนาคนเคียงคู่กับการพัฒนาเมือง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางเทศบาลมีความพยายามที่จะจัดการศึกษาด้วยความเสมอภาค เท่าเทียม และครอบคลุมทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น มีแนวคิดว่า เด็กนักเรียนในสังกัดเทศบาลทั้ง 11 แห่ง จะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างทั่วถึงและสอดคล้องตามศักยภาพของตัวเด็กเอง ทั้งในด้านวิชาการและด้านทักษะชีวิต เพื่อให้เด็กพัฒนาตัวเองตามความถนัด
นายกฯ ธีระศักดิ์ ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่ต้องมุ่งเน้นควบคู่กันคือ การสร้างคุณสมบัติของเด็กที่พึงประสงค์ ได้แก่ อดทน มีวินัย รับผิดชอบ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญู และสำนึกรักท้องถิ่น เมื่อเรียนจบแล้วต้องกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
“การพัฒนาเมืองย่อมไม่อาจสำเร็จได้ถ้าขาดการพัฒนาคน ฉะนั้นทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนในวันนี้เติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เราจึงทุ่มเททรัพยากรในด้านการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ เห็นได้จากงบประมาณของเทศบาลที่ทุ่มให้กับการศึกษากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด เพื่อสร้างโอกาสที่ดีที่สุดให้กับเด็กและเยาวชน” นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าว
เช่นเดียวกับเทศบาลนครเชียงรายที่ให้สัญญาประชาคมไว้ว่า จะนำพาท้องถิ่นก้าวสู่การเป็น ‘นครแห่งการศึกษา’ ภายใต้แนวคิดในการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ มุ่งสร้างโอกาสที่ดีที่สุดให้แก่ลูกหลานชาวเชียงราย สามารถตอบสนองความต้องการของนักเรียนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางสถานะเศรษฐกิจและสังคม
วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวไว้ว่า การประกาศนโยบายสร้างการศึกษาสู่ความเป็นเลิศของเทศบาล ทำให้คนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น เพราะเห็นว่าท้องถิ่นเอาจริงเอาจัง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา เทศบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับด้านการศึกษาสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น เทศบาลนครภูเก็ตที่มีการทุ่มเททรัพยากรและงบประมาณให้กับการศึกษาโดยจัดลำดับความสำคัญไว้เป็นอันดับต้นๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า การจะแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศ อาจต้องเริ่มต้น ณ จุดเล็กๆ คือจากระดับท้องถิ่นก่อนจะขยายไปสู่ระดับประเทศ
“เพราะท้องถิ่นย่อมรู้จักพื้นที่ รู้จักคน และรู้จักปัญหาของตัวเองดีที่สุด” สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวถึงหัวใจของการทำงาน
เทศบาลนครภูเก็ตใช้วิธีเดินหน้าเข้าหาปัญหาด้วยยุทธศาสตร์เชิงรุก โดยมีการจัดทำ ‘พิมพ์เขียวการศึกษา’ ที่มีการสำรวจและเก็บข้อมูลจำนวนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ระดับการศึกษา จำนวนสมาชิกในครอบครัว สถานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางที่ทุกหน่วยงานในท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลไปใช้ร่วมกันได้ ตลอดจนมีการติดตามผล และหาแนวทางช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหา
“เทศบาลเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด เด็กทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง เราพยายามจัดการศึกษาที่รองรับเด็กทั้งในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ถ้าเด็กคนไหนไม่มีสถานะ เราก็ต้องช่วยเหลือดูแลเรื่องการออกบัตรประชาชนให้ ฉะนั้น ไม่ว่าเด็กจะมาจากพื้นฐานที่แตกต่างกันแค่ไหนก็ตาม แต่แนวคิดของเราก็คือ เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน”
การจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่อาจอาศัยพลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงฝ่ายเดียว หากต้องบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ปกครองและเยาวชน ให้มาร่วมกันระดมความคิดและเสนอทางออก
จะเห็นได้ว่า การศึกษาคือจุดคานงัดที่สำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม บทบาทในการจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนอกจากจะเป็นผู้นำในพื้นที่ของตนเองแล้ว ยังสามารถเป็นเจ้าภาพในการเชิญชวนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้มาร่วมมือกันทำงานด้านการศึกษาได้
แม้ท้องถิ่นจะเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ เมื่อเทียบกับภาพรวมระดับประเทศ แต่ก็นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้