ภาวะโภชนาการเกินหรือภาวะน้ำหนักเกิน (overnutrition) ในเด็ก ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินในเด็กนั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็ก รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อีกด้วย
ภาวะโภชนาการเกิน เกิดจากการบริโภคอาหารหรือสารอาหารที่เกินกว่าความต้องการของร่างกาย เช่น บริโภคอาหารที่ให้พลังงานเกินกว่าที่ร่างกายจะใช้ ร่างกายจึงเกิดการสะสมพลังงานเหล่านั้นไว้ในรูปของไขมัน ทำให้เกิดโรคอ้วน หรือหมายรวมถึงการได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไป จนอาจสะสมและก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน
ดูเหมือนว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 จะยิ่งบ่มเพาะให้สภาวะดังกล่าวขยายตัวมากยิ่งขึ้นกว่าในสถานการณ์ปกติ เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ หรือ ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ นั้นทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางออกนอกบ้าน และกลุ่มสำคัญที่สุดที่ได้รับผลกระทบไปด้วยคือ กลุ่มเด็กนักเรียน ที่ต้องหยุดการไปโรงเรียนและเลื่อนวันเปิดเทอมออกไป จากเดิมคือเดือนพฤษภาคม เลื่อนไปจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม 2563
สถานการณ์เช่นนี้ สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย อธิบายถึงข้อกังวลที่เกิดขึ้นในวงการการศึกษาไทยไว้ว่า สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ เด็กสองกลุ่ม คือ เด็กขาดสารอาหาร และเด็กที่มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน
“กลุ่มที่น่าห่วงมาก คือกลุ่มที่มีภาวะโภชนาการเกิน หรือเด็กอ้วน เนื่องจากเวลาเด็กอยู่บ้าน เขาจะกินขนมกรุบกรอบ กินอย่างเดียว ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ส่วนอาการผอมหรือขาดสารอาหาร มักจะเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เมื่อเกิดไวรัสระบาด ทำให้เด็กต้องอยู่ที่บ้านนานถึงเกือบ 4 เดือน
“การที่พ่อแม่ของเด็กที่เคยไปทำงาน แต่พอเกิดโรคระบาด ตกงานไม่มีงานทำ รายได้ไม่เข้า กลุ่มชนเผ่า กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มคนที่อยู่ในสลัม ชุมชนแออัด หรือกลุ่มที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว กลายเป็นการถูกซ้ำเติม และยังมีผลกระทบต่อเด็กอย่างใหญ่หลวง
“จากงานวิจัยหลายชิ้น บอกได้ว่า หากเปิดเทอมแล้ว ถ้าลองมาชั่งน้ำหนักเด็ก โดยเปรียบเทียบน้ำหนัก-ส่วนสูงของเด็กกับปีที่ผ่านมา เชื่อได้เลยว่าเด็กที่ขาดสารอาหารจะมีเยอะขึ้น คำว่าขาดสารอาหารก็คือผอม เตี้ย เจริญเติบโตไม่สมวัย ในขณะเดียวกันก็จะมีเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะตลอด 4 เดือน เขาเปิดตู้เย็นทั้งวัน กินขนมกรุบกรอบทั้งวัน” สง่าตั้งประเด็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปิดเทอมยาว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 อาจจะทำให้เด็กอ้วนเพิ่มสูงกว่าเด็กขาดสารอาหารด้วย นักโภชนาการผู้เขียนตำราเกี่ยวกับโภชนาการมากมาย กล่าวถึงสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นคือ หากเป็นค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ เด็กอ้วนอาจจะมีจำนวนมากกว่า เพราะโดยภาวะปกติที่ไม่มีโรคระบาด สัดส่วนของเด็กอ้วนจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 13 ขณะที่เด็กผอม ในภาวะปกติจะมีสัดส่วนอยู่ระหว่างประมาณร้อยละ 4-6 ดังนั้นถ้านำภาวะขาดสารอาหารและโภชนาการเกินมาวัด จะมีความแตกต่างในแง่การเพิ่มขึ้นของเด็กทั้งสองกลุ่ม
สง่ากล่าวเพิ่มเติมถึงกลุ่มเด็กที่อยู่ชายขอบของสังคมไว้ด้วย ซึ่งมีความน่ากังวลมากยิ่งกว่าเด็กนักเรียนทั่วไปว่า “ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเปราะบาง กลุ่มยากแค้น กลุ่มจนพิเศษ กลุ่มที่ไม่มีจะกิน เปอร์เซ็นต์ของการขาดสารอาหารต้องเพิ่มขึ้นเป็น 10 แน่นอน”
ข้อสังเกตของนักโภชนาการไทยสอดคล้องกับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาซึ่งเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกับไทยด้วย คือ ประเทศอินเดีย ในบทความวิจัยเรื่อง ‘Overnutrition among Schoolchildren in India: a review and meta-analysis’ ตีพิมพ์ใน The Lancet Global Health Volume 6, Supplement 2, March 2018, Page S25 เสนอว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน กลุ่มนี้มีน้ำหนักเกินมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก
ในการวิเคราะห์กลุ่มย่อย งานชิ้นนี้พบว่า ความแตกต่างในความหนาแน่นของภาวะโภชนาการเกินในกลุ่มเพศนั้น พบได้น้อยกว่าปัจจัยจากความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท และผลการศึกษาส่วนใหญ่ยังพบว่ามีความแตกต่างระหว่างการศึกษาด้วย โดยเด็กที่ภาวะโภชนาการเกินจะกระจุกตัวในเมือง ขณะที่เด็กชนบทมีแนวโน้มขาดสารอาหาร ยิ่งกว่านั้นงานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า ภาวะโภชนาการขาดหรือเกินนั้นเกี่ยวพันกับความไม่เท่าเทียมกันในด้านการกระจายคุณภาพทางสาธารณสุขและการศึกษาด้วย
สภาวะความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข เป็นปัจจัยซ้ำเติมให้หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาเด็กที่มีฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพได้ เพราะระบบการผลิตอาหารที่มีราคาถูกสำหรับคนจน ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบที่ทำให้ร่างกายได้รับโภชนาการเกิน ประเด็นด้านโภชนาการนับเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของเด็กไทยและเด็กทั่วโลกที่ไม่ควรมองข้ามไปได้
อ้างอิง:
Poor facing more risks from coronavirus due to malnutrition: Report