การเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยให้สามารถก้าวเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างไร้รอยต่อ นับเป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายภายใต้บริบทการพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังคมปัจจุบัน รายงานวิจัย ‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยสำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงเกิดขึ้นเพื่อศึกษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละจังหวัดได้อย่างเหมาะสม
มีหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนมากรองรับว่า ความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของเด็กเมื่อเข้าสู่ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น รวมถึงมีส่วนต่อการส่งเสริมให้เด็กประสบความสำเร็จในอนาคต ด้วยเหตุนี้เด็กปฐมวัยจึงควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัย
คณะผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือสำรวจในพื้นที่ 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ ศรีสะเกษ ระยอง กาญจนบุรี และภูเก็ต โดยมุ่งเน้นเด็กปฐมวัยที่มีความเปราะบางหรือเด็กหางแถวในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก ประกอบด้วย กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 2,907 คน จาก 151 โรงเรียน ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้จากการสอบถามครูผู้สอนจำนวน 2,820 คน (คิดเป็นร้อยละ 97.0) ข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้จากการสอบถามผู้ปกครองและข้อมูลพื้นฐานของครอบครัวจำนวน 2,456 คน (คิดเป็นร้อยละ 84.5) ข้อมูลพื้นฐานของครูผู้สอนจำนวน 273 คน ข้อมูลสถานศึกษาจากการสอบถามผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหมด 145 โรงเรียน และข้อมูลการสังเกตห้องเรียนจำนวน 384 ห้อง
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ความพร้อมของเด็กปฐมวัยไทยในบางประเด็นยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อาทิ ด้านการรู้จักตัวเลข (number identification) ด้านการแปลงรูปในใจ (mental transformation) ด้านความเข้าใจในการฟัง (listening comprehension) ด้านความจำขณะทำงาน (working memory) และด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor) ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่น่าเป็นกังวล เนื่องจากความพร้อมเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่อผลสัมฤทธิ์ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านในระดับประถมศึกษาหรือระดับที่สูงขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ในด้านความพร้อมของสถานศึกษาก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ โดยห้องเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ยังขาดความพร้อมในด้านรอยต่อระหว่างอนุบาลและประถมศึกษา (transition) ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้ความพร้อมของเด็กอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ในด้านความพร้อมของครอบครัวพบว่า มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่เคยประสบปัญหาอาหารไม่เพียงพอในรอบ 1 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบเด็กปฐมวัยด้านความเข้าใจในการฟัง ด้านการรู้จักตัวเลข และด้านการแปลงรูปในใจ พบว่า เด็กในครอบครัวที่เคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอแก่การบริโภค มีความพร้อมต่ำกว่าเด็กในครอบครัวที่ไม่เคยมีปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างชัดเจน
ดังนั้น ความขัดสนของครอบครัวจึงส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลไม่เต็มที่ ซึ่งกระทบต่อความพร้อมของเด็กและส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาในที่สุด
คณะผู้วิจัยเสนอว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาควรที่จะมุ่งเน้นให้การสนับสนุนครอบครัวที่มีความขัดสนหรือครอบครัวยากจนโดยตรง ซึ่งจะส่งผลต่อความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัยด้วยเช่นกัน
ผลจากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลในโครงการครั้งนี้ จะช่วยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษามีเครื่องมือทางวิชาการให้สามารถพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย ช่วยอุดช่องว่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้นทาง ก่อนที่เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น การสำรวจนี้จะช่วยให้แต่ละพื้นที่ได้เข้าใจถึงสภาพปัญหาหรือประเด็นที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับพื้นที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ