หลังจากโรงเรียนเตรียมกลับมาเปิดเทอมอีกครั้ง และนักเรียนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มากขึ้น นักการศึกษาจำนวนมากจึงให้ความสนใจกับ ‘สภาวะสูญเสียการเรียนรู้’ (Learning Loss) กันมากเป็นพิเศษ ทว่าอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่กำลังส่อแววว่าจะขยายความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่าง ‘สภาวะสมองตัน’ (Cognitive Overload) กลับมีการพูดถึงน้อยกว่าที่ควรจนน่าตกใจ
สภาวะสมองตัน แม้เป็นศัพท์ทางการแพทย์ แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างทางการศึกษาของไทยเอื้อให้เกิดสภาวะนี้สูง ซ้ำด้วยวิกฤติโควิด-19 ที่เร่งสภาพปัญหาให้ก้าวกระโดดไปกว่าเดิม และอาจสร้างรอยประทับบางอย่างในระยะยาวแก่ตัวตนของเด็กรุ่นต่อไปในอนาคตได้
ด้วยเหตุนี้ การพูดคุยกับ รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาคการศึกษาตลอดชีวิต และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงอาจจะสามารถมอบคำอธิบายสภาวะนี้ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาที่กำลังลุกลามเพื่อหาทางป้องกันได้ต่อไป
นิยามของ Cognitive Overload คืออะไร
หากจะนิยามอย่างไม่เป็นทางการ เรียกว่าเป็นเรื่องการทำงานของสมองและความจำ จริงๆ เรามีทั้งความจำระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งสภาวะสมองตันจะเกี่ยวข้องกับความจำระยะสั้นที่เวลาเรารับข้อมูลมาแล้วจะมีการประมวลผล จากนั้นก็จะเก็บเข้าไปในแทงก์ของความจำระยะยาวต่อไป ประเด็นก็คือ สภาวะสมองตันนี้เกิดจากข้อมูลในสมองที่ล้นเกินจนเก็บไม่ไหว ทำให้เกิดปัญหา Overload ในการรับข้อมูล พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเราไปถึงซอยตัน ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ เพราะข้อมูลมันมากเกินไป
แบบนี้จะมีผลระยะยาวหรือไม่ หรือว่าไม่นานก็หาย
จริงๆ แล้วถ้าตามหลักมันจะมีผลระยะยาว คือเหมือนกับเวลาที่เราเรียนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ หรือแม้แต่การเรียนในภาวะปกติก็ตาม ถ้าได้รับข้อมูลมากเกินไปก็จะมีผลต่อความเหนื่อยล้า แล้วก็จะส่งผลต่อระยะยาวในเรื่องของการ Burnout (ภาวะหมดไฟ) ความสนใจใคร่รู้อะไรต่างๆ ก็จะลดลง
ทำไมสภาวะนี้ถึงเกิดขึ้นในช่วงโควิดพอดี
ต้องยอมรับว่าพอโรงเรียนปิด แล้วเปลี่ยนไปเรียนในระบบออนไลน์ หรือแม้จะใช้ระบบผสมผสาน (Hybrid) ก็ตาม แต่ก็ยังมีผลกระทบตามมา
โรงเรียนเองก็พยายามปรับวิธีการเรียนการสอน ปรับวิธีการให้เนื้อหา (Contents) ยกตัวอย่างจากที่บ้านผมเอง เราก็มีลูกเล็ก เราก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือเหมือนกัน สิ่งที่พบก็คือเด็กต้องเรียนหลายวิชา ต้องเข้าเรียนอย่างน้อย 8 สาระวิชา ซึ่งมีเนื้อหาเยอะมาก มีทั้งสอนสดและไม่สด ต้องศึกษาเองก็มี ซึ่งเด็กไม่สามารถเรียนรู้ในระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนั้นได้ อันนี้ต้องยอมรับความจริง 50 นาทีที่ครูพยายามให้ข้อมูลกับเด็กบนหน้าจออาจจะเยอะเกินไป บางโรงเรียนอาจใช้วิธีให้ใบงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เด็กต้องทำเพิ่มขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องหนักจริงๆ สำหรับเด็กคนหนึ่ง ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบเจอหน้าปกติ หรือแม้แต่ระบบออนไลน์ก็ตาม เราจะเห็นภาวะแบบนี้เยอะพอสมควร
ถ้าเช่นนั้น ไม่ว่าจะเกิดโควิด-19 หรือไม่ก็ตาม สภาวะนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้?
เกิดขึ้นได้ สภาวะนี้ไม่ต้องเกิดโควิด-19 หรอก แต่โควิดเป็นตัวเร่งปัญหาเหล่านี้ เพราะครูเองก็ต้องปรับตัวเรื่องการสอน ซึ่งประเทศไทยเราไม่ได้เตรียมตัวเรื่องพวกนี้มาก่อน ต้องยอมรับว่าครูไม่ได้ถูกสอนมาให้ใช้ระบบออนไลน์ แต่เน้นการสอนในระบบปกติเป็นหลัก แต่เมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนมาสอนแบบออนไลน์ก็เลยทำให้มีผลกระทบต่อเด็กค่อนข้างเยอะ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ครูต้องเรียนรู้ในการออกแบบการสอนผ่านระบบออนไลน์ด้วย
สภาวะนี้อันตรายต่อเด็กในช่วงวัยไหนที่สุด
ผมคิดว่าเด็กประถมศึกษาจะกระทบมากที่สุด ถึงแม้ว่าความจำของเด็กวัยนี้จะดีแค่ไหนก็ตาม แต่ก็มีผลต่อการ Burnout จริงๆ เพราะเป็นการเรียนแบบเร่งรีบ เร่งอัดสาระวิชา อย่างลูกผม 2 คน เรียน ป.4 กับ ป.1 ซึ่ง ป.1 คือการปรับตัวกับพื้นที่ใหม่ เพราะเขาเพิ่งออกจากอนุบาล ส่วนลูกคนโตเรียน ป.4 ก็ค่อนข้างมีผลกระทบสูง ตอนเรียนแรกๆ ก็โอเคอยู่ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็จะเห็นว่าเขาไม่สามารถจดจำเนื้อหาทุกเรื่องได้ แล้วมันมีผลต่อความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ เพราะความเหนื่อยล้า ความเครียด ความกังวลที่เข้ามาแทรก ซึ่งผมมองว่าเด็กในวัยช่วงต้นของชีวิตน่าจะได้รับผลกระทบสูงกว่าช่วงมัธยมศึกษา
สภาวะ Burnout ของเด็กเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามักพบในกลุ่มคนวัยทำงาน
ลองนึกภาพก็ได้ครับ ก่อนที่เด็กจะเข้ามหาวิทยาลัยก็จะถูกเร่งทุกอย่างตั้งแต่ประถม-มัธยมใช่ไหมครับ คือสังคมเรามีระบบการแข่งขันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทุกอย่างจึงต้องเร่งอัดเรียน ตอนนี้บ้านเราเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรสมรรถนะ ซึ่งแนวโน้มก็อาจจะดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราเรียน ‘Content-based’ ที่เน้นเนื้อหา 8 สาระวิชา แม้ว่าข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจะเน้นการวิเคราะห์มากขึ้นก็ตาม ครูจึงยังติดอยู่กับเรื่องเนื้อหาวิชาอยู่ เรามักจะได้ยินคำนี้บ่อยๆว่า “แย่แล้ว สอนไม่ทัน” คือสอนเรื่อง Contents ไม่ทัน เพราะมันมีหลายเรื่องต้องสอน แล้วก็อัดเข้าไป
สภาวะแบบนี้ถูกสั่งสมมานาน สั่งสมมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงต้นของชีวิตในวัยประถมถึงมัธยม เหมือนเร่งเรียนเนื้อหา จนสุดท้ายความเหนื่อยกับความล้ามันเกิดขึ้น พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เหมือนกับว่า “เฮ้อ มันปลดปล่อยแล้วนะ” เป็นภาวะที่แบบว่า ไม่เอาอะไรแล้ว พอแล้ว ทำให้เวลาเด็กเข้ามหาวิทยาลัยก็เลยต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่อีกรอบ
มีผลกระทบในมิติอื่นอีกไหม นอกจากมิติทางการแพทย์
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับระบบสังคมของบ้านเราในหลายด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงระบบการศึกษา ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นว่าแต่ละโรงเรียนได้รับงบประมาณการศึกษาที่ไม่เท่ากัน แต่ทุกคนต้องมาเรียนเร่งอัดเหมือนกัน หรือเรียกได้ว่าการเข้าถึงระบบการจัดการการเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งตรงนี้มีผลต่อเขามาก ทำให้เด็กเข้าถึงความรู้ได้ไม่เท่ากัน ซึ่งสาเหตุอาจจะไม่ใช่เรื่องของงบประมาณโดยตรงก็ได้ แต่พอเด็กเหนื่อยล้า เครียด ผสมกับกังวล ก็ทำให้เขาเข้าไม่ถึงวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม
ความเหลื่อมล้ำตรงนี้อาจไม่ได้หมายถึงแค่ตัวงบประมาณนะ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องการส่งเสริมความรู้ให้กับเด็กสักคนว่า ควรจะได้รับการเรียนรู้อย่างไรถึงจะเหมาะสมกับเขา เหมาะกับสภาพที่เขาเป็นอยู่ แล้วเราก็จะเห็นภาพว่า ทุกอย่างมันมีรูปแบบเดียว พูดง่ายๆ ว่าเหมือนเราดูแลเด็กคนหนึ่ง แต่เราไม่มองเห็นว่ามันมีภาวะอะไรอย่างอื่นในตัวเด็กอีกบ้าง เช่น เด็กที่มีปัญหาอาจจะต้องได้รับการดูแลมากขึ้น แต่พวกเขากลับได้รับการดูแลเท่ากัน หรือบางทีไม่ได้รับการดูแลเลยพอๆ กัน ตรงนี้ก็สะท้อนความไม่เท่ากันของตัวระบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวห้องเรียนเอง ตัวโรงเรียนเอง หรือแม้แต่ระบบของโรงเรียนที่ต่างกัน ซึ่งอันนี้ผมไม่แน่ใจว่าจะเรียกว่าความเหลื่อมล้ำหรือเปล่านะ แต่ก็เป็นลักษณะหนึ่งที่พอจะเห็นได้ว่ามีผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการเรียนรู้ที่ Overload
ถ้าจะพูดบนฐานของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แปลว่าเด็กที่อยู่ในจุดที่ดีก็จะรอดพ้นจากสภาวะ Cognitive Overload ใช่หรือไม่ หรือว่าก็ต้องเจอสภาวะนี้เหมือนกัน
เท่าที่เคยศึกษาหรือเคยคุยกับครูบางโรงเรียน มันก็ไม่ได้แตกต่างกัน ไม่ว่าเด็กที่มีฐานะดีหรือเด็กไม่มีฐานะ เราต้องยอมรับความจริงว่า บางทีเด็กที่มีฐานะดีก็โดนเร่งเรียนเหมือนๆ กัน เพียงแต่บางโรงเรียนที่มีเด็กฐานะดีก็อาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ มีกระบวนการ มีคุณครูดีๆ ที่เข้าไปทำงานเยอะกว่า จึงมีวิธีการจัดการได้ดีกว่า
กรณีที่เด็กได้รับวัคซีน 2-3 เข็มแล้ว และกำลังจะเปิดเทอม จะเจอปัญหาอะไรต่อจากนี้บ้าง
ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้เด็กเริ่มเปิดเรียนแล้ว บางโรงเรียนก็เริ่มทยอยเปิด อย่างสาธิตจุฬาฯ ที่ลูกผมเรียน สิ้นเดือนนี้ก็จะเข้าโรงเรียนแล้ว ทางโรงเรียนก็ควรจะต้องมองเห็นว่าสภาวะ Cognitive Overload เป็นประเด็นสำคัญ นอกเหนือจากสภาวะ Learning Loss ที่เด็กสูญเสียการเข้าถึงการเรียนรู้ด้วย ซึ่งหลังจากเปิดเทอมแล้วทางโรงเรียนก็ควรเช็กข้อมูลกับเด็กๆ เช่นกัน ว่าเด็กมีสภาวะนี้หรือไม่ คือต้องใช้เครื่องมือตั้งแต่คุณครูที่ปรึกษาหรือคุณครูผู้สอนในรายวิชาต่างๆ มาเฝ้าสังเกตการณ์ อันนี้ยังไม่พูดถึงเรื่องวิธีการว่าจะต้องปรับตัวยังไงนะ เราพูดถึงแค่วิธีการขั้นต้นว่าโรงเรียนจะต้องปรับตัวยังไงก่อน
แปลว่าโรงเรียนจะต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นในการจัดการเรื่องนี้
การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นก็คงไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องเงินทอง คือศักยภาพของคุณครูจะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม พูดง่ายๆ จะไม่ใช่แค่ดูในเรื่องของวิชาการ แต่อาจจะต้องดูแลในเรื่องสภาวะอารมณ์ต่างๆ มากขึ้น
ถ้าถามว่าโรงเรียนไทยพร้อมรับมือเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เท่าที่ผมศึกษามานะครับ โรงเรียนอาจจะไม่ได้พูดถึงสภาวะ Cognitive Overload มากนัก แต่พูดถึง Learning Loss กันมากกว่า เพราะดูเหมือนว่าเด็กจะถอยหลังในเรื่องการเรียนรู้ไปประมาณ 1-2 ปี ดังนั้น อาจจะต้องมีการสื่อสารสาธารณะในเรื่อง Cognitive Overload ให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าในไทยอาจจะยังไม่มีงานวิจัยมารองรับ แต่ถ้าเราศึกษางานของต่างประเทศจะพบว่ามีการพูดถึงคำคำนี้อยู่พอสมควร
ถ้า Learning Loss หมายถึงสภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยไป 1-2 ปี อาจทำให้เด็กถูกกวดขันให้เร่งเรียนมากขึ้นอีก แบบนี้จะเป็นการซ้ำเติม Cognitive Overload ด้วยไหม
มีแนวโน้มสูง มันเป็นเรื่อง Content-based คือเราลองนึกถึงตัวเราเองก็ได้ว่าต้องผ่านการเรียนหนักขนาดไหน มันโหลดแค่ไหน กลไกสมองรับไม่ไหวจริงๆ แล้วเรายังเอา Contents ยัดเข้าไปอีก การ Overload ก็จะตามมา
พอจะมีคำอธิบายหรือไม่ว่า ทำไมประเทศไทยถึงยังติดกับ Content-based แบบนี้อยู่
ถ้ามองสถานการณ์การศึกษาไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหลักสูตร การกำหนดให้มี 8 สาระวิชา แล้วสถาบันฝึกหัดครูก็เน้นตรงนี้ แต่เรายังไม่มีหลักสูตรที่บูรณาการจริงๆ ตัวหลักสูตรก็เป็นส่วนหนึ่ง ตัวฝึกหัดครูก็เป็นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือตัวระบบสังคมเราเอง เราคาดหวังกับการเข้าสู่มหาวิทยาลัย มันก็หนีไม่ได้ที่จะต้องสอน Contents ให้ครบ เช่น ต้องให้ได้เกรดเท่านี้ ต้องสอบ GAT/PAT อะไรต่างๆ อีก ก็เลยมีผลต่อระบบค่อนข้างมาก
อันที่จริง Content-based ก็เป็นสิ่งจำเป็นนะครับ แต่ถ้ามองทิศทางการศึกษาไทย กระทรวงศึกษาธิการเองก็พยายามปรับตัวโดยการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เขามีมุมมองที่ดี เพราะมีบทเรียนมาเยอะแล้วกับเรื่อง Content-based แต่ประเด็นคือถ้าเราใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ แต่เรายังสอนแบบ Content-based เหมือนเดิม มันก็อาจจะไม่ใช่
การจัดการสอนแบบหลักสูตรฐานสมรรถนะจะช่วยแก้ปัญหา Cognitive Overload ได้อย่างไรบ้าง
ตามหลักก็ควรจะปรับให้เป็นกลุ่มวิชาแบบที่เรียกว่าบูรณาการ แล้ววิธีการสอนก็อาจจะปรับให้เป็นการสอนแบบ Contents เช่น อาจจะสอนแบบ face-to-face แบบที่ประเทศฟินแลนด์ใช้ปรากฏการณ์เป็นฐานในการเรียนรู้ หรือโรงเรียนทางเลือกบางแห่งอาจใช้วิธีการเรียนรู้แบบ Project-based คือ เอาหลายวิชามาควบรวมกันได้โดยไม่ต้องติดกรอบ 8 สาระวิชาแบบเดิม แต่บูรณาการหลายวิชาเข้าด้วยกัน พอจบแต่ละเทอม ก็มานั่งคุยกับเด็กๆ ว่าเทอมต่อไปเด็กสนใจหัวข้อเรื่องอะไร พอได้หัวข้อนั้นมาแล้วก็เป็นหน้าที่ของครูแต่ละวิชาว่าจะจัดธีมการเรียนรู้ให้เกี่ยวข้องกับวิชาที่สอนอย่างไร จะเอาวิชาไหนมาทำร่วมกันในธีมได้บ้าง ซึ่งก็จะลดทอนเรื่อง Content-based ไปได้เยอะ อันนี้คือสิ่งที่มีคนทำอยู่ และผมเชื่อว่าโรงเรียนที่ยังใช้ 8 สาระวิชาเป็นหลักก็อาจจะต้องเรียนรู้เรื่องนี้
เอาเข้าจริงแล้วสภาวะ Cognitive Overload เป็นอันตรายกับเด็กแค่ไหน
ถ้ามองในเรื่องการทำงานของสมอง อาจจะไม่อันตรายในช่วงที่เกิดภาวะนั้น แต่จะมีผลต่อการดำเนินชีวิตของเขา เพราะถ้ารับข้อมูลหนักเกินไปก็จะมีผลต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ การจินตนาการ การสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้ลักษณะของเด็กๆ กลายเป็นคนที่เหนื่อยหน่ายกับการเรียนรู้ไปเลย ไม่รักการเรียนรู้ หรืออาจจะมีผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก ซึ่งผมคิดว่ามันจะมีผลต่อชีวิตในอนาคตของเขาเลย
ถ้าเรามองว่า เด็กจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง มันมีเรื่องเยอะมากนะที่ต้องเรียนรู้ อาชีพรุ่นผมก็แบบหนึ่ง อาชีพรุ่นใหม่ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าเขาเบื่อหน่ายกับการเรียนมันก็อาจจะมีผลกระทบระยะยาวต่อไป
ถ้ามีเหตุจำเป็นให้ต้องเรียนออนไลน์อีก จะมีวิธีอื่นไหมที่จะทำให้ไม่เกิดสภาวะแบบนี้
การสอนแบบออนไลน์ จริงๆ แล้วอาจจะไม่ต้องสอนทุกอย่างแบบสดๆ ก็ได้ ลองนึกภาพดูว่าการสอนสดให้เด็กดูผ่าน Zoom 2 ชั่วโมง มันเป็นไปได้แค่ไหน แม้แต่ตัวเราเองเรายังดูไม่ไหวเลย ดังนั้น หน้าที่ของครูต้องคิดว่าทำยังไงที่จะซอยเนื้อหาให้สั้น กระชับ แล้วก็ชัดเจน
ครูจะต้องเรียนรู้วิธีการเล่าเรื่องที่เร้าพลังมากขึ้น อันนี้ต้องฝึก เพราะจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้การเรียนรู้ไม่เนิ่นนานเกินไป เราต้องยอมรับความจริงว่า เด็กสามารถเรียนรู้จากแหล่งต่างๆ ได้เยอะอยู่แล้วในปัจจุบัน หน้าที่ของครูคือการทำให้เขาเข้าใจชัดเจนขึ้น ถ้าเป็นเรื่องเนื้อหาที่เราต้องสอน ก็สามารถมอบหมายงานให้เขาไปดูตรงนั้นเองได้ แล้วเราค่อยมานั่งคุยกันกับเด็กต่อ เรียกว่า Learning Scapes และสอนสิ่งที่เด็กจำเป็นต้องมี คือการทำให้เขารู้จักใช้คียเวิร์ดในการค้นคำเพื่อเข้าถึงความรู้ ซึ่งบางทีครูบางคนก็ตามนักเรียนไม่ทันเหมือนกัน
สำหรับระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเรียนออนไลน์ ผมว่าไม่เกิน 30-40 นาทีก็พอ อันนี้เป็นข้อมูลที่ได้จากการพูดคุยกับครู กับเพื่อนๆ ที่ทำงานด้านนี้ หรือลูกศิษย์ที่เขาไปเป็นครู เพราะเวลา 50 นาที อาจจะมากเกินไป ต้องพยายามซอยเนื้อหาให้สั้น กระชับขึ้น แล้วส่งเสริมให้เด็กไปศึกษาด้วยตัวเองมากขึ้น
หลังการระบาดขนาดใหญ่จบลง ระบบการศึกษาไทยควรเป็นอย่างไรเพื่อให้ไม่ทำให้เกิดสภาวะ Cognitive Overload
หลังจากนี้สิ่งที่เราน่าจะต้องทวนลำดับแรกคือ กระทรวงศึกษาธิการหรือโรงเรียนต้องตระหนักถึงประเด็น Cognitive Overload ด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องของ Learning Loss อย่างเดียว ลำดับที่สองคือ โรงเรียนจะต้องเตรียมตัวในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ประจำวิชา อาจจะต้องเรียนรู้จากนักจิตวิทยา เพื่อให้รู้ว่าสภาวะนี้มีผลกระทบยังไงและจะจัดการยังไง ซึ่งครูก็ต้องฝึกสังเกตพฤติกรรมของเด็กด้วยว่าเป็นอย่างไร หรืออาจเพิ่มบทบาทของครูแนะแนวให้มากขึ้น
การคัดกรองเด็กในเบื้องต้นได้ก็เป็นสิ่งจำเป็น และควรให้เด็กเข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย คือเด็กจะต้องรู้จัก 2 คำนี้ (Learning Loss และ Cognitive Overload) เด็กควรจะต้องรู้ว่ามันมีสภาวะอะไรบางอย่างสามารถเกิดขึ้นกับเขาได้
อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพูดถึงคือ ต้องมองทิศทางของการศึกษาว่าจะเป็นยังไง ถ้าจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะแล้วควรจะปรับกระบวนท่ายังไง หรืออาจต้องมานั่งคุยเรื่องหลักสูตรบูรณาการกันอย่างจริงจังว่าจะใช้ในเชิงปฏิบัติอย่างไรและใช้ให้ถูกทาง
สิ่งสำคัญคือเราจะต้องเชื่อก่อนว่า เด็กสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เราต้องปรับบทบาทตัวเอง บางเรื่องอาจสอนผ่านระบบได้ อีกส่วนหนึ่งให้เขาไปเรียนรู้ในแหล่งเรียนรู้ที่มันตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ แล้วครูเองก็ต้องมีความสามารถในการนั่งคุยกับเด็กด้วย แบบนี้เด็กก็จะมีวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากขึ้น อันนี้เป็นความเชื่อว่าทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ได้ และเขาสามารถออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของเขาได้ เขาไม่ได้ถูกสอนโดยคนอื่น แต่เขาเรียนรู้ผ่านการตั้งต้นจากตัวเขา และเขาไปเรียนรู้จากวิธีการที่เขาเลือกและรู้จากแหล่งที่เขาสนใจ ระหว่างที่เขาทำก็ชวนเขามาพูดคุยสะท้อนกับครูว่ามีปัญหาอะไรไหม แล้วมาแชร์กันในห้องเรียนได้ เป็นต้น
แบบนี้ต้องหาทางคืนครูให้ห้องเรียนก่อนเลยใช่ไหม
ใช่ ต้องยอมรับความจริงว่า ที่ผ่านมาคุณครูทำหน้าที่หลายอย่าง ก็เห็นด้วยกับการที่ต้องคืนครูสู่ห้องเรียน และต้องคืนการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ด้วย แต่ก็มีคนถามว่าแล้วเด็กเล็กๆ จะเรียนรู้ได้เหรอ อันนี้ก็ต้องเชื่อก่อนว่าเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เวลาเราให้เด็กนั่งเล่นของเล่น ถ้าเราไม่ไปยุ่ง จะเห็นว่าเด็กกำลังเรียนรู้อะไรบางอย่างอยู่ แค่อาจจะเรียนรู้อะไรที่ไม่ตรงใจกับเรา (หัวเราะ)
ถ้าเขาเรียนรู้จากพื้นฐานความสนใจ ถ้าเขาเรียนรู้จากสิ่งที่เขาสนใจใคร่รู้จริงๆ เขาจะสนุกและไม่เบื่อ แต่ถ้าเป็นความรู้ที่ต้องถูกถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ก็มีแนวโน้มจะเกิดสภาวะ Cognitive Overload ได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาคิดหรือสิ่งที่เขาต้องการ
ในหนึ่งห้องเรียน เด็กแต่ละคนมีอัตราการ Overload ไม่เท่ากัน จะจัดการตรงนี้อย่างไร
คืออันนี้ที่ผมฝันเลยนะ เราสามารถออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ได้ไม่เหมือนกัน จังหวะเวลาในการเรียนรู้ก็ไม่ควรจะเท่ากันด้วย ถ้าใช้ตารางสอนแบบเดิมก็จะลำบาก แต่ถ้าเราใช้วิธีการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความสนใจ ก็อาจจะเป็นการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กได้ ซึ่งปัจจุบันยังมีแค่ในโรงเรียนทางเลือกกับ Home School อยู่
โดยสรุปคือต้องปรับทั้งองคาพยพของการศึกษา ตั้งแต่ระดับปัจเจก ครู และระบบในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นระบบการดูแลเด็ก ระบบหลักสูตร ย้อนไปถึงกระทรวงศึกษาธิการเองก็ต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ต้องปรับวิธีการเรียนรู้ให้กับนิสิตที่จะเข้าไปเป็นบุคลากรทางการศึกษาด้วย
ทางออกสำคัญคือ เราต้องสามารถออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แบบเดิมๆ ไม่อย่างนั้น 5 ปีผ่านไป Learning Loss อาจจะแก้ได้ แต่ปัญหาสภาวะ Cognitive Overload ก็จะยังไม่จบ