วิชา ‘แนะแนว’ อาจเป็นหนึ่งในวิชาที่คนนึกถึงน้อยที่สุดเมื่อพูดถึงวิชาในโรงเรียน หลายคนสงสัยว่าวิชาแนะแนวมีไว้ทำไม เพราะสำหรับบางโรงเรียนเป็นเพียงคาบว่างคาบหนึ่งเท่านั้น ดังเช่นที่ ครูโปปุ้ย-วรีย์ สืบสมุท ครูแนะแนวประจำโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง เคยสงสัยเมื่อครั้งที่เธอเป็นนักเรียน และความสงสัยก็นำเธอไปหาคำตอบโดยการเลือกเรียนจิตวิทยาด้านการแนะแนวเมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย จนได้เข้าสู่เส้นทางของอาชีพครูแนะแนวในที่สุด
ครูโปปุ้ยพบว่า ถึงแม้สิ่งที่เรียนจะได้นำมาใช้ในการสอนนักเรียน แต่ก็ต้องพัฒนาตนเองและหาความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เธอมองว่าวิชาแนะแนวเป็นพื้นที่สำคัญที่ช่วยเปิดทางให้นักเรียนรู้จักตนเอง และครูแนะแนวเองก็ต้องค้นหาและออกแบบวิธีการสอนเพื่อให้นักเรียนได้ประโยชน์มากที่สุด
ที่สำคัญ คาบเรียนวิชาแนะแนวต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
ในแต่ละคาบ คุณครูต้องสอนอะไรกับนักเรียนบ้าง
ครูสอนแนะแนวชั้น ม.3 เป็นหลัก อาจมี ม.2 บ้าง สิ่งที่ครูสอนก็คือเนื้อหาตามที่เราตั้งไว้ทีแรกคือ เราอยากให้เด็กเรียนรู้เรื่องตัวตน อาชีพ สังคม หลักสูตรแนะแนวจะตั้งเป็นโครงคร่าวๆ ไว้ แล้วครูก็จะเอาโครงนั้นมาออกแบบ เวลาเราเรียน 1 ปี มี 2 เทอม เทอมแรกครูก็จะบอกว่านักเรียนต้องเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นตัวเอง ดึงความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะช่วง ม.2-3 เป็นช่วงที่เด็กต้องตัดสินใจ เทอมสองครูก็จะให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของเด็กนักเรียนให้เขารู้ว่าจะไปทางไหนต่อ
ถามว่าทำไมไม่ให้ข้อมูลตั้งแต่เทอมหนึ่ง เหตุผลส่วนตัวคือ ครูสามารถให้ข้อมูลแก่เด็กเท่าไรก็ได้ แต่ถ้าเด็กยังไม่รู้จักตัวเอง ข้อมูลที่เราให้ไป เขาก็ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้อย่างไร แต่ถ้าเขารู้จักตัวเองบ้าง รู้ว่าชอบไม่ชอบอะไร มีความสนใจอะไร เขาก็จะได้หยิบใช้ข้อมูลถูกว่าเขาจะเอาอะไร
นักเรียนเคยสะท้อนให้ฟังไหมว่ารู้สึกอย่างไรกับวิชาแนะแนว
ปลายเทอมครูจะให้เขาเขียน feedback กลับมา เขาค่อนข้างพอใจในระดับหนึ่ง เพราะบางกิจกรรมที่ครูให้เด็กทำ เด็กบอกว่าเขาไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะต้องย้อนกลับมาเล่าทบทวนตัวเอง มันคือการเปิดพื้นที่ให้เขากลับมาทบทวนตัวเอง สามารถเล่าความรู้สึกต่างๆ ได้
เคยแลกเปลี่ยนกับครูแนะแนวท่านอื่นๆ ไหมว่าสอนอย่างไรกันบ้าง
ครูไม่รู้ว่าครูคนอื่นสอนอย่างไร แต่เท่าที่ดูก็ไม่ต่างกันมาก อยู่ที่เครื่องมือหรือประเด็นที่จะจับมากกว่า ถ้าพูดถึงวิชาแนะแนว ในหลักสูตรไม่ได้ถูกกำหนดมาด้วยตัวชี้วัดแบบวิชาอื่นเป๊ะๆ มันดีตรงที่ว่าเรามีอิสระให้เราเลือกสอนได้ อันนี้เป็นข้อดี กระทรวงก็มีคู่มือและแผนต่างๆ นานาออกมาให้ครูเลือกเอาตรงนั้นมาใช้ได้
แต่ครูปุ้ยไม่ค่อยเอามาใช้นะ ครูจะใช้กิจกรรมที่ได้มาจากการ workshop หรือ social enterprise เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการค้นหาตัวเอง เราก็นำเครื่องมือนี้มาใช้กับเด็กในห้อง อยากให้เขาเปิดโลกทัศน์ว่ามีแบบนี้อยู่ ให้เขารู้ว่าสิ่งที่ครูพยายามสอนไม่ได้ใช้แค่เฉพาะในห้องเรียนนะ แต่วันหนึ่งที่เขาโตไปก็ยังสามารถใช้ได้ ส่วนเรื่องของการให้ความสำคัญ ครูปุ้ยมองว่าขึ้นอยู่กับตัวครูผู้สอนเองด้วย ว่าจะให้ความสำคัญกับวิชาของตัวเองมากน้อยแค่ไหน บางคนเมื่อถึงคาบแนะแนวก็ไม่สอน เด็กก็เลยเข้าใจว่าคาบแนะแนวเป็นคาบว่าง
ถ้ามองในเชิงอัตรากำลังครูแนะแนวก็ไม่เพียงพอหรอก อย่างโรงเรียนครูปุ้ย มีเด็กเกือบ 3,000 คน มีครูแนะแนว 3 คน ซึ่งเราไม่สามารถสอนได้ครบถ้วนหรอก เฉพาะ ม.3 มี 14 ห้อง ห้องละ 40 คน แค่นี้เราก็ไม่สามารถสอนได้ครบทุกระดับ บางชั้นก็ให้ครูที่ปรึกษาสอนวิชาแนะแนวเอง บางท่านก็นำเนื้อหาที่เราทำให้ไปสอน แต่ครูบางท่านก็ไม่นำไปใช้ โชคร้ายหน่อยก็กลายเป็นคาบว่างไปเลย
แสดงว่าปัญหาหลักของหลักสูตรแนะแนวคือการขาดแคลนครู?
ใช่ เพราะว่าครูแนะแนวจะเป็นครูอะไรก็ได้ที่รักหรือสนใจวิชานี้ ครูบางท่านที่ไม่ได้จบจิตวิทยาแนะแนวอาจจะสอนดีกว่าครูปุ้ยอีก วิชาแนะแนวเป็นวิชาที่ต้องใช้ประสบการณ์ในการถ่ายทอดพอสมควร แต่อัตราที่ให้บรรจุตามโรงเรียนต่างๆ ยังถือว่าน้อยมาก
ต้องบอกก่อนว่าครูแนะแนวมี 2 บทบาท บทบาทแรกคือเป็นครูผู้สอนเหมือนวิชาอื่นๆ อีกบทบาทคือทำเกี่ยวกับงานแนะแนว ก็คือให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุน เรื่องกองทุนกู้ยืม การศึกษาต่อ โควตานู่นนี่นั่น งานให้คำปรึกษาต่างๆ ซึ่งแต่ละอย่างก็ใช้เวลาในการทำงานพอสมควร
โรงเรียนครูปุ้ยโชคดีที่ว่ามีเจ้าหน้าที่แนะแนว ไม่ต้องมีหน้าที่สอน แต่จัดการงานเอกสาร การขอโควตาให้เด็ก หรือจัดโครงการต่างๆ ทำให้เราเต็มที่กับการสอนได้ แต่บางโรงเรียนไม่มี โรงเรียนส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่มีตรงนี้ เพราะฉะนั้นครูแนะแนวก็ต้องมาทำตรงนี้ด้วย
วิชาแนะแนว 1 คาบต่อสัปดาห์ ถือว่าเพียงพอไหม
ถ้าตอบจริงๆ จังๆ ควรจะมีมากกว่านี้ แต่ถ้าเทียบกับจำนวนบุคลากรตอนนี้ก็โอเค ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ๆ ครูที่ปรึกษาก็ควรสอนคู่กันไปด้วย เพื่อจะได้รู้จักเด็กมากกว่าแค่ชื่อ-นามสกุล คือครูจะต้องเข้าใจว่าการที่เด็กเป็นอย่างนี้เพราะมีพื้นฐานมาจากอะไรบ้าง
วิชาแนะแนวต้องอาศัยส่วนผสมของหลักจิตวิทยามากน้อยแค่ไหน
เยอะมาก จากตอนแรกที่ครูคิดว่าเรียนอะไรเนี่ย จะเอามาใช้ยังไง กลายเป็นว่ามันมาอยู่ในเนื้อตัวของคุณครูเอง แล้วครูก็ดึงออกมาใช้กับเด็กเยอะมาก
ในฐานะครูแนะแนว เราอยากให้ครูมองเด็กทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนเรา ไม่อยากให้มองเป็นครูกับนักเรียนที่มีระดับชนชั้น เพราะเมื่อเรามองเห็นความเป็นมนุษย์ เวลาเราสอนหรือพูดกับเขา เขาจะสัมผัสได้
วิชาแนะแนวสำคัญต่อการช่วยเหลือนักเรียนด้านจิตใจมากน้อยแค่ไหน
สำคัญนะ เราสามารถช่วยเหลือเด็กได้มากเลย ถ้าเราสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้เด็กรู้สึกว่าสามารถพูดได้ แสดงความเห็นได้ หลังจบคาบไปเจออะไรบ้างก็สามารถมาคุยกับเราได้ เพราะเด็กรู้ว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่จะรับฟังเขา
ทุกวันนี้ห้องเรียนปลอดภัยต่อสุขภาพจิตของนักเรียนมากแค่ไหน
ถ้าครูกับนักเรียนให้เกียรติซึ่งกันและกัน รับฟังกัน ห้องเรียนก็จะปลอดภัย แต่ถ้าเมื่อไรที่ห้องเรียนนั้นมีผู้ใช้อำนาจมากเกินสมควร มันก็ไม่ทำให้ใครรู้สึกปลอดภัยแน่นอน
ทัศนคติที่ครูแนะแนวทุกคนควรมี คือเปิดใจรับฟังและไม่ตัดสินเด็ก ไม่แม้กระทั่งชี้นำ เมื่อไรที่เรารับฟังเขา จะทำให้เขาทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเขาเอง และพยายามหาทางออกด้วยตัวเองได้
หลักสูตรวิชาแนะแนวควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไรบ้างในอนาคต
ทุกวันนี้ก็โอเคนะ แนวทางค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว แต่ก็เป็นหลักสูตรส่วนกลางนะ อยู่ที่คุณครูในพื้นที่แต่ละจังหวัดจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเองอย่างไร
ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจากตัวครู ถ้าเมื่อไหร่ที่ครูให้ความสำคัญกับวิชาของตัวเอง ไม่ทิ้งห้องให้ว่าง ให้เด็กรู้ว่าเรายังอยู่กับเขาตลอดเวลา วิชาแนะแนวก็จะเป็นวิชาหนึ่งที่เด็กนึกถึงแล้วรู้สึกโอเค ไม่ใช่แค่คาบว่างคาบหนึ่ง
สุดท้ายนี้ครูมีอะไรอยากทิ้งท้ายไหม
วิชาแนะแนว ใครๆ ก็สอนได้ ครูทุกคนไม่ใช่ครูแนะแนว แต่ครูทุกคนสามารถสอนแนะแนวได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความใฝ่รู้ของครูที่จะหาเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสื่อต่างๆ มาให้เด็ก ถ้าตั้งต้นด้วยความตั้งใจที่ดี อยากช่วยเหลือและพัฒนาเด็ก ทุกคนสามารถทำได้แน่นอน และไม่อยากให้ครูแนะแนวน้อยใจว่าไม่มีใครเห็นความสำคัญ ถ้ามาอยู่ตรงนี้แล้วขอให้ยึดถือว่าทุกอย่างที่ทำนั้นเพื่อเด็ก ให้คิดว่าเราเป็นสะพาน เป็นตัวกลาง ที่สามารถเชื่อมเด็กกับครูได้ อย่าน้อยใจ และสู้ต่อไปค่ะ