เยอรมนีถือเป็นประเทศต้นแบบของการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการศึกษาด้านวิชาชีพและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้มีแรงงานที่เพียงพอและมีคุณภาพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเลยก็ว่าได้ รัฐบาลเยอรมนีจึงให้น้ำหนักในการสนับสนุนการศึกษาสายอาชีวะไม่แพ้สายสามัญหรือระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ
ในปี 2010 ภาครัฐของเยอรมนีทุ่มงบประมาณในการสนับสนุนอาชีวศึกษาและการฝึกงานถึง 7,000 ล้านยูโร โดยใช้งบจากรัฐบาลกลาง ท้องถิ่น และภาคอุตสาหกรรม งบเหล่านี้ทุ่มให้กับหลักสูตรอาชีวศึกษาในระบบคู่ขนาน (dual system) หรือที่เรียกกันว่า ‘ทวิภาคี’ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติและลงมือทำ ทั้งยังเป็นหลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนอาชีวะทุกคนต้องเข้ารับการฝึกงานกับบริษัทต่างๆ เพื่อเรียนรู้งานและพัฒนาทักษะเฉพาะด้านให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น
ปี 2013 จำนวนวิทยาลัยอาชีวะในเยอรมนีมีทั้งหมด 1,559 แห่ง มีนักเรียนเข้าเรียนในสถาบันอาชีวะถึง 1.4 ล้านคน และมีการรับรองวุฒิการศึกษาให้แก่นักเรียนถึง 342 วิชาชีพ ทั้งยังมีบริษัทเกือบ 500,000 บริษัท หรือ 23 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด เข้าร่วมโครงการฝึกงานให้กับนักเรียนจากวิทยาลัยอาชีวะ ตัวอย่างเช่น บริษัท Mercedes-Benz ที่แต่ละปีมีการรับนักเรียนเข้าฝึกงานถึง 2,000 คน หรือแม้แต่บริษัทที่ผลิตอุปกรณ์ทางสายตาอย่าง Zeiss ยังกล่าวด้วยว่า บริษัทไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นได้ เพราะประเทศเหล่านั้นไม่มีแรงงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างเยอรมนี เป็นต้น
สำนักงานวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของไทย เผยข้อมูลว่า ในปี 2557 อัตราการว่างงานของเยาวชนเยอรมนีในช่วงอายุ 14-25 ที่จบการศึกษาด้านวิชาชีพในระบบทวิภาคีมีอยู่เพียง 7.8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือได้ว่ามีอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป อย่างสเปนและกรีซที่มีเยาวชนว่างงานถึงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
การศึกษาแบบทวิภาคีเป็นหลักสูตรภายใต้ความร่วมมือระหว่างทั้งภาครัฐและเอกชน โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนเรื่องงบประมาณและกำหนดนโยบายในภาพรวม ส่วนภาคเอกชน มีสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเยอรมนี (DIHK: Der Deutsche Industrie – und Handelskammertag) เป็นองค์กรหลักในการเชื่อมต่อระหว่างภาคเอกชนกับสถาบันวิชาชีพ โดยบริษัทหรือสถานประกอบการภาคเอกชนที่สนใจรับนักเรียนอาชีวะไปฝึกงานจะต้องสมัครเป็นสมาชิกกับทาง DIHK
กฎหมายการฝึกงานอาชีวศึกษาของเยอรมนี กำหนดให้มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และภาคธุรกิจ เพื่อจัดให้มีการฝึกงานแก่นักศึกษาในสาขาวิชาชีพที่ได้รับการรับรองระดับชาติ โดยนักศึกษาที่ผ่านการฝึกงานจะได้รับใบรับรองคุณวุฒิจาก DIHK และยังสามารถใช้ใบรับรองนี้ยื่นเข้าสมัครงานกับสถานประกอบการที่ตนเองสนใจ หรือกระทั่งสามารถทำงานกับสถานประกอบการที่ตนฝึกงานได้ทันทีหลังจบการศึกษา
ระบบการศึกษาแบบคู่ขนานนี้ยังช่วยให้สถานประกอบการเชื่อมั่นในใบรับรองการฝึกงานที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และยังช่วยประหยัดงบในการรับพนักงานใหม่ เพราะการจ้างนักเรียนที่ผ่านการฝึกงานมาแล้ว นักเรียนเหล่านี้จะมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
ทวิภาคีของเด็กอาชีวะไทย
ระบบทวิภาคีของไทยเริ่มขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาลเยอรมนีที่ให้การช่วยเหลือกรมอาชีวศึกษาในการดำเนินการทดลองจัดการศึกษาในระบบ ‘โรงเรียน-โรงงาน’ โดยมีการจัดระบบและรูปแบบการฝึกงานจากองค์การ GTZ (Deutsche Gesellschaft Fuer Teche Zusammenarbeit) ต่อมาในปีการศึกษา 2535 ได้เปลี่ยนชื่อการจัดการศึกษาจากระบบโรงเรียน-โรงงาน เป็นการจัดการฝึกงานระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training: DVT) และได้รับการรับรองภายใต้พระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551
ทวิภาคีของไทยเป็นการจัดการศึกษาวิชาชีพที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างสถานศึกษา ร่วมกับสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ ในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล โดยผู้เรียนใช้เวลาส่วนหนึ่งในสถานศึกษา และอีกส่วนหนึ่งเป็นภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ
วันที่ 12 เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการจัดตั้งหลักสูตรพัฒนาบุคคลและหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักศึกษาและแรงงานที่ต้องการพัฒนาความรู้เพิ่มเติมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา อีกด้วย
ศูนย์ประสานงานนี้ถือเป็นเป็นเครื่องมือในการยกระดับอาชีวศึกษาของไทย โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวะทั้ง 3 จังหวัด จะได้เข้ารับการฝึกงานกับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการในโครงการ EEC เพื่อลงมือปฏิบัติงานตามสายวิชาชีพโดยตรง
จากข้อมูลความต้องการแรงงานและจำนวนนักเรียนอาชีวศึกษาทั้ง 3 จังหวัด ในเขตพื้นที่ EEC ตั้งแต่ปี 2560-2564 มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าความต้องการแรงงานอาชีวศึกษามีมากขึ้นทุกปี เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่มีผู้เรียนอาชีวะค่อนข้างน้อยมาก และหลังจากที่มีการจัดตั้งหลักสูตรอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีแล้ว จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เข้าเรียนอาชีวะมีเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องในทิศทางเดียวกับความต้องการของตลาดแรงงาน
การศึกษาแบบคู่ขนานหรือระบบทวิภาคีของไทย ถือได้ว่าเป็นการปรับภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาได้อย่างมาก ภาคอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดดังกล่าว ทำให้เด็กอาชีวะหรือนักเรียนสายวิชาชีพมีงานรองรับมากยิ่งขึ้น และในภายภาคหน้ารัฐบาลและสถานประกอบการจะต้องผลักดันระบบทวิภาคีนี้ให้กระจายไปยังทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้นักเรียนสายอาชีวะรวมทั้งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เรียนจบออกมาแล้วมีงานรองรับโดยถ้วนหน้ากัน