ปัญหาขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็ก คือสิ่งที่ทับถมความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กไทยมาอย่างยาวนาน การผลิตครูให้เพียงพอและการสร้างบุคลากรครูที่มีคุณภาพ จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมือง-โรงเรียนชนบทได้อีกทางหนึ่ง
อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ฉายภาพสถานการณ์ครูในประเทศไทยว่า จากข้อมูลในปี 2561 มีครูจำนวนกว่า 500,000 คน โดยแต่ละปีจะมีครูเกษียณอายุราชการราว 20,000 คน และมีครูบรรจุใหม่อีกประมาณ 19,000 คน แม้ตัวเลขจะดูเหมือนค่อนข้างสูง แต่ยังไม่เกิดการกระจายตัวของครูอย่างเท่าเทียม
“โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยมีอยู่จำนวนมากและยังคงประสบปัญหาขาดแคลนครู ดังนั้นนอกจากจะต้องแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนครูในโรงเรียนเหล่านี้แล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาครูที่มีทักษะความสามารถในการสอน โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาซึ่งขาดแคลนครูอย่างมาก แต่การผลิตครูในประเทศไทยยังสวนทางกับความต้องการ”
เขาให้ข้อมูลเพิ่มว่า ทุกวันนี้มีนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชาประถมศึกษาโดยตรงเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักศึกษาครูทั้งหมด จึงทำให้สัดส่วนครูประถมศึกษาไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลได้
แม้ว่าในปี 2563 โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทยจะลดจำนวนลงเหลือเพียงประมาณ 2,000 โรงเรียนก็ตาม แต่ก็ยังพบปัญหาว่า ครูที่มีความสามารถในการสอนนักเรียนชั้นประถมยังมีจำนวนค่อนข้างจำกัด
อุดมกล่าวว่า ปัจจุบันกระบวนการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู ยังไม่มุ่งเน้นไปที่ชั้นเรียนระดับประถมศึกษามากนัก ทำให้บัณฑิตที่จบออกมายังไม่มีศักยภาพเพียงพอ นอกจากนี้ยังไม่มีการดึงครูที่มีคุณภาพสูงหรือมีความรู้ความสามารถมาช่วยเสริมในกระบวนการการศึกษามากนัก
กระบวนการสร้างคน-สร้างครู
จากรายงานวิจัยของธนาคารโลก ปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า ครูเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่สุดของระบบการศึกษา การจะพัฒนาครูในชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพได้นั้น ประการแรกต้องเริ่มต้นจากการคัดเลือกนักเรียนมัธยมปลายที่มีความต้องการเป็นครูอย่างแท้จริง โดยชุมชนหรือคนในพื้นที่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือกนี้ได้
“เมื่อได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ควรจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดตามและการวัดประเมินผลที่ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาครูสามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้มากยิ่งขึ้น โดยไม่ควรคำนึงถึงเกรดหรือคะแนนสอบเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาควรมีการจัดหลักสูตรสำหรับนักศึกษาครูที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง”
อุดมกล่าวว่า เมื่อบัณฑิตเหล่านี้จบการศึกษาแล้ว ควรมีระบบรองรับและให้การสนับสนุนที่เพียงพอ โดยเฉพาะครูรุ่นใหม่ที่ต้องไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบที่ดีในการหนุนเสริมครูเหล่านั้น
“กระบวนการพัฒนาครูจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ต้องมีการศึกษาวิจัยร่วมกับทางโรงเรียน เพื่อจะพัฒนาศักยภาพของครูที่ประจำการอยู่ในโรงเรียนนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ดึงครูออกไปจากโรงเรียน”
‘ครูรักษ์ถิ่น’ ไม่ทอดทิ้งชุมชน
วัตถุประสงค์ของ กสศ. ในการพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ รวมถึงการผลิตครูประจำการในท้องถิ่น มีเป้าหมายสำคัญคือ การสนับสนุนให้เด็กนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เด็กยากจนด้อยโอกาส แต่เป็นผู้มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาชีพครู
จากนั้นกระบวนการพัฒนาครูในชนบท จะต้องพัฒนาร่วมกันทั้งกับครู โรงเรียน ชุมชน โดยมุ่งเน้นไปยังพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์
“ที่ผ่านมาประเทศไทยมีโครงการผลิตและพัฒนาครูมากมาย กสศ. ได้ถอดบทเรียนจากโครงการเหล่านั้นมาเป็นแนวคิดสำคัญในการสร้างครูคุณภาพสูง ตัวอย่างสำคัญเช่นโครงการ ‘ครูรักษ์ถิ่น’ ซึ่งเป็นการผลิตและพัฒนาครูจากเด็กนักเรียนในชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองต่อไป”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูฯ กล่าวว่า โครงการครูรักษ์ถิ่นมีเป้าหมายที่จะสร้างครูรุ่นใหม่ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชน และสามารถตอบโจทย์ชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าจะผลิตครูรักษ์ถิ่นให้ได้ 1,500 คน เพื่อประจำการในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลที่มีอยู่ราว 1,500-2,000 แห่งทั่วประเทศ
“การวางแผนการทำงานของ กสศ. เริ่มต้นด้วยการเตรียมความพร้อม โดยทุกโครงการจะตั้งต้นจากงานวิจัยที่มีผลการศึกษาเป็นที่ประจักษ์ จากนั้นจึงนำมาออกแบบโครงการให้เหมาะสมกับเยาวชนที่จะเข้าศึกษาต่อในสายวิชาชีพครู”
หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในภารกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรการศึกษา ตลอดจนคุรุสภา ถือเป็นภาคีสำคัญในการทำงานร่วมกับ กสศ. โดยจะมีการคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะปรับปรุงการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาครูอย่างยั่งยืน
ขั้นถัดมาคือ การคัดเลือกนักเรียนที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยภารกิจของ กสศ. คือการคัดเลือกเด็กนักเรียนระดับชั้น ม.6 ในพื้นที่ห่างไกล เข้ามาเรียนครูในสถาบันที่ได้รับเลือก ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เช่น ครูในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่จะช่วยค้นหา คัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยเฉพาะทักษะทางวิชาการและทักษะชีวิตเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
“คอนเซ็ปต์สำคัญของโครงการครูรักษ์ถิ่นคือ การสร้างครูรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับการเป็นนักพัฒนาชุมชนด้วย โดยครูรักษ์ถิ่นจะเป็นเหมือนนวัตกร มีหน้าที่ออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับโรงเรียนในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงทำงานร่วมกับคนในชุมชน เพื่อแก้ปัญหาชุมชน”
เมื่อบัณฑิตใหม่จบจากมหาวิทยาลัยเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริงด้วยการเป็นครูในพื้นที่ห่างไกลแล้ว จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน โดยร่วมมือกับเพื่อนครูและผู้อำนวยการ รวมไปถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในชุมชน
“กสศ. จะไม่ทิ้งให้ครูรักษ์ถิ่นทำงานเพียงลำพัง แต่จะติดตามการทำงานของครูต่อเนื่องไปอีก 6 ปี โดยแบ่งออกเป็นช่วง 2 ปีแรก จะช่วยสนับสนุนการทำงานในเบื้องต้น และอีก 4 ปีหลัง จะช่วยเติมเต็มความรู้ทางวิชาการและความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป”
อุดมกล่าวว่า ภาพฝันของ กสศ. หากโครงการนี้สำเร็จจะเป็นความหวังสำคัญของระบบการศึกษาไทย โดยมีครูที่มีคุณลักษณะเหมาะสมกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และเป็นครูรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการจัดการเรียนรู้และทักษะทางวิชาการใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของโรงเรียนขนาดเล็กในถิ่นทุรกันดารได้
“ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างครูที่มีทัศนคติที่ดีในการทำงานในโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นทั้งนักพัฒนาชุมชน นักออกแบบนวัตกรรมการศึกษา รวมถึงมีคุณธรรมและจริยธรรมของความเป็นครู” เขากล่าว
ที่มา: https://afe.eef.or.th/teacher-training-and-supporting-mechanism/