ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นทุกวันๆ Universal Basic Income (UBI) หรือ นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า ที่เป็นการมอบเงินให้แก่ประชาชนภายในรัฐโดยปราศจากเงื่อนไข จึงเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
UBI เป็นนโยบายที่กำลังมีความพยายามผลักดันในหลายๆ ประเทศ ด้วยความหวังว่าจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง
เมื่อกล่าวถึงปัญหาความยากจนแล้ว ‘การศึกษา’ ก็เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรระดับโลกและระดับท้องถิ่นลงความเห็นตรงกันว่า เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะปลดล็อคสังคมออกจากปัญหาความยากจน
ข้อค้นพบในโครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562) โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนที่ยากจนแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าครัวเรือนรวย โดยครัวเรือนจนรับภาระมากถึง 14 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ในขณะที่ครัวเรือนรวยรับภาระเพียงแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ กล่าวได้ว่า เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนภาระค่าใช้จ่ายต่อรายได้ จะเห็นว่าครัวเรือนจนมีค่าใช้จ่ายในการศึกษาในสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนจนเสียอีก
เมื่อการศึกษาเป็นรายจ่ายหรือต้นทุนที่ค่อนข้างสูงสำหรับครัวเรือนที่ยากจน จึงนำไปสู่ความเสี่ยงเรื่องปัญหาเด็กออกนอกระบบ หรือปัญหาการออกจากโรงเรียนกลางคัน ตลอดจนการขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
ปัญหาทั้งหมดข้างต้น จะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกในการศึกษาหลังภาคบังคับ หรือหลังพ้นระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไปแล้ว อันเป็นระดับการศึกษาที่รัฐหยุดให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่ายการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยไม่สามารถไปต่อได้
ด้วยปัญหาและข้อค้นพบดังที่ได้กล่าวมา ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาที่มีอยู่ในระบบการศึกษานั้น สัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร หรือปัญหาความยากจน เพราะในการส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาในระดับสูง (หรือกระทั่งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ก็เป็นสิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นอย่างมาก
ครั้นเมื่อการศึกษาเป็นสิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง การให้เด็กออกจากระบบเพื่อมาทำงานหารายได้ จึงเป็นทางออกที่หลายครอบครัวมองว่าเหมาะสมและคุ้มค่ากว่า เพราะนั่นหมายถึงการมีรายได้ที่มากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็หมายถึงการมีข้าวปลาอาหาร หรือข้าวของเครื่องใช้จำเป็นที่มากขึ้น ปัญหาการศึกษาจึงดำเนินไปพร้อมๆ กันกับปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
การอุดช่องว่างและหลุมความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ อย่างค่าอาหารการกิน ค่าความเป็นอยู่ และค่าที่พักอาศัย ปัญหาเหล่านี้อาจบรรเทาลงได้ด้วยนโยบาย UBI ซึ่งเป็นตัวเลือกสำคัญที่จะนำพาผู้คน สังคม และประเทศออกจากปัญหาการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ และความยากจน
อ้างอิง
- โครงการวิจัยพัฒนาระบบบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2551-2562 โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
- Can the universal basic income solve global inequalities?
- How universal basic income can expand educational and career opportunities