“ในผู้ใหญ่ทุกๆ 2 คน ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก จะมีเด็ก 1 คน ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จากการตายของพ่อแม่หรือผู้ดูแล”
ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งเเต่โลกเผชิญหน้ากับสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโควิด-19 เด็กประมาณ 6.7 ล้านคนทั่วโลก ต้องสูญเสียพ่อเเม่หรือผู้ดูแลในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน ยังไม่นับรวมยอดสะสมเดิมก่อนที่โลกจะประสบกับวิกฤตินี้ อีกทั้งการสูญเสียยังมีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต จากการสำรวจเเละเก็บข้อมูลจากนักวิชาการในประเทศต่างๆ สามารถเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ว่า ‘การระบาดใหญ่ที่มองไม่เห็น’ หรือ ‘ภัยเงียบที่เกิดจากการเเพร่ระบาด’ (the hidden pandemic) ดังที่ ซูซาน ฮิลส์ (Susan Hills) เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า “ก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตการณ์โควิด-19 ทั่วโลกมีเด็กประมาณ 140 ล้านคนที่เป็นเด็กกำพร้าอยู่เเล้ว และจากการสำรวจครั้งล่าสุด สามารถประมาณได้ว่า จำนวนเด็กกำพร้าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี”
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยนานาชาติจากศูนย์ควบคุมเเละป้องกันโรคโควิด-19 แห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ร่วมกับอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้รวบรวมข้อมูลจาก 21 ประเทศ พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 21 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 77 จากผู้เสียชีวิตจากโควิดทั่วโลก นั่นหมายความว่า เด็กประมาณ 1.5 ล้านคน ในทั้ง 21 ประเทศ ล้วนต้องเผชิญกับการสูญเสียพ่อเเม่หรือผู้ดูแล ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกัน
รายงานล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) พบว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่า 5.9 ล้านคนทั่วโลกอย่างเป็นทางการ และจากการศึกษาข้อมูล 21 ประเทศ นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – เมษายน 2564 โดยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน พบว่า ในทุกๆ วัน มีเด็ก 8 คน ที่ต้องกลายเป็นกำพร้า และเด็กมากกว่า 1 คน ในจำนวนเด็ก 1,000 คนในประเทศดังกล่าว ต้องสูญเสียพ่อเเม่หรือผู้ดูแลไปตั้งเเต่เด็กจากโรคโควิด-19
ตัวเลขจากการค้นพบครั้งนี้ อาจมีจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากข้อมูลที่นำมาประเมินสถานการณ์ดังกล่าวยังมีอยู่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในบางประเทศที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างทั่วถึง นั่นหมายความว่า เด็กกำพร้าจำนวนมหาศาลยังไม่ถูกมองเห็น และนี่ถือเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่ดำเนินอยู่อย่างเงียบเชียบ
สหรัฐอเมริกา: จาก ‘ภาวะกำพร้าจากโควิด’ ถึงประธานาธิบดี
180,000 คน คือตัวเลขเด็กกำพร้าจากการระบาดโควิดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถประเมินได้ในช่วงเวลานี้
แม้อเมริกาจะถูกจัดให้เป็นประเทศอันดับ 1 ที่สามารถรับมือและเเก้ไขสถานการณ์จากโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ (ข้อมูลจาก Bloomberg) ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรวัคซีนที่รวดเร็วและกระจายออกไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งมีการประกาศจากศูนย์ควบคุมเเละป้องกันโรคโควิด-19 แห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ว่าสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุม เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนครบ ไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยเเล้ว เเต่ปัญหาของอเมริกาที่ยังหลงเหลืออยู่และถือเป็นปัญหาใหญ่คือ การเพิ่มจำนวนของเด็กกำพร้าจากการระบาดโควิด โดยอเมริกาถือเป็นประเทศที่มีตัวเลขค่อนข้างสูงหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกเว้นอินเดียเเละเม็กซิโก
จากการศึกษาและเก็บข้อมูลของทีมวิจัยค้นพบว่า สถานการณ์เช่นนี้สามารถประเมินได้ว่า เด็กในกลุ่มอายุ 10 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียผู้ปกครองมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ปรากฏการณ์เช่นนี้นำมาสู่การยื่นจดหมายถึง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเรียกร้องให้ทำเนียบขาวกำหนดมาตรการรับมือที่ครอบคลุมเด็กกลุ่มนี้ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาเด็กที่สูญเสียผู้ปกครองจากโควิด-19 โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ณ ทำเนียบขาว ได้ร่วมลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเรียกร้องให้มีการผลักดันวาระนี้ด้วยเช่นกัน
สหราชอาณาจักร: รัฐต้องโอบอุ้ม สร้างโอกาสให้เด็กมีชีวิตใหม่
สหราชอาณาจักรถือเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 ที่ค่อนข้างสูงมาโดยตลอด แม้ทางรัฐบาลจะมีการเตรียมความพร้อม รวมไปถึงแผนรับมือต่างๆ แต่ด้วยภูมิคุ้มกันจากการรับวัคซีนที่ลดลงเเละการผ่อนปรนมาตรการ จึงส่งผลให้สหราชอาณาจักรกลับมามียอดผู้ป่วยสะสมสูงสุดอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาวเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่จำนวน 134,900 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 2 มกราคม 2565) นอกจากนี้ การแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ค่อนข้างล่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ยังเป็นเหตุผลที่ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในยุโรป
12,000 คน คือตัวเลขของเด็กในสหราชอาณาจักรที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าหรือสูญเสียผู้ปกครองในช่วงโควิด อีกทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 10,000 คน กำลังเผชิญกับความสูญเสียพ่อหรือแม่ หรือสูญเสียคนทั้งคู่จากการระบาด
องค์กร Save the Children ได้นำเสนอข้อมูลเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ทุกๆ นาที จะมีเด็ก 6 คน ต้องเผชิญกับการสูญเสียผู้ปกครองจากการระบาดของโควิด และอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความรุนเเรง การเเสวงหาผลประโยชน์ ไปจนถึงการถูกทารุณกรรมจากสถานดูแลต่างๆ
ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่ข้อกังวลที่ว่า หากเด็กๆ กลุ่มนี้ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ถูกนำไปยังสถานรับเลี้ยง พวกเขาอาจไม่ได้รับการดูแลที่เพียงพอ และต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายเเละจิตใจ กระทั่งนำไปสู่การถดถอยของพัฒนาการทางสมองและทักษะการเข้าสังคม
ในกรณีเด็กโต พวกเขาอาจประสบกับอุปสรรคในการก้าวสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตในอนาคต ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การเรียกหาความรับผิดชอบต่อรัฐบาล เพื่อให้รัฐลงทุนในด้านแรงงาน สวัสดิการสังคม และพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมแก่เด็กๆ กลุ่มนี้ อีกทั้งรัฐบาลต้องสร้างแนวทางที่ชัดเจน และต้องให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเลือกการมีชีวิตของพวกเขาด้วยตนเอง
อินเดีย: เรียนฟรีและมีเงินสนับสนุนจนถึง 25 ปีบริบูรณ์
อินเดียถือเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 สูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยยอดผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 32 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2564) รองจากสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ธาราวี (Dharavi) ซึ่งเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายที่น่าตึงเครียดที่สุดของรัฐบาลอินเดีย มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสลัมธาราวี ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200-300 รายต่อวัน แต่หลังจากที่เทศบาลนครมุมไบใช้มาตรการที่เข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2564 พบว่า จำนวนผู้ป่วยลดลงต่ำกว่า 150 รายต่อวัน แต่ถึงเเม้อินเดียจะมีเเนวโน้มผู้ป่วยที่ลดลง ก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาเดียวกันกับประเทศอื่นๆ คือ ปัญหาเด็กกำพร้าที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19
5,500 คน คือจำนวนเด็กๆ ในอินเดียที่ต้องสูญเสียพ่อแม่หรือผู้ปกครอง นับแต่ช่วงแรกเริ่มของการระบาดภายในประเทศ ตัวเลขนี้นำมาซึ่งการปรับนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการอินเดีย โดยเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่ต้องกำพร้าจากสถานการณ์โควิดหรืออุบัติเหตุต่างๆ ได้เรียนฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเขาเข้าถึงหลักสูตรภาคบังคับอย่างครบถ้วน และสนับสนุนการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู 2,500 รูปีต่อเดือน หรือประมาณ 1,120 บาท จนกว่าพวกเขาจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์
แม้อินเดียจะมีนโยบายด้านการศึกษาที่ค่อนข้างเป็นไปในรูปแบบที่ดี เเต่ยังมีเด็กกำพร้าอีกจำนวนมากที่ยังคงเข้าไม่ถึง อีกทั้งการลดลงของอัตราการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมในอินเดีย ยิ่งส่งผลให้ภาครัฐต้องเตรียมเเผนรับมือให้รัดกุมเเละเข้าถึงเด็กให้มากกว่าเดิม ก่อนที่สถานการณ์นี้จะกลายเป็นภาวะฉุกเฉินระดับชาติของอินเดีย
ไทย: มาตรการเยียวยาต้องเข้าถึงเด็กกำพร้าทุกกลุ่ม
จากการสำรวจข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 พบว่า นับแต่วันที่ประเทศไทยเริ่มมีการระบาด มีเด็กที่ต้องสูญเสียพ่อเเม่หรือผู้ดูแล และกลายเป็นเด็กกำพร้าถึง 369 คน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ และถือเป็นพื้นที่ที่มียอดสะสมของเด็กกำพร้ามากที่สุดถึง 131 คน ในขณะที่ภาคกลางมี 99 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 92 คน ภาคเหนือ 40 คน และในเขตกรุงเทพมหานคร 7 คน
หากจำแนกเป็นช่วงอายุจะพบว่า มีเด็กกำพร้าอายุ 6-18 ปี คิดเป็นร้อยละ 71.54 เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.06
คำถามต่อมาคือ เด็กๆ เหล่านี้อยู่ที่ไหน รัฐบาลไทยมีมาตรการอย่างไรในการโอบอุ้มความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้านการดำรงชีวิต การศึกษา และสภาวะทางใจที่บอบช้ำ
จากข้อมูลพบว่า เด็กๆ จำนวน 231 คน อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่ อยู่กับครอบครัวเครือญาติ 133 คน อยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์อาสาสมัคร 3 คน และอยู่ในสถานสงเคราะห์เพื่อจัดหาครอบครัวทดแทน 2 คน โดยข้อมูลเด็กกำพร้าทั้งหมดจะถูกบันทึกลงในระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (CPIS) เพื่อใช้ในการวางแผนการดูแลและการจัดบริการให้แก่เด็กทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขณะเดียวกัน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ระบุถึงการเตรียมงบประมาณสำหรับปี 2565 เพื่อรองรับการจัดสวัสดิการให้กับเด็กและครอบครัว ด้วยการสนับสนุนครอบครัวและครอบครัวอุปถัมภ์ในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีเด็กได้รับความช่วยเหลือประมาณ 1,600 คน และมีเงินอุดหนุนสวัสดิการเด็กในครอบครัวยากจนอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้น แม้จะมีการวางแผนในเชิงนโยบายและเตรียมการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ทว่าในทางปฏิบัติยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า มาตรการเยียวยาดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงเด็กกำพร้าทุกกลุ่มหรือไม่ และคาดว่าจะมีเด็กกำพร้าจำนวนไม่น้อยตกหล่น
เมื่อเด็กกำพร้าชายแดนใต้ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยนโยบายความมั่นคงของรัฐ
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นพื้นที่ที่เผชิญกับปัญหาในหลายระดับ จากรายงานในปี 2563 พบว่า มีเด็กกำพร้าราว 1,000 คน ไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐบาล มีเพียงมูลนิธิหรือสถานสงเคราะห์ในพื้นที่นั้นๆ เป็นผู้ดูแล เนื่องจากพวกเขาถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกหลานของ ‘ผู้เห็นต่าง’ ที่เสียชีวิตจากการจับกุมและปะทะกับเจ้าหน้าที่
นี่คือการเลือกปฏิบัติ และเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า เหตุใดการเติบโตตามสิทธิอันพึงได้รับของเด็กกลุ่มหนึ่งจึงต้องถูกผูกโยงกับประเด็นความมั่นคงของรัฐ
ข้อสังเกตที่น่าตั้งคำถามคือ เด็กกำพร้าราวๆ 1,000 คนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่รัฐมองว่าเป็น ‘กลุ่มเสี่ยง’ อาจถูกดึงเข้าไปสู่วงจรความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หนึ่งในหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบ ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับผู้สื่อข่าว PPTV และ บีบีซีไทย ว่า รัฐไม่ได้ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เป็นกลุ่มเห็นต่างและเสียชีวิตจากเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นเหตุจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่พยายามช่วยเหลือในทางอื่นนอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนด เด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิเอกชนที่ใช้ชื่อว่า ‘นูซันตารา’
ทั้งนี้ ทางมูลนิธิได้ยกตัวอย่างกรณีเด็กชายวัย 11 ปี หลังจากผู้เป็นพ่อเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่เมื่อประมาณปี 2559 ภายหลังเหตุการณ์นั้น เด็กชายก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากรัฐ ทำให้ผู้เป็นแม่ต้องตัดสินใจนำตัวมาฝากไว้ให้มูลนิธินูซันตาราดูแล นอกจากนี้ ทางมูลนิธิชี้เเจงเพิ่มเติมว่า เด็กทั้งหมดล้วนมาจากครอบครัวที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ฝ่ายตรงข้ามรัฐ’ ซึ่งผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตจากการถูกวิสามัญและถูกสังหารจากผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการ ส่งผลให้ไม่สามารถหาตัวคนผิดได้
แม้ระยะหลัง สถิติและความถี่ของเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีจำนวนลดลง ทำให้ตัวเลขของเด็กกำพร้าลดลงตามลำดับ ทว่าปัจจุบันจำนวนเด็กกำพร้าที่มียอดสะสมอยู่ 7,000 กว่าคน (จากระบบฐานข้อมูลเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ DSRD ปี 2562) ก็ยังคงไม่ได้รับการเยียวยาทั่วถึง โดยเฉพาะการเยียวยาด้านจิตใจที่ภาครัฐยังไม่มีแนวทางเป็นรูปธรรม นอกจากการให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือ ซึ่งไม่อาจเทียบได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ‘เด็กกำพร้า’ ถูกพูดถึงอย่างเบาบางในสังคม โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาด และในพื้นที่ความรุนแรงทางการเมือง นี่คือปัญหาใหญ่ที่ถูกสั่งสมมานาน และมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในห้วงที่การระบาดและความรุนแรงยังคงดำรงอยู่
อาจพออนุมานได้ว่า ในอนาคตปัญหานี้จะใหญ่กว่าเดิม หากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีมาตรการติดตามและเยียวยาที่ครอบคลุมและชัดเจน โดยเฉพาะการเยียวยาบาดแผลทางใจของเด็กๆ ที่ต้องสูญเสีย แน่นอนว่า หากปัญหาเหล่านี้ยังถูกเพิกเฉยหรือถูกจัดการอย่างไม่เหมาะสม อาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆ มากมาย กระทั่งว่าเมื่อเด็กๆ กลุ่มนี้เติบโตขึ้น พวกเขาอาจหันหลังให้สังคมหรือหมดความเชื่อมั่นต่อรัฐ เฉกเช่นที่สังคมหันหลังให้พวกเขาในวันนี้
ที่มา:
- https://www.cbsnews.com/news/covid-children-lost-parent-pandemic-orphans/
- https://www.eef.or.th/news-free-education-should-be-given-to-children-who-have-lost-parents-during-the-pandemic-do/?fbclid=IwAR3MawwOFYtJ__CHqelqrAf0GpWuHHBfP0FL4d3zs_DFS-ksqIQpJz9OU0A
- https://www.hatyaifocus.com/ข่าว/7783-ข่าวสังคมและการเมือง-เผยผลวิจัย%2B‘เด็กกำพร้า%2B9%2C806%2Bคน’%2Bจากเหตุความรุนแรงชายแดนใต้/
- https://www.savethechildren.net/news/six-children-minute-left-without-caregivers-covid-19-risk-orphanages
- https://www.thairath.co.th/news/local/2192561
- https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/117527
- https://www.pptvhd36.com/news/ต่างประเทศ/148543
- https://www.bangkokbiznews.com/world/980600
- https://www.bangkokbiznews.com/world/936037
- https://news.thaipbs.or.th/content/308921
- https://www.bbc.com/thai/thailand-44572036
- https://www.telegraph.co.uk/news/2021/07/21/12000-uk-children-orphaned-lost-carer-pandemic/