“เคยสงสัยไหม ว่าทำไมโรงเรียนต้องการแต่คนเก่ง แต่ไม่เคยสนใจว่าพวกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง?”
หนึ่งในคำถามที่ ‘แปง’ ตัวเอกของเรื่อง เปิดประเด็นขึ้นมาในตอนแรกของซีรีส์ THE GIFTED นักเรียนพลังกิฟต์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนฤทธาวิทยาคม ออกอากาศทาง LINE TV เมื่อปี 2561 โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนชั้นนำของประเทศที่มีการแบ่งแยกนักเรียนเก่งและนักเรียนอ่อนออกจากกันอย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่การจำแนกนักเรียนตามห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงเรียนประจำที่จัดสาธารณูปโภคต่างๆ ตามเกรดของนักเรียน ตั้งแต่สัญญาณอินเทอร์เน็ต อาหารกลางวัน ไปจนถึงหอพักอีกด้วย หากนักเรียนห้องบ๊วยอยากได้สิ่งที่ดีขึ้น มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นคือสอบวัดระดับ เพื่อให้ได้ย้ายไปอยู่ห้องอันดับต้นๆ
ระบบเช่นนี้ทำให้แปงรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กห้อง 8 อย่างเขา ในขณะที่เพื่อนสนิทจากห้อง 1 มองว่ามันคือระบบที่ช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง ด้วยการสรุปว่า “ถ้าอยากได้อะไรดีๆ ก็ต้องตั้งใจเรียน”
นักเรียนพิเศษกับความสามารถพิเศษ อภิสิทธิ์ที่เหนือใครๆ
นอกจากระบบการสอบวัดระดับเพื่อย้ายห้องเรียนแล้ว โรงเรียนแห่งนี้ยังมีห้องเรียนพิเศษที่เรียกว่า ‘ห้องกิฟต์’ เรื่องราวจึงพลิกผันเมื่อแปงเป็นเด็กห้อง 8 คนแรกในประวัติศาสตร์ของโรงเรียนที่สอบติดห้องกิฟต์
ห้องกิฟต์เป็นห้องเรียนที่ไม่ธรรมดา ตั้งแต่วิธีการคัดเลือกนักเรียน และอภิสิทธิ์ที่นักเรียนห้องนี้จะได้รับ เพราะห้องนี้ไม่ได้เป็นเพียงการรวมตัวกันของเด็กที่เป็นเลิศทางวิชาการ แต่เป็นนักเรียนที่มีศักยภาพพิเศษราวกับภาพยนตร์แฟนตาซี หากจะหาความสนุกและตื่นเต้นจากซีรีส์เรื่องนี้เรียกได้ว่าไม่ผิดหวัง แต่สิ่งที่น่าขบคิดต่อจากนั้นคือ การหันมามองระบบการศึกษาไทยในความเป็นจริง
มองจากภายนอกเราจะเห็นได้ว่า ชีวิตของเด็กห้องกิฟต์โรงเรียนนี้ช่างดูดี ได้รับสิ่งดีๆ มากมาย ทั้งสาธารณูปโภค อิสระในการแต่งตัว และยังการันตีด้วยว่าจะได้รับความสำเร็จในอนาคต แต่ในความเป็นจริง การเป็นคนพิเศษเช่นนี้กลับต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดมากมาย ตั้งแต่แปงที่ต้องเสียเพื่อนเพราะความเข้าใจผิด แคลร์และมนที่ต้องเจ็บปวดเพราะความอิจฉาของคนใกล้ตัว ปุณณ์ที่ต้องกดดันตัวเองเพื่อพัฒนาความสามารถ กรที่ต้องทรมานกับศักยภาพที่ตนเองไม่ต้องการ และเด็กกิฟต์คนอื่นๆ ก็มีเรื่องน่าเจ็บปวดแตกต่างกันไป คนที่ได้รับผลกระทบจากความพิเศษนี้ไม่ใช่แค่เด็กกิฟต์เท่านั้น แต่คนใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องก็เจ็บปวดไม่ต่างกัน จากระบบที่โอบอุ้มเชิดชูแต่เด็กเก่ง ราวกับว่าการเป็นคนธรรมดาไม่มีความหมาย
ระบบที่เลวร้าย สร้างบาดแผลร้าวลึก
ตัวละครสำคัญที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เข้มข้น คือผู้อำนวยการสุพจน์ที่กุมความลับมากมายของโรงเรียนแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์เบื้องหลังการกำเนิดห้องกิฟต์ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อสอบกลางภาคสำหรับเด็กห้องกิฟต์ทุกรุ่น โดยนักเรียนทุกคนต้องสืบหาความจริงเพื่อแข่งขันกันให้ได้คะแนนมากที่สุด ผู้ที่ได้คะแนนมากที่สุดจะขออะไรก็ได้หนึ่งอย่างจากผู้อำนวยการ
หลังการสอบ แปงได้พบคำตอบที่ทำให้เขาได้รับคะแนนพิเศษ แต่มีคำถามมากมายที่เขาไม่เข้าใจ เมื่อเผชิญหน้ากับผู้อำนวยการ บทสนทนาระหว่างเขากับผู้อำนวยการสุพจน์ยิ่งทำให้เขาเข้าใจว่า ระบบเหล่านี้ไม่ควรดำเนินอยู่ต่อไป
“ผมวางระบบนี้ขึ้นมาเพื่อแยกเด็กเก่งกับเด็กอ่อน แยกเด็กพิเศษอย่างคุณออกจากอันตราย”
“แต่ผมว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลยนะครับ ถ้าครูและโรงเรียนปฏิบัติกับเด็กเท่าเทียมกัน ผมคิดว่าพี่วิภาวีร์โดนกดมาตลอดเพียงเพราะว่าเธอไม่เก่งเท่าพี่ณิชา และผมคิดว่าสังคมแบบนี้ต่างหากที่บีบคั้นให้พี่วิภาวีร์อิจฉาคนอื่น ผมว่าเขาน่าสงสารมากเลยนะครับ”
เพียงบทสนทนาสั้นๆ ในตอนนี้ อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกที่หลากหลาย ผู้อำนวยการก็มีเหตุผลที่หนักแน่น เป็นผู้มีอำนาจที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ วัยวุฒิ และความสามารถ แต่ในขณะเดียวกัน แปงซึ่งเป็นนักเรียนที่ต้องเผชิญกับระบบเช่นนี้โดยตรง ย่อมเข้าใจว่าความไม่เท่าเทียมเลวร้ายอย่างไร
“ผมเชื่อว่า ยิ่ง ผอ. เลือกแต่เด็กเก่ง และทอดทิ้งคนธรรมดาไป มันยิ่งทำให้ทุกอย่างแย่ลง ผอ. อุดรอยร้าวนี้ตลอดไปไม่ได้หรอกครับ”
เด็กกิฟต์ปฏิวัติ การศึกษาต้องเท่าเทียมกันทุกคน
สุดท้ายแล้ว เมื่อแปงพยายามต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เขาต้องพบความจริงที่น่าเจ็บปวด และรู้ว่าเขาไม่สามารถเอาชนะผู้อำนวยการที่เหนือกว่าเขาทุกด้านได้เพียงลำพัง แต่การต่อสู้ก็ยังไม่จบลงเสียทีเดียว
การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงภาค 2 The Gifted Graduation เมื่อเด็กรุ่นต่อไปเข้ามาสู่ระบบห้องกิฟต์ของโรงเรียนฤทธาวิทยาคม ซีรีส์ได้พาเราไปไกลมากกว่าความไม่เท่าเทียมในโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพราะเบื้องหลังความพิเศษของเด็กกิฟต์เกี่ยวพันไปจนถึงกระทรวง หน่วยงานระดับประเทศที่กำหนดอนาคตของเด็กไทยทุกคน การต่อสู้ระหว่างกลุ่มนักเรียนและผู้อำนวยการสุพจน์ค่อยๆ พาผู้ชมไปพบกับเงื่อนงำซับซ้อนชวนหักมุม ชนิดที่เดาบทสรุปไม่ออกเลยทีเดียว
ไม่ว่าบทสรุปของซีรีส์เรื่องนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ยังคงอยู่ในความเป็นจริงของระบบการศึกษาไทยก็ไม่ต่างจากสิ่งที่ดำเนินอยู่ในซีรีส์เท่าไรนัก เราทุกคนล้วนอยู่ในระบบที่แหว่งวิ่น อยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงกว่าความเห็นอกเห็นใจกันในฐานะเพื่อนมนุษย์
ในเมื่อการศึกษาเป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาคนให้มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เราอาจต้องทบทวนกันว่าระบบการศึกษาควรเป็นอย่างไร เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกคนเก่งและคนไม่เก่ง จนเกิดความขัดแย้งกันเพราะความไม่เท่าเทียม