“ตอนที่ผมไปเจอชุมชนของพวกน้องๆ ผมรู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอสภาพแวดล้อมอย่างไร แต่ไม่คิดว่าจะต่างกับโรงเรียนในเมืองขนาดนี้ คือเป็นโรงเรียนรัฐบาลเล็กๆ ที่อาจจะเข้าถึงโอกาสน้อยกว่าคนในเมือง”
หนึ่งในคำพูดของนักเรียนโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (ริเวอร์ไซด์) ที่สะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมจนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาไทย จากนิทรรศการแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย ภายใต้ ‘โครงการขยายผลเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และพัฒนานวัตกรรมเครือข่ายการร่วมมือเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา’ (Equity Partnership’s School Network Season 2) ที่ได้รับความร่วมมือจาก 3 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (ริเวอร์ไซด์) กรุงเทพฯ และ JD Central
โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพตามความถนัด และต่อยอดการเป็นผู้ประกอบการ โดยมีโรงเรียนจากชนบท 11 โรงเรียน และโรงเรียนนานาชาติ 5 โรงเรียนเข้าร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือกันในครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกัน สร้างสรรค์ พัฒนา และออกแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชุมชน โดยมี JD Central ในฐานะภาคเอกชนเป็นช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าเหล่านี้
ดร.ไกรยส ภัทราวาส รองผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า “กองทุนฯ ไม่ได้มองแค่การให้ทุน ไม่ได้มองแค่การให้ปลา แต่เรามองว่าจะทำอย่างไรให้เด็กหาเบ็ดตกปลาได้ด้วยตัวเอง เราไม่ได้ยื่นเบ็ดตกปลาให้ด้วย เขาสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทำมาหากิน สร้างประสบการณ์ เรียนรู้ตลาด เรียนรู้เกี่ยวกับการขายของออนไลน์ที่จะเป็นอนาคตของเขาในภายภาคหน้า”
กล่าวคือ การบูรณาการทักษะการประกอบอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนชนบท โรงเรียนในเมือง และร้านค้าออนไลน์ ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือของโครงการนี้ เพื่อช่วยให้โรงเรียนชนบทหรือชุมชนในพื้นที่เกิดแนวคิดต่อยอดการพัฒนานวัตกรรม จนนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ๆ ที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต
ความคิดสร้างสรรค์ เสาหลักของการพัฒนา
มิสเตอร์คริส ซีล (Mr.Chris Seal) ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (ริเวอร์ไซด์) กรุงเทพฯ กล่าวถึงความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่นอกเหนือจากห้องเรียนที่จะช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อเด็กมีความคิดสร้างสรรค์แล้วจะช่วยต่อยอดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาและคนอื่นๆ ได้ในอนาคต
หนึ่งตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยต่อยอดในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้า นั่นคือนักเรียนทีม Lor-Ae จากโรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ จังหวัดลำพูน ที่ร่วมมือกับโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนา สร้างแบรนด์ Mukano (มึกอเนอ) โดยนำสินค้ากระเป๋าย่ามทอมือธรรมดา (สินค้าตั้งต้นของชุมชน) มาพัฒนาต่อยอดเป็นกระเป๋าสะพายไหล่ (shoulder bag) ที่พวกเขาเห็นว่าเป็นทรงที่วัยรุ่นกำลังนิยม มาประกอบเข้ากับลวดลายที่เรียกว่า ลายลูกแก้ว ซึ่งเป็นการออกแบบลายของชาวปกาเกอะญอที่บ้านห้วยต้ม ทั้งเพิ่มสีสันให้สินค้าเพื่อดึงดูดและขยายฐานลูกค้าให้เหมาะกับทุกวัยมากขึ้น
ทั้งนี้ เด็กๆ ทีม Lor-Ae ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์โดยนำกล่องจากกระดาษสาญี่ปุ่น มาใช้บรรจุสินค้า เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์มีความดูดี น่าซื้อ และซ่อนสโลแกนการเปิดประสบการณ์ผ่านกล่องอีกด้วย
นวัตกรรมสินค้าสู่ความยั่งยืนในชุมชน
ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การบริจาคและการช่วยเหลือเพียงครั้งคราว จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างถูกจุด และดูเหมือนจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเสียมากกว่า
โครงการนี้จึงมุ่งหวังพัฒนาทักษะอาชีพให้เด็กๆ สามารถเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเองได้ โดยโครงการช่วยให้เด็กๆ ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ ภาษา และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการลดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำในการศึกษาไทยให้น้อยลง
“สิ่งที่ได้กลับไปคือ องค์ความรู้ใหม่และประสบการณ์ทั้งครูและเด็ก เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีความรู้เรื่องการทำตลาดให้ตรงความต้องการของลูกค้า กสศ. นำนักเรียนนานาชาติมาช่วยปรับกลยุทธ์การขายออนไลน์ และสิ่งที่ได้กลับไปคือการฟื้นฟู สืบสาน อนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าย้อมครามให้มีชีวิตขึ้นมาอีก ผ่านกลุ่มวัยรุ่น คนรุ่นใหม่
หรือนักเรียนของเรา” คำพูดของ ครูนาถฤดี หมายมั่น ครูประจำชมรมครามชาวดง จากโรงเรียนบ้านดงหม้อทอง จังหวัดสกลนคร
ครูนาถฤดียังได้กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยเชื่อมโยงวัฒนธรรมที่กำลังจะหายไปของชุมชนให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ผ่านการออกแบบสินค้าให้ทันสมัยน่าสนใจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เป็นการทำให้เด็กรู้จักการประกอบอาชีพด้วยตนเอง จะทำให้เกิดความยั่งยืนทั้งตัวเด็กและชุมชน เพราะแต่ละผลิตภัณฑ์ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วย การมีกิจกรรมเช่นนี้จึงเป็นการสร้างทั้งรายได้และอาชีพ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนต่อไป
ทักษะที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก
จากความร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงเรียนชนบทและโรงเรียนนานาชาตินี้ ทำให้ระหว่างดำเนินงาน เด็กๆ ได้มีโอกาสพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พวกเขาได้เรียนรู้ถึงความถนัด และทักษะที่แตกต่างของกันและกัน
นักเรียนจากโรงเรียนชนบทไทยส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพราะมีความคุ้นเคยกับวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมากกว่านักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ ที่ส่วนใหญ่มีความรู้ความสามารถในการออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการวางกลยุทธ์การจัดจำหน่าย เพราะโรงเรียนนานาชาติมีหลักสูตรการเรียนการสอนในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการตลาด พวกเขาจึงนำความรู้เหล่านี้มาปรับใช้กับสินค้า เช่น การกำหนดราคา หรือหาวัสดุเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบสินค้าและเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ทั้งยังออกแบบผลิตภัณฑ์ให้น่าซื้อและตรงตามความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น
การเรียนรู้และสร้างผลงานร่วมกันของนักเรียนในโรงเรียนชนบทและนักเรียนโรงเรียนนานาชาติครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโมเดลของการประสานช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านศักยภาพที่แตกต่างกัน และนำทักษะนั้นมาเติมเต็มช่องว่างซึ่งกันและกันได้