ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับคำว่าการเรียนในแบบ “New normal” เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของCovid-19 ที่ยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ หลายโรงเรียนเปิดเรียนไม่ได้ แม้จะมีการปรับให้เรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการเรียนด้วยวิธีการนี้ โดยเฉพาะเด็กตาบอดที่การเรียนในสถานการณ์ปกติของพวกเขาก็มีอุปสรรคมากกว่าเด็กทั่วไปอยู่แล้ว การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ และอาจส่งผลให้พวกเขาเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาจากการเรียนที่ไม่ต่อเนื่อง ด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย รูปแบบการเรียนออนไลน์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
“สำหรับนักเรียนตาบอดของเราไม่มีคนดูแล ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะเรียนยังไง ก็ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องหยุดเรียน เพียงแต่ว่าไม่รู้จะเป็นการหยุดแบบชั่วคราวหรือถาวร ถ้ามันต้องหยุดไปเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลายาวนานขึ้น มันก็จะเป็นการยากที่จะกลับมาต่อติด เราอาจเห็นตัวเลขของเด็กตาบอดที่หลุดออกจากการศึกษาไปเลยก็ได้ ถ้าเราไม่เร่งรีบจัดการแก้ปัญหาตรงนี้”
นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
เสียงสะท้อนจากนายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถึงปัญหาของเด็กตาบอดที่ต้องเปลี่ยนไปเรียนในรูปแบบออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของCovid-19 ที่เด็กตาบอดหลายคนไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเรียนในรูปแบบออนไลน์นี้ได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง จึงกลายเป็นเหตุผลที่เด็กหลายคนตัดสินใจพักการเรียน
อุปสรรคสำคัญที่อาจส่งผลให้เด็กตาบอดหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงสถานการณ์ Covid-19 นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้กล่าวไว้ 4 ประการ
ประการที่ 1 การที่นักเรียนหลายๆคนไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต่อการเรียน และอินเทอร์เน็ต บางคนที่มีก็จะพอเข้าเรียนได้ แต่บางคนที่ไม่มีก็เข้าเรียนไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงแต่เด็กปกติทั่วไปเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แต่เด็กตาบอดที่มีความยากลำบากในการเรียนอยู่แล้ว ก็ยิ่งต้องพยายามเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทวีคูณ
ประการที่ 2 เรื่องความรู้ในการที่จะใช้อุปกรณ์เหล่านั้น นักเรียนหลายๆคนไม่สามารถที่จะใช้อุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องให้ผู้ปกครองคอยช่วยโดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งถ้าครอบครัวไหนไม่มีผู้ปกครองที่จะสามารถคอยดูแลได้ ก็แทบจะตัดขาดจากการเรียนในระบบออนไลน์ไปเลย
ประการที่ 3 แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน คนตาบอดไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะโปรแกรมอ่านหน้าจอไม่สามารถใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มนั้นได้ ในส่วนของโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นอ่านหน้าจอ บางทีก็ไม่สามารถใช้กับแอปเหล่านั้นได้เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าเรียนได้ โดยเฉพาะเด็กตาบอดที่ต้องเรียนร่วมกับเด็กปกติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ นายดรัณภพ นันตาเรือน ผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมาพูดถึง
“ในการจัดรูปแบบออนไลน์ โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมันจะมีแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญเลยเด็กตาบอดไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ได้100% ฉะนั้นเมื่อมีแพลตฟอร์มเหล่านี้ออกมาเราไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของนักเรียนตาบอด มันก็จะเกิดการเข้าไม่ถึงข้อมูล ทำใบงานไม่ทันเพื่อน สอบก็มีปัญหาเรื่องของการติ๊กไม่ตรงเพราะว่าโปรแกรมมันไม่อ่านหรืออ่านไม่ตรงหรืออ่านไม่หมด เด็กก็จะเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปเลย”
ผู้อำนวยการโรงเรียนคนตาบอดนครราชสีมา
ประการสุดท้าย เรื่องการจัดการเรียนการสอนในบางวิชาที่อาจจะต้องใช้การปฏิบัติ เพราะเด็กไม่สามารถที่จะดูท่าทางของผู้สอนและนำมาปฏิบัติตามเองได้ โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ถึงแม้ว่าจะเรียนผ่านระบบโรงเรียนเฉพาะ แต่บางอย่างมันก็ต้องปฏิบัติโดยการที่คุณครูไปจับมือให้เด็กทำ
“ ในวิชาปฏิบัติที่เจอกันบ่อยๆจะเจอในวิชาวิทยาศาสตร์ อันนี้ค่อนข้างยากที่สุดเพราะนักเรียนไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราไม่สามารถจัดการทดลองหรือจัดทำโครงการไปพร้อมๆกันได้ ครูก็ต้องอธิบายไว้เบื้องต้นก่อนแล้วสาธิตทำให้นักเรียนฟังและสังเกต ครูจึงต้องเป็นคนทดลองและอธิบายเองทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วนักเรียนจดบันทึกผล ถ้าในกรณีที่ครูไม่ถนัดเรื่องการอธิบายจะเกิดปัญหา”
ผู้อำนวยการโรงเรียนคนตาบอดนครราชสีมา
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาการเรียนออนไลน์มากมายถูกสะท้อนผ่านสื่อต่างๆออกมาให้ทุกคนได้เห็น ตั้งแต่ระดับผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครอง ตลอดปีกว่าเกือบสองปีที่เราได้ปรับการเรียนการสอนมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่ก็ยังแก้ปัญหาได้ไม่ครอบคลุมนัก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่ขาดแคลนทรัพยากรในการเข้าถึงการศึกษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
มากไปกว่านั้นเด็กตาบอด ซึ่งถูกจัดเป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มเปราะบางก็ประสบปัญหาและผลกระทบหนักจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เพราะแค่ในสถานการณ์ปกติ การเรียนและการใช้ชีวิตก็มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ยิ่งเจอรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ที่ไม่ได้ปรับมาให้เหมาะสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ก็มีโอกาสสูงมากที่เด็กกลุ่มนี้จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเมื่อหลุดไปแล้ว ก็ยากที่จะกอบกู้พวกเขาให้กลับเข้ามาอีกครั้ง ถ้าหากมีการจัดการเรียนการสอนแบบเฉพาะกลุ่มได้ อาจเข้าถึงเด็กในกลุ่มที่มีข้อจำกัดเหล่านี้ได้ดีกว่า