ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็น ‘แม่แบบ’ หรือ ‘พ่อแบบ’ ที่ดีที่สุดให้กับอนาคตของชาติ เพราะทุกการกระทำ ทุกคำสอน และทุกการตัดสินใจ ล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการเป็นครูที่ดีก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เกิดการตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และเทคโนโลยี การสอนแบบท่องจำพร้อมกำไม้เรียวอย่างที่เคยเป็นต้นแบบครูที่ดีของสังคมไทยในสมัยก่อนนั้นก็ดูจะล้าสมัยไปเสียแล้ว คำถามที่น่าสนใจคือ สิ่งใดคือบุคลิกภาพที่ครูควรจะเป็นต่อไปในโลกศตวรรษ 21
ในหลายสังคม ครูที่ดีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ แบบแรกจะให้ความสำคัญกับความเป็นมืออาชีพในการสอน โดยจะยึดองค์ความรู้พื้นฐานบางอย่างเป็นหลักเพื่อที่จะนำมาใช้กับเด็กทุกคน ขณะที่อีกรูปแบบหนึ่งคือ จะยึดถือการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบเป็นหลัก โดยพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเริ่มต้นสอนองค์ความรู้ ความสม่ำเสมอของการสอน และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาร่วมกันของนักเรียน
ทั้งสองประเภทของการเป็นครูนี้จึงอาจจะกล่าวอย่างง่ายว่า รูปแบบแรกคือการเน้นองค์ความรู้พื้นฐานที่มีมาตรฐานหลักในการวัดผลกับนักเรียน หน้าที่ของครูจึงเป็นการทุ่มเทการสอนให้นักเรียนทุกคนแตะมาตรฐานดังกล่าวให้ได้ ขณะที่ครูในอีกรูปแบบหนึ่งจะเน้นถึงการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้เหมาะสมกับการปฏิบัติ มากกว่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่องค์กรการศึกษากำหนด หรือหากเรียกตามแบบสังคมไทยก็คือ ‘ส่วนกลาง’ นั่นเอง
ความเป็นมืออาชีพ (Professional) กับตัวตน (Indentity) ของครู สิ่งใดสำคัญกว่ากัน?
บทบาทของการเป็นครูดูจะเป็นอะไรที่มีความตึงเครียดเป็นอย่างมาก ระหว่างสิ่งใดกับสิ่งหนึ่ง และระหว่างการตัดสินใจทำอะไรอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งเสมอ โดยงานวิจัยของ ฟรานเซสคา ซีนา (Francesca Caena) หัวข้อ Comparative Global Perspectives on European Teacher Education มีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า อาชีพครูในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี นั้นประสบปัญหาร่วมกันคือ การทำให้ครูตกที่นั่งลำบากในการวางตัว ระหว่างการเป็นมืออาชีพในการสอนหนังสือ กับการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ในการสอนได้อย่างลึกซึ้ง ระหว่างการเน้นย้ำระหว่างคุณค่าของความรู้กับทักษะในการใช้ประโยชน์จากความรู้ ระหว่างการใช้องค์ความรู้ของวัฒนธรรมกับการปฏิเสธการใช้วัฒนธรรมมาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการอย่างสิ้นเชิง ระหว่างการประเมินผลนักเรียนแบบตามมาตรฐานกับการผสมผสานกับดุลยพินิจของผู้สอน ไปจนถึงทางเลือกระหว่างการเป็นครูในฐานะกลไกหนึ่งของสังคมในการพัฒนาทักษะของผู้เรียน กับการมีตัวตนในฐานะหน่วยหนึ่งของสังคมที่คอยสร้างตัวตนให้กับนักเรียน
สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายที่อาชีพครูในสมัยใหม่ต้องพบเจอ การกำเนิดนิยามคำว่า ‘บุคลิกภาพ’ (identity) ของครู จึงกลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการเป็น ‘มืออาชีพ’ ในอาชีพครูที่ให้ความสำคัญกับเทคนิคและการเป็นนักบริหาร
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาต่อมาในประเด็นดังกล่าวในปี 2016 โดย เคย์ ลิฟวิงสตัน (Kay Livingston) ในงานที่ชื่อว่า Trends in Teacher Education ที่กล่าวว่า การถกเถียงเรื่องบทบาทของครูในสังคมนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งที่จะตามมาก็คือการพัฒนา ‘บุคลิกภาพแบบมืออาชีพ’ (professional identity) ซึ่งจะสะท้อนและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และการสอนในโรงเรียน
ดังนั้น ภายใต้ความยากลำบากระหว่างการเลือกที่จะเป็นมืออาชีพหรือดำรงคงไว้ซึ่งการมีบุคลิกของตนเองนั้น ทางออกที่น่าสนใจจากงานวิจัยหลากหลายฉบับที่กล่าวมา จึงกลายเป็นการผสมผสานจุดเด่นทั้งสองรูปแบบให้กลายเป็นทิศทางใหม่ในการเป็น ‘บุคคลต้นแบบ’ สถานะบุคลิกภาพแบบมืออาชีพจึงกลายเป็นหนึ่งในทางออกในการเพิ่มศักยภาพของครู
เมื่อบุคลิกไม่ได้เป็นด้านตรงข้ามกับการเป็นมืออาชีพอีกต่อไป ครูสมัยใหม่จึงเกิดขึ้น
ดูเหมือนว่าประโยคอมตะอย่าง “ฉันคิด ฉันจึงเป็น” (I Think, therefore I am) ที่หมายถึงลักษณะตัวตนของบุคลิกภาพ จะถูกแทนที่ด้วยความเป็นสมัยใหม่ว่า “ฉันสื่อสาร ฉันจึงเป็น” (I communicate, therefore I am) ไปเสียแล้ว อาชีพครูเองก็เช่นกัน การเอาตัวตนของตนเองใส่ลงไปในการสอนด้วยดูจะไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเหมือนสมัยก่อนอีกต่อไป
การพัฒนาบุคลิกภาพแบบมืออาชีพนั้น เรียกว่า ‘การประกอบสร้างของระบบนิเวศวิทยา’ (ecological construct) ที่จะสร้างการ ‘แลกเปลี่ยนแบบซ้ำ’ (double transaction) หมายถึง การสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างปัจเจกและบริบทของผู้อื่น ผสมกับการแลกเปลี่ยนภายในตัวเองระหว่างสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการสร้างระบบนิเวศในการพัฒนามนุษย์ที่ดี
การประกอบสร้างของระบบนิเวศวิทยามีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการเรียนการสอนในโรงเรียน เนื่องจากระบบนี้มีผลต่อการพัฒนาในทุกระดับของมนุษย์ และยังสามารถเปิดพื้นที่ให้มีการพัฒนาและตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ในสังคมได้อย่างดี สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนที่ดีต่อผู้เรียนเกิดขึ้นได้ และตัวครูผู้สอนเองยังมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการพัฒนาบุคลิกแบบมืออาชีพนี้ด้วยเช่นกัน
การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำหรับครูนั้น อาจหมายถึงการให้ความสำคัญกับการสื่อสารและพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อก้าวสู่การมีบุคลิกภาพแบบมืออาชีพมากขึ้น ครูที่มีบุคลิกแบบมืออาชีพจึงเป็นครูต้นแบบที่เหมาะสมสำหรับกระแสโลกปัจจุบันที่ต้องเผชิญความท้าทายมหาศาลในการเรียนการสอน
สุดท้ายนี้กระบวนการสร้างบุคลิกภาพแบบมืออาชีพของครูนั้นก็ยังไม่อาจจะทำได้โดยครูคนเดียว โดยในงานศึกษาของ เอมิเลีย โลเปซ (Amélia Lopes) ที่ชื่อ Still Building a Better World? Research Reflections on Teacher Education and Identity ได้กล่าวต่อยอดไปจากประเด็นต่างๆ ข้างต้นว่า ประเทศที่มีระบบการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาที่ดี จะสร้างภาพจำของความเป็นมืออาชีพของครูในลักษณะที่เข้มแข็งและทรงคุณค่า โดยการพัฒนาบุคลิกภาพแบบครูมืออาชีพ จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาร่วมกัน (collective) ระหว่างบุคลากรทางการศึกษาจึงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์และเพิ่มบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน จะทำให้กระบวนการสร้างศักยภาพของทั้งผู้เรียนและผู้สอนประสบความสำเร็จ
ดังนั้น ‘ครูต้นแบบ 2021’ จึงไม่ใช่การเป็นเพียงครูที่สอนหนังสือได้ครบถ้วนตามเนื้อหา หรือวัดผลทางการศึกษาของนักเรียนให้ผ่านเกณฑ์แต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องผสมผสานการพัฒนาบุคลิกภาพของตนเองให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างของแต่ละห้องเรียน การสร้างสมดุลในหลักสูตร รวมถึงเพิ่มความแน่นแฟ้นของความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรการศึกษา เพื่อยกระดับบรรยากาศระบบนิเวศในห้องเรียนให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
อ้างอิง
Lopes, A. (2019). Still Building a Better World?: Research Reflections on Teacher Education and Identity. In Kowalczuk-Walêdziak M., Korzeniecka-Bondar A., Danilewicz W., & Lauwers G. (Eds.), Rethinking Teacher Education for the 21st Century: Trends, Challenges and New Directions (pp. 27-42). Opladen; Berlin; Toronto: Verlag Barbara Budrich. doi:10.2307/j.ctvpb3xhh.6