เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้กล่าวถึงการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัยสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย โดยมีโครงการนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 265 โรงเรียน ใน 8 จังหวัด และเริ่มใช้หลักสูตรนี้ในช่วงชั้นที่ 1 ป.1-ป.3 ในภาคเรียนที่ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานี้ (1) และมีแผนขยายผลหลักสูตรไปใช้ในช่วงชั้น และโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป (2)
เพื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาเป็นห้องเรียนที่มีความหมายที่นักเรียนคิดได้ ทำเป็น เห็นคุณค่า และค้นพบเป้าหมายของตนเอง การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง Equity talk ครั้งที่ 18 สอนอย่างไรให้ได้สมรรถนะขอชวน ผอ. และคุณครูทุกท่านมาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลย
ความสำคัญจำเป็นของหลักสูตรฐานสมรรถนะ
“สาระความรู้มี Life cycle สั้น เราไม่สามารถเรียนรู้โดยการจำได้อีกต่อไป ความรู้จะเกิดขึ้นหากได้ลงมือทำ”
ครูแจ๊ค
ครูแจ๊คกล่าวเพิ่มเติมว่าความสามารถที่ถดถอยในการทำงาน จำต้องเพิ่มนักคิด นวัตกร สร้างสมรรถนะ พัฒนาให้มี K (Knowledge) S (Skill) A (Attitude) การเปลี่ยนจากการสอน (Teaching) เป็นการฝึกฝน (Training) จึงสำคัญ
จากหลักสูตรแกนกลางตามมาตรฐานที่ใช้มากว่า 20 ปี ครูเดนท์มองว่า “เป็นหลักสูตรที่มีความทันสมัย แต่เรานำมาปรับใช้ไม่ได้ เรายังคงสอนโดยใช้เนื้อหาเป็นฐานอยู่ จึงยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าหากเราจะปรับหลักสูตร แต่วิธีคิดยังเหมือนเดิม ก็คงเป็นเช่นเดิม”
ปรับวิธีคิดโดยเริ่มจากความเชื่อของครู
ครูเดนท์ แลกเปลี่ยนว่าความเชื่อของครูควรอยู่บนพื้นฐาน ดังนี้
1.เชื่อว่าธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เด็กมีความต้องการ เป้าหมายต่างกัน (Equity) แล้วสนับสนุนเขาในเรื่องนั้น ไม่ใช่แบบ Equality ที่ให้ทุกคนเหมือนกัน ครูเป็นผู้ผูกขาดความรู้ทำให้เกิดนักเรียนหน้าห้อง หลังห้อง และหลังห้องที่มีความคิดไปไกลกว่าครูแล้ว
2.ว้าวกับตัวเองที่เห็นว่าสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ นอกเหนือจากจะว้าวกับสิ่งที่ครูสอน ถ้าเขาว้าวตัวเองได้ เมื่อไปเจอความรู้ที่คนอื่นคิดแล้วพบว่ามันตรงกันเขาจะเกิดความภูมิใจในตนเอง เด็กจะเป็น Mastery (รู้จริง) ในเรื่องนั้น แต่จะไปถึงตรงนั้นได้ ครูต้องเป็น supporter ที่รู้จักเด็กแต่ละคนตามความเป็นจริงของเขา ไม่ใช่แค่ให้เขาเรียนให้เวลาครบจบแน่ !
3.กำแพงของโรงเรียนเตี้ยลง การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นจากครูที่สอนเขาอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นจากครูที่ไหนก็ได้
เช่นกันกับครูแจ๊คที่มี 7 wonder ที่ครูควรเชื่อมาแลกเปลี่ยน ดังนี้
1.บทบาทครูเปลี่ยนแปลงไปเป็นโค้ช สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กมั่นใจ ศรัทธาในห้องเรียนว่าจะทำให้เขาพัฒนาได้ ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงศักยภาพ ตามแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา ทำให้เท่าเทียมทุกคนรองรับรูปแบบการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เพื่อเปลี่ยนห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีเด็กหน้าห้อง หลังห้อง เป็นห้องเรียนวงกลมที่ทุกคนเสมอภาคกัน
2.เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริง ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
3.เข้าใจตนเอง และเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของแต่ละบุคคล อ่านตนออก บอกตนชัด พัฒนาเสมอ ผ่านการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดที่ควรพัฒนาของตนเอง
4.วางแผน
5.กำกับตนเอง โดยให้อิสระกับนักเรียนแต่ละคนตามศักยภาพ
6.Transformative learning ทำให้เด็กอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองไปในทางที่ดีขึ้น โดยครูออกแบบสถานการณ์ที่กระชากใจ และเป็นจุดคานงัดทำให้นักเรียนอยากแปลี่ยนแปลง การเป็นนักออกแบบที่สนุก ตื่นเต้น ท้าทายจึงสำคัญ
7.ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดึงให้ทุกคนมีการตอบสนองเท่ากัน
จากการตัดเกรด สู่การส่งเสริมการพัฒนาเป็นรายบุคคล
ครูแจ๊คเล่าว่าการวัดและประเมินผลมี 3 ลักษณะสำคัญ
1.วัดเพื่อการพัฒนา (Formative) ไม่ใช่การให้คะแนน แต่เป็นการให้ฟีดแบคเพื่อการพัฒนา (Constructive feedback) บอกจุดที่ทำได้ดี จุดที่ความพัฒนา ในรูปแบบ rubric หรือ การต่อยอดความสามารถผ่าน scaffolding
2.วัดตามสภาพจริง (Authentic) ที่ทำได้ทั้ง K S A โดยที่ครูต้องคำนึงถึงต้นทุนชีวิตเด็กแต่ละคน ไม่ได้วัดตามมาตรฐานของครูเอง
3.สอดแทรกการฝึกระหว่างการวัด (Embedded) เช่น ในหนังจีน ที่ต้องฝึกกำลังภายในทีละขั้นตามภารกิจ เมื่อลงมือทำแล้วก็ประเมินผลที่เกิดขึ้น อาจมีการ deconstruct วิเคราะห์ความสามารถจากชิ้นงานที่ทำร่วมด้วย
“การวัดและประเมินผลของสมรรถนะจะมองที่ความสามารถที่แท้จริงของเด็กในตอนปลายเทอมเท่านั้น”
คือสิ่งที่ครูเดนท์มองว่าเปลี่ยนแปลงไปจากระบบการตัดเกรดแบบเดิม ที่เป็นผลรวมของคะแนนที่เกิดขึ้นระหว่างทางและปลายทางที่มีคะแนนเต็มร้อย ซึ่งรวมทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งในห้องเรียน นอกห้องเรียน รวมถึงเรื่องราวในอดีต ทำให้คะแนนที่ได้ผูกรวมกับเรื่องอื่นด้วย
ครูเดนท์ยกตัวอย่างการวัดสมรรถนะนักเรียนจากการว่ายน้ำ เริ่มต้นจากการตีขาอยู่กับที่ โค้ชจะเข้าไปดูทีละคน ประเมินผ่านการสังเกตในตอนนั้น และส่งเสริมเขาในทันทีโดยการบอก หรือทำให้ดู ถ้าผ่านแล้วก็ให้ไปเกาะบอร์ดพร้อมกับตีขา ฝึกหายใจ ใช้มือ ต่อไปเป็นลำดับ ซึ่งเป้นการวัดและประเมินผลจากความสามารถของเด็กในขณะนั้นจริงๆ
“การสอบไม่ใช่ตัวร้าย สามารถนำมาใช้เป็นวิธีวัดได้ ถ้าเราบอกได้ว่าสอบแล้ว จะทำอะไรต่อเพื่อให้เกิดการพัฒนา”
ครูเดนท์
ความท้าทายของการจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรฐานสมรรถนะ
1.วิธีคิดแบบอุตสาหกรรม ที่มองว่าทุกคนเหมือนกัน
2.มายาคติในการประเมินความดีความชอบ โครงสร้างอำนาจนิยมจากบนลงล่าง ทำให้ภาระงานครูมีจำนวนมาก ผอ.ไม่ได้เป็นผู้นำทางวิชาการ
3. โรงเรียนไม่มีอิสระในการตัดสินใจทำเอง การประเมินครูที่เอกสารมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับเด็ก
4.วัฒนธรรมการทำวิจัยในชั้นเรียน เป็นการบอกว่าหน้างานมีปัญหาอะไร ต้องปรับตรงไหน แต่ปัจจุบันเราส่งเสียงแต่ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงอาจทำให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
5.ผอ. ย่อมาจากคำว่า ผู้อำนวยการโรงเรียน ไม่ใช่เจ้านาย จะต้องอำนวยให้คนที่อยู่ข้างล่างทำงานได้
6.การร่วมมือกันจัดการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของฉันหรือของเธอ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกัน
“จุดคานงัดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ คือการให้อิสระโรงเรียนในการตัดสินใจ
และการประเมินครูที่ควรดูจากเด็กไม่ใช่เอกสาร”
ภาคส่วนอื่นๆ มีส่วนช่วยสนับสนุนได้อย่างไร
1.โรงเรียน ต้องมีวัฒนธรรมแห่งความเชื่อใจ เชื่อว่าครูมีศักยภาพนำพาเด็กไปได้ เอื้อให้ครูแชร์วิธีการทำงานกัน
2.พ่อแม่ ไม่ได้มีแค่หน้าที่จ่ายเงินส่งลูกเรียน แต่ต้องจับมือกับโรงเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กับลูก ต้องเข้าใจครู และไม่คาดหวังหรือทิ้งภาระให้โรงเรียนดูแลลูกฝ่ายเดียว
3. ชุมชน มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทรัพยากร เนื้อหา และกำลังใจ เช่น โครงการที่ทำให้นักเรียนเข้าใจบริบทของชุมชน และชุมชนเข้าใจ เข้าถึง คุณค่าของตัวเอง
4. นโยบาย การยอมให้เด็กไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เข้า workshop หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้
สู่การเป็นสังคมแห่งการให้
ครูเดนท์มองว่า “เมื่อก้าวเข้าสู่การเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะได้อย่างจริงจัง จะเห็นการร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน เกิดการแบ่งปันมากกว่าการแก่งแย่งแข่งขัน เกิดความเสมอภาคที่โปร่งใสทุกการกระทำจากการประเมิน เด็กไม่ต้องนั่งเรียนในโรงเรียนเท่านั้นจึงจะจบได้ การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้ดูแลเด็กในพื้นที่ที่ครูไม่เพียงพอได้อย่างทั่วถึง”
เช่นกันกับครูแจ๊คที่มองว่า “คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น ความยากจนลดน้อยลง คนคิดเองทำเองได้ มีนวัตกรรมมากขึ้น เบียดเบียนกันน้อยลง สู่การเป็นสังคมแห่งการให้อย่างแท้จริง”
ขอบคุณวิทยากรทั้ง 2 ท่านที่มาแลกเปลี่ยนกันใน Equity talk ครั้งที่ 18 สอนอย่างไรให้ได้สมรรถนะ
ครูแจ๊ค – รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี
ครูเดนท์ – อ.ศราวุธ จอมนำ
รองผู้อำนวยการฝ่ายมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สิรามล ตันศิริ
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์
อ้างอิง
(1) https://www.komchadluek.net/news/487714
(2) https://cbethailand.com