กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)จึงมองว่า โรงเรียนจะเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมที่สุดในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ไม่ให้หลุดจากระบบ และยังสามารถร่วมกับทุกภาคส่วน แก้ปัญหาได้จากต้นทาง ก่อนที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
กสศ. ในฐานะที่มีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พัฒนาคุณภาพครู เพื่อให้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละคน จึงจัดให้มีโครงการการสังเคราะห์สาเหตุการหลุดออกจากระบบการศึกษา ของนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขขึ้น เพื่อนำข้อมูลในรูปแบบการวิเคราะห์ มาสะท้อนกลับไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ให้สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นการสร้างแบบจำลองให้นำไปปฏิบัติได้จริง
ผศ.ดุสิตา ทินมาลา ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการทำโครงการนี้ไว้ว่า สิ่งสำคัญหากต้องการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ทุกฝ่ายควรเข้าใจ และช่วยเหลือให้กลุ่มเปราะบางพึ่งพาตนเองให้ได้ เพราะเป้าหมายของโครงการไม่ใช่เพียงให้เด็กที่เสี่ยงจะหลุดจากระบบยังคงอยู่ในระบบต่อไปเท่านั้น แต่เป็นการเข้าไปอยู่ในสังคมได้ด้วย หากโรงเรียนสามารถช่วยเหลือได้ทั้งในด้านวิชาการ และด้านพฤติกรรมของเด็ก ก็จะทำให้เด็กพัฒนาได้ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเห็นว่าการศึกษาตามระบบ อาจไม่ได้ทำให้เด็กมีงานทำ แต่เป็นการทำให้เด็กภาคภูมิใจ ซึ่งถือเป็นการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ จึงเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องให้เด็กกลุ่มเปราะบางในระบบ เข้ามาเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีกรณีเด็กที่ป่วยติดเตียง ซึ่งยังจำเป็นต้องได้รับบริการทางการศึกษาที่เหมาะสม ให้เด็กได้พัฒนาตนเองเต็มศักยภาพ เด็กกลุ่มนี้ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาโรงเรียน แต่ยังสามารถเรียนรู้อยู่ที่บ้านได้ พร้อมแนะว่าควรให้มีโครงการ Best Buddies ให้เด็กกลุ่มเปราะบางได้จับคู่กับเด็กปกติ ทำให้เกิดการช่วยเหลือดูแลกันเอง
เช่นเดียวกับ ดร.ศิรินธร วิทยะสิรินันท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ส และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเด็กเปราะบาง ที่มองว่า สิ่งแรกที่ต้องทำในการแก้ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางหลุดออกจากระบบ คือควรทำให้สังคมมองความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ ไม่มองเด็กพิเศษแยกส่วน ควรให้เด็กกลุ่มนี้มีชื่ออยู่ในห้องเรียน ไม่ว่าจะใช้เวลาอยู่ในห้องมากหรือน้อยก็ตาม เพื่อให้ครูรู้สึกว่าเด็กคนดังกล่าวอยู่ในความดูแลของตนเอง แต่ที่ผ่านมากลับพบปัญหาคือ ครูส่วนใหญ่ไม่รู้ความต้องการของเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ เนื่องจากขาดทั้งความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งเมื่อเด็กต้องเรียนรวมกัน กลับไม่มีสื่อการเรียนรู้ ที่อำนวยความสะดวกในชั้นเรียนขนาดใหญ่ สำหรับเด็กที่มีความสามารถแตกต่างกัน จึงเห็นว่าในการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะสามารถนำไปสร้างระบบการเรียนการสอน แก้ปัญหาเด็กออกจากระบบได้จริง จะต้องเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มโรงเรียนที่ปฏิเสธการรับเด็กพิเศษเข้าเรียนรวมด้วย เพื่อทำความเข้าใจแล้วนำมาสร้างเป็นระบบใหม่ให้กับสังคม
สำหรับผลลัพธ์ของโครงการ หลังทีมวิจัยใช้เวลาในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูกว่า 1 ปี ตั้งแต่ ก.พ. 2564 ถึง ม.ค. 2565 ทำให้เกิดแบบจำลองการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง ให้โรงเรียนนำไปใช้ได้จริงอย่างน้อย 4 รูปแบบ รวมทั้งได้รวบรวมบทเรียน ที่สามารถมองเห็นสาเหตุความเสี่ยงหลุดออกจากระบบของเด็กกลุ่มเปราะบาง และแนวทางขับเคลื่อนที่ทั้งโรงเรียนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กอย่างน้อย 4 รูปแบบ เกิดข้อเสนอเชิงนโยบาย สร้างโอกาสความเสมอภาคให้เด็กเปราะบาง และเกิดสื่อในรูปแบบที่สามารถสร้างการรับรู้ และความเข้าใจต่อบทเรียนได้จากการศึกษาในรูปแบบต่างๆไม่ต่ำกว่า 5 ชิ้น
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดระบบสนับสนุนเด็กกลุ่มเปราะบาง ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ฐานความเชื่อว่า เด็กอายุไม่เกินม.3 ยังควรอยู่ในระบบการศึกษา และเด็กกลุ่มเปราะบางไม่ควรถูกแยกออกจากสังคมในระบบการศึกษา ดังนั้นการศึกษารวบรวมและวิเคราะห์สาเหตุการหลุดจากระบบการศึกษาตามโครงการการสังเคราะห์สาเหตุการหลุดออกจากระบบการศึกษา ของนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไข ครั้งนี้ กับผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้นักวิจัยต่างหวังว่าหลังจากนี้ จะเกิดนโยบายในหน่วยงานระดับต่างๆ ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ลดจำนวนเด็กกลุ่มเปราะบางหลุดจากระบบได้จริง นำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ในอนาคตด้วย