เรื่อง: ณัฐชา ก๋องแก้ว
นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.)
สถานการณ์ COVID-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
ปี 2563 ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมาย กสศ. โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่อยู่ในครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำสุดร้อยละ 10-15 ของประเทศ หรือครัวเรือนของ ‘นักเรียนยากจนพิเศษ’ (รายได้เฉลี่ยของสมาชิกครัวเรือนต่ำกว่า 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน) ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เปรียบเทียบก่อนและหลังการแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 พบว่า จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนล่าสุด (ภาคเรียนที่ 2/2563) มีจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษสูงถึง 1.17 ล้านคน
เมื่อพิจารณาสถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 (ภาคเรียนที่ 1/2562) ครัวเรือนยากจนพิเศษมีรายได้หลักจากเงินเดือน/ค่าจ้าง รองลงมาคือสวัสดิการจากรัฐ/เอกชน และภาคการเกษตร แต่ภายหลังการแพร่ระบาดฯ (ภาคเรียนที่ 1/2563 – ภาคเรียนที่ 2/2563) กลับพบว่าครัวเรือนยากจนพิเศษต้องพึ่งพารายได้จากสวัสดิการจากรัฐ/เอกชนมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตกงาน/การว่างงานฉับพลัน ทำให้แรงงานบางส่วนอพยพกลับภูมิลำเนา และหันไปประกอบอาชีพทางการเกษตรมากขึ้น ส่งผลให้สมาชิกในครัวเรือนอายุ 15 – 65 ปี ที่ว่างงาน (ไม่ใช่นักเรียน/นักศึกษา) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนสมาชิกเฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษก็เพิ่มขึ้นจาก 4 คน เป็น 5 คน อีกทั้งผู้ปกครองของนักเรียนยังมีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษ ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยลดลง จาก 1,159 บาท/คน/ครัวเรือน เป็น 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือลดลงกว่าร้อยละ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนสถานการณ์ COVID-19 และจากข้อมูลล่าสุดในภาคเรียนที่ 2/2563 พบว่ารายได้เฉลี่ยครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษมีอัตราลดลงอีกร้อยละ 5 อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,021 บาท/คน/ครัวเรือน
นอกจากนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านมายังได้ส่งผลกระทบต่อปฏิทินการศึกษาในปีการศึกษา 2563 มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนถึง 2 เดือนในภาคเรียนที่ 1/2563 และมีการหยุดเรียนชั่วคราวในภาคเรียนที่ 2/2563 ในหลายพื้นที่ ทำให้สถานศึกษาต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ นั่นจึงส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง ทั้งด้านการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนบางส่วนตัดสินใจไม่ศึกษาต่อในระบบการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากสถานะทางเศรษฐกิจหรือกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ
จากข้อมูลจากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 (MICS6) ก่อนวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 พบว่า อัตราการเข้าเรียนของเด็กที่มีสถานะยากจนและร่ำรวยแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ ร้อยละ 87 ของเด็กในครัวเรือนที่มีสถานะร่ำรวยได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีสถานะยากจนได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพียงร้อยละ 53 เท่านั้น (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 สถานการณ์การหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย ปี 2562
ที่มา: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
ดังนั้น เพื่อหามาตรการป้องกันเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน กสศ. จึงร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ. อปท. และ ตชด.) ทำการสำรวจและติดตามข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาล 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาคในช่วงชั้นรอยต่อ (800 บาท) เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาต่อในภาคเรียนที่ 1/2564 เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสถานการณ์ COVID-19 และมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากช่วงรอยต่อ ซึ่งจากผลการสำรวจนักเรียนที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวนทั้งสิ้น 294,454 คน พบว่า มีนักเรียนที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อจำนวน 5,857 คน แต่เปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อในช่วงเปิดภาคเรียนจำนวน 1,740 คน
สำหรับกลุ่มนักเรียนที่ระบุว่าต้องการเรียนต่อ พบว่า นักเรียนจำนวน 240,341 คน หรือร้อยละ 86 ของกลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อซึ่งมีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลรายบุคคลของต้นสังกัด ได้แก่ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) แต่อีกจำนวน 39,943 คน หรือร้อยละ 14 กลับไม่พบข้อมูลการเรียนต่อในแต่ละสังกัดดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นปีสุดท้ายของการศึกษาภาคบังคับ
สิ่งที่น่ากังวลคือ เด็กนักเรียนบางคนอาจเลือกเส้นทางที่จะออกไปทำงานหารายได้เพื่อมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวมากกว่าการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นมิติของความยากจนหรือฐานะทางเศรษฐกิจจึงเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เด็กเสี่ยงออกกลางคัน ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้สูญเสียโอกาสในการเรียนต่อรวมถึงโอกาสที่จะมีรายได้ที่สูงขึ้น เพียงพอที่จะสามารถยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเบื้องต้นก็อาจยังไม่สามารถสรุปจำนวนการออกกลางคันของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้แน่ชัด เนื่องจากนักเรียนบางคนอาจเข้าศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาหรือเรียนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ดังนั้น กสศ. จึงได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลนักเรียนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเด็กที่ระบุว่าจะเรียนต่อ แต่สุดท้ายไม่ได้เรียนต่อว่าปัจจุบันไปอยู่ที่ไหน และสาเหตุของการไม่เรียนต่อคืออะไร รวมถึงกลุ่มที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อและเปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อว่ามาจากสาเหตุใด เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และวางแผนการทำงานช่วยเหลืออย่างเป็นระบบที่ยั่งยืน