เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลสุรินทร์ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 9 นครราชสีมา และเทศบาลเมืองสุรินทร์ เปิดงาน โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” และ “โครงการเด็กไทยสายตาดี”ณ ห้องประชุมสระโบราณ โรงพยาบาลสุรินทร์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสายตาที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ ปิดจุดเสี่ยงที่จะทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยให้เด็กเยาวชนในจังหวัดสุรินทร์ ได้รับการตรวจวัดสายตา ตัดแว่นฟรีตามสิทธิประโยชน์ และเข้าถึงการรักษา
ทั้งนี้โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” โดย Equity Lab มุ่งสร้างกลไกส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นสายตาที่มีคุณภาพ และเกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตา เพื่อเข้าถึงสิทธิการดูแลรักษาที่ทันท่วงที และยังมุ่งเป้าเชื่อมต่องานไปยังภารกิจ Thailand Zero Dropout เพื่อสำรวจค้นหาเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และใช้ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือที่สอดคล้องกับอุปสรรคของเด็กและครอบครัวเป็นรายกรณี
จากข้อมูลการตรวจคัดกรองสายตานักเรียนจังหวัดสุรินทร์ ในโครงการ I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต และ โครงการเด็กไทยสายตาดี ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา คณะทำงานได้คัดกรองสายตานักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งหมด 6,040 คน พบกลุ่มที่ต้องตัดแว่นตาทั้งหมด 265 คน คิดเป็นสัดส่วนของเด็กประมาณร้อยละ 5 โดยเด็กที่ต้องตัดแว่น จะได้รับมอบแว่นตาในพิธีเปิดนี้ เบื้องต้น 163 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ได้แก่ โรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ โรงเรียนเมืองสุรินทร์ และโรงเรียนอนุบาลสุรินทร์ ส่วนเด็กกลุ่มที่เป็นโรคตา ได้แก่ แผลเป็นที่จอตา เลือดออกในจอตา เยื่อบุตาอักเสบ ไรฝุ่นเกาะที่เปลือกตา ตาเหล่ ตาเข ตาขี้เกียจ หนังตาตก ตาสั่น ต้อกระจก ทำตาปลอม มีการส่งต่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับจักษุแพทย์ ในระหว่างวันที่ 5 สิงหาคม ถึง 14 กันยายน 2567 นี้ และจะได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสุรินทร์
นายแพทย์ชวมัย สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวในการเปิดงานว่า การที่กลุ่มงานจักษุวิทยา กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สปสช.เขต 9 เทศบาลเมืองสุรินทร์ และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการฯ ขึ้นมา เพื่อดูแลสุขภาพตาของเด็กและเยาวชนและช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเรียนรู้ พฤติกรรม และพัฒนาการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตไปเป็นบุคคลากรที่ดีในอนาคต
“สายตาสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การให้การรักษาที่เหมาะสมจะช่วยให้เขาเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่ดีได้ เป็นที่น่ากังวลยิ่งว่าการคัดกรองพบว่าเด็ก 6,040 คน มีเด็กที่สายตาผิดปกติถึง 265 คน เด็กราว ๆ ร้อยละ 5 มีปัญหาสายตาตั้งแต่ต้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กขาดความสมดุลทางพัฒนาการไป คนไทยตอนนี้คลอดปีละ 516,000 คน จากเดิมปีละล้านกว่าคน อัตราการเพิ่มประชากรติดลบประมาณร้อยละ 0.12 ประเทศจะพัฒนาไปข้างหน้าเราต้องตระหนักว่า ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะเป็นพลังของอนาคต”
นายแพทย์ชวมัย ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเล็งเห็นความสำคัญในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมมือกันเพื่อเด็กและเยาวชนของชาติ อยากให้มีการบอกปากต่อปาก เพราะการทำงานในครั้งนี้เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้น ซึ่งอาจจะมีเด็กจำนวนมากกว่านี้ที่มีประเด็นปัญหาด้านสายตา
ขณะที่ นายแพทย์สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ สะท้อนว่า วันนี้ถือเป็นก้าวหนึ่งของการดูแลสุขภาพเชิงรุก จากก่อนหน้านี้เป็นการดำเนินการในเชิงรับในเรื่องของการรักษา หรือการดูแลในทั่วๆไป แต่การทำงานในลักษณะนี้เป็นการเข้าไปถึงในชุมชนเพื่อค้นหาเด็กที่มีปัญหาด้านสายตา จากนั้นนำมาดำเนินการต่อในเรื่องของการรักษา ซึ่งประกอบกับทางกสศ. ได้เข้ามาร่วม เป็นโอกาสให้เชื่อมต่อการทำงาน โดยกสศ. มีการสนับสนุนองค์ความรู้และองค์ประกอบอื่นๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้เกิดขึ้น ดังนั้นจะเห็นภาพการดำเนินงานที่ครบวงจรสามารถต่อเนื่องไปได้
“จากการดำเนินการในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าหลายท่านได้เห็นและต่อไปในการดำเนินการจะกระจายไปสู่แต่ละอำเภอ โดยโรงพยาบาลอำเภอเป็นศูนย์กลางในการที่จะตรวจรักษา ในขณะเดียวกันเป็นศูนย์ที่จะประสานไปในส่วนของโรงเรียน เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และเด็กที่อายุ 12 – 15 ปี ก็จะมีการประสานเข้ามาตรวจประเมิน ในภาพรวมของวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นศักยภาพการร่วมมือของพวกเราใน 3 ส่วน แล้วก็นำไปสู่ในการดำเนินการที่จะช่วยกันขับเคลื่อนให้ทรัพยากรที่มีคุณค่าของพวกเรามีศักยภาพที่เต็มที่”
นอกจากนี้นายแพทย์สินชัยยังกล่าวขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ และจากการสำรวจข้อมูลครั้งนี้ อาจต้องมีการทบทวนข้อมูลในเชิงลึกอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะคัดกรองเด็กกลุ่มนี้ให้ได้ทั้งหมด โดยใช้เครือข่ายของสาธารณสุขลงไปในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ดำเนินการได้ครอบคลุม ภายหลังจากหารือร่วมกันทั้ง 3 ส่วน จะมีการดำเนินการต่อโดยใช้พื้นที่อำเภอทุกแห่ง เริ่มจากแนวชายแดนและพื้นที่ห่างไกลต่อไป
แพทย์หญิงมันตาภรณ์ อิฐรัตน์ หัวหน้าแผนกจักษุวิทยา โรงพยาบาลสุรินทร์ กล่าวสะท้อนว่า ปัญหาสายตาเด็กเป็นปัญหาที่ค่อนข้างพบได้น้อยแต่มีความสำคัญมาก เพราะการมองเห็นที่ดีจะส่งเสริมในเรื่องพัฒนาการและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน และจะทำให้เติบโตไปอย่างสมวัย “โครงการเด็กไทยสายตาดี” และ “โครงการ I SEE THE FUTURE”จะมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยโครงการเด็กไทยสายตาดีมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถมศึกษาชั้นที่ 1 ส่วนโครงการ I SEE THE FUTURE ครอบคลุมเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทั้งสองโครงการมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การช่วยขจัดปัญหา คัดกรอง และแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติในเด็กเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งโรงพยาบาลสุรินทร์เป็นจุดเชื่อมต่อของ 2 โครงการ นี้ที่จะรับเด็กที่มีความผิดปกติทางสายตาเข้ามาตรวจอย่างละเอียด รวมทั้งมีกลุ่มงานเวชกรรมสังคมของโรงพยาบาลสุรินทร์ที่เข้ามาร่วมทำงานในเชิงรุกเพื่อประสานงานกัน
“โครงการเด็กไทยสายตาดี และโครงการ I SEE THE FUTURE เป็นจุดที่มาเชื่อมต่อระหว่างโรงเรียนที่มีความด้อยโอกาส เด็กส่วนใหญ่ในเมืองไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรือว่าอำเภอใหญ่ ๆ เข้าถึงบริการของสาธารณสุขได้อยู่แล้ว แต่ว่าในเด็กที่อยู่ในโรงเรียนที่ห่างไกล เช่น ชายแดนหรือโรงเรียนที่อยู่ตามตำบลเข้าแทบไม่ถึงเลย 2 โครงการนี้มีบุคลากรเข้าไปในเชิงรุกตำแหน่งนั้น ทำให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข ให้มีความเสมอภาคมากขึ้น”
ปัจจุบันคัดกรองสายตาเด็กได้ร้อยละ 70-80 ดังนั้นแผนการดำเนินงานในช่วงต้น คือ การคัดกรองสายตาเด็กให้ได้ทั้งหมด ครอบคลุมทั้งเด็กในเมือง ชายแดน และเด็กต่างชาติกลุ่มที่ข้ามมาเรียนในจังหวัด ซึ่งหากดำเนินการในส่วนแรกแล้ว จึงหาแนวทางการเพิ่มบริการเชิงรุกให้มากขึ้น เช่น อาจมีการจัดทีมลงพื้นที่ไปทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ในส่วนแนวทางการติดตามรักษา มีทั้งกลุ่มสายตาผิดปกติ สายตาขี้เกียจ ตาเข และกลุ่มที่มีความผิดปกติในลูกตา สามารถแบ่งประเภทของการรักษาได้ ดังนี้ ภาวะสายตาผิดปกติอาจจะรักษาโดยการใส่แว่นตา ทั้งแว่นสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาว ส่วนภาวะตาขี้เกียจต้องรักษาร่วมกับกลุ่มที่สายตาผิดปกติ โดยการปิดตาให้สายตาทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงการใช้ยาร่วมด้วย ในส่วนกลุ่มตาเขหรือตาเหล่จะต้องใช้การผ่าตัดเข้าช่วย โดยเด็กที่มีค่าสายตาจะนำค่าสายตาไปตัดแว่น และสามารถเบิกสิทธิจากสปสช.ได้ ซึ่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 มีโครงการสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช. สามารถเบิกแว่นตาได้ฟรีในเด็กอายุ 3-12 ปี โดยคนส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่ามีสิทธินี้อยู่ การดำเนินการของ 2 โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนตระหนักรู้ขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในระบบสาธารณสุข และผู้ปกครองสามารถเข้ามารับสิทธิได้ต่อเนื่องในอนาคต
ทางด้านนางสาวพาชื่น ชาญศรี คุณครูโรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา ที่พานักเรียนมารับมอบแว่นตาในวันนี้ กล่าวขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมองว่าเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือในเรื่องของปัญหาสายตา อยากให้เด็กทุกคนในประเทศชาติของเราเติบอย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับสิทธิพื้นฐานที่เขาควรได้รับ
นางยุพิน ผู้ปกครอง กล่าวว่า วันนี้พาลูกมารับแว่นที่ได้วัดสายตาไว้ ซึ่งคิดว่าแว่นจะทำให้ลูกมองเห็นชัดมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าลูกมีอาการกระพริบตาบ่อยๆ แสบตา เวลาเรียนมองเห็นกระดานไม่ค่อยชัด แต่เมื่อได้รับการตรวจวัดสายตาจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้พบปัญหา จึงอยากให้ผู้ปกครองพาบุตรหลานเข้ามาตรวจวัดสายตา เพื่อการมองเห็นที่ดี และส่งผลต่อการเรียนที่ดีขึ้น