ทิมเคยถกเถียงกับพ่อแม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะสำหรับเด็กไร้เดียงสาอย่างทิม มันเป็นสิ่งที่แน่นอนและตายตัวอยู่แล้วว่า นอกเหนือไปจากอาหารที่ถูกโภชนาการ น้ำดื่มที่สะอาด การดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ และครัวเรือนที่ปลอดภัย การศึกษาที่มีคุณภาพก็ย่อมจะต้องเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกๆคนสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว…มิใช่หรือ? เพราะทุกๆวันจันทร์ถึงศุกร์ เด็กทุกคนก็น่าจะเหมือนๆกับทิม ที่จะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียน
ทิมเข้าใจว่าเด็กทุกคนต้องไม่ชอบเช้าวันจันทร์ที่เราถูกปลุกให้งัวเงียออกจากนอนและตั้งหน้าตั้งตารอคอยบ่ายวันศุกร์ที่จะทำให้เรารู้สึกกระปรี้กระเปร่ากับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะมาถึง ทิมเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีคุณครูที่คอยสนับสนุนและใส่ใจการเรียนรู้ของเขา และมีความเชี่ยวชาญไม่เพียงแค่สิ่งที่ต้องสอนนักเรียน แต่ยังรวมถึงวิธีการแบ่งปันความรู้นั้นอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อทิมเติบโตและมีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้น ทิมก็ตระหนักว่า มีเยาวชนจำนวนมากมาย ผู้ที่รักการเล่นกีฬา อ่านหนังสือ และสำรวจธรรมชาติ เฉกเช่นเดียวกับทิม ที่ยังขาด “ความจำเป็น” พื้นฐานอันได้แก่ “การศึกษาที่มีคุณภาพ” ซึ่งเด็กผู้โชคดีอย่างทิมได้รับอยู่ตลอดเวลา แบบไม่ต้องกังขา
แม้ว่าทิมจะเกิดและโตในกรุงเทพฯ แต่ทิมได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอพร้อมกับครอบครัว เพื่อเปิดโลกและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมบ้านเกิดของเรา จากการเดินทางท่องเที่ยวในลักษณะนี้ ทิมได้ตระหนักเห็นว่าคนไทยในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในชนบทใช้ชีวิตอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ทิมสังเกตเห็นมาโดยตลอด คือความแตกต่างของโรงเรียนในท้องถิ่นกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ
ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ทิมฝึกซ้อมที่อะคาเดมีฟุตบอลไทยแห่งหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่แห่งหนึ่ง อะคาเดมีนี้สอนฟุตบอลฟรีให้กับเยาวชนทั่วไป ทำให้มีเด็กๆจากหลากหลายภูมิหลังทางสังคมมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ทิมมีโอกาสได้พูดคุยพบปะกับเพื่อนๆมากมายที่แตกต่างจากเพื่อนในสังคมโรงเรียนนานาชาติที่ทิมศึกษาอยู่มากพอสมควร
ประสบการณ์เหล่านี้ปลูกฝังความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในตัวทิม และทำให้ทิมตระหนักเห็น ความจริงอันน่าเศร้า นั่นคือช่องว่างที่ยิ่งใหญ่ทางโอกาสเมื่อเปรียบเทียบชีวิตของทิมกับผู้อื่นในสังคมไทย ทิมเชื่อว่าความไม่เสมอภาคนี้สามารถลดลงได้ด้วยการพัฒนาโอกาสทางศึกษาให้กับเยาวชน
โครงการเพื่อสังคมที่ทิมได้ก่อตั้งขึ้น มีชื่อว่า “KRU” มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงหยุดเรียนภาคฤดูร้อนปี 2566 ทิมมีโอกาสเข้าร่วมฝึกงานภาคฤดูร้อนที่บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งซึ่งสอนทิมเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการทางสังคม (social entrepreneurship) และแนะนำว่ากิจการเพื่อสังคมเหล่านี้สามารถเป็นทางออกสำหรับปัญหาหลายอย่างในสังคมสมัยใหม่ได้ ในช่วงท้ายของโปรแกรมฝึกงานนี้ ทิมได้รับมอบหมายให้คิดโมเดลของบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเองที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสังคมที่แต่ละคนสนใจเป็นการส่วนตัว ในตอนแรก ปัญหาที่ทิมสนใจคือความไม่เท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะในเรื่องของโอกาสต่างๆในชีวิต เมื่อทิมพบสถิติที่น่าตกใจว่าประชากรที่รวยที่สุดในระดับร้อยละ 5 ของสังคมไทย เป็นเจ้าของที่ดินประมาณร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 75 ของประชากรไทยไม่มีที่ดินในครอบครองเป็นของตัวเองเลย ทิมจึงรู้ว่าปัญหาความไม่เสมอภาคนี้มีอยู่มากมายและเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิดของทิมเอง
แต่หลังจากที่ทิมได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมและพูดคุยกับครูบางท่านที่โรงเรียนฯแล้ว ทิมก็ตระหนักว่าสิ่งที่จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมโยงลดช่องว่างของสองขั้วที่แตกต่างกันของประเทศอันกว้างใหญ่แห่งนี้คือ การศึกษา ดังนั้น ทิมจึงลดขอบเขตของหัวข้อของปัญหาทางสังคมที่ต้องการจะพยายามแก้ไข จากความไม่เท่าเทียมทางสังคมไปเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
แนวคิดของทิมในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือ การมุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือและพัฒนาครูของไทยเพื่อสนับสนุนให้ลูกศิษย์ของพวกเขาได้เรียนรู้และรับการผลักดันศักยภาพได้สูงสุด เมื่อคิดถึงแนวคิดนี้ ทิมตระหนักว่าทรัพยากรที่ยอดเยี่ยมอย่างหนึ่งของทิมก็คือคุณครูของทิมเองที่สอนอยู่ที่โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติกรุงเทพ หรือ ISB หลังจากที่ทิมได้พูดคุยกับครูบางท่านเกี่ยวกับโอกาสในการที่จะทำงานร่วมกันกับครูท้องถิ่นของไทย ครูใน ISB ก็รู้สึกตื่นเต้นกับแนวคิดนี้ และเล่าให้ทิมฟังว่า คุณครูต่างชาติที่สอนในโรงเรียนนานาชาติต่างเดินทางออกมาจากประเทศบ้านเกิดชองตนด้วยเป้าหมายที่จะได้เรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศที่พวกเขาย้ายไปอยู่ ดังนั้น การได้มีโอกาสเชื่อมต่อและมีปฎิสัมพันธ์กับครูท้องถิ่นของไทยผู้ที่มีความหลงใหลในการสอนเช่นเดียวกับพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งและเป็นเกียรติที่พวกเขาจะได้มีส่วนร่วม
ทิมได้เรียนรู้ว่า มีความต้องการจากทั้งฝ่ายครูต่างชาติของโรงเรียนนานาชาติและครูท้องถิ่นของไทยที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทิมจึงเริ่มต้นโครงการที่มีชื่อว่า “KRU” ซึ่งย่อมาจาก Knowledge, Respect และ Understanding ค่านิยมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะเอื้อให้ประสบการณ์การแลกเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นอย่างสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากวัตถุประสงค์หลักของกิจกรรมคือ การลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย
ทิมได้ทำการศึกษาค้นคว้าและพบว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นพันธมิตรที่เหมาะสมมากสำหรับโครงการ “KRU” ของทิม กสศ. มีเป้าหมายและบทบาทที่แน้วแน่มั่นคงในการพัฒนาการศึกษาไทยและมีผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวางต่อการพัฒนาประเทศ ทิมจึงชื่นชมการทำงานของ กสศ. อย่างมาก ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของครูในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลที่สุดของประเทศเรา
ทิมได้ติดต่อกับดร.อุดม วงศ์สิงห์ ผู้อำนวยการของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และหลังจากประสานงานและวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับโรงเรียน ISB ของทิมเป็นระยะเวลาหลายเดือน โครงการ “KRU” ก็ได้จัดงานแรกขึ้น เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยนักศึกษาจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจำนวน 21 คนจาก 14 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมทั้งอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย กรรมการและผู้อำนวยการ จาก กสศ. ได้เข้าร่วมงาน เวิร์กชอป (workshop) แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนวิชาชีพครู ณ โรงเรียนสถานศึกษานานาชาติ (ISB) เวิร์กชอปการพัฒนาวิชาชีพในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมครั้งสุดท้ายของนักศึกษาโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เสริมเพิ่มเติมของนักศึกษาฯ ก่อนที่จะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและได้รับปริญญาบัตรด้านการสอน
การแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ประกอบด้วย เวิร์กชอปเชิงโต้ตอบที่ดำเนินการโดยครูของ ISB พร้อมกับการเปิดโอกาสสำหรับครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่จะแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์ในบริบทของชุมชนไทย หัวข้อของเวิร์กชอปถูกคัดสรรเพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาฯ และมีการพัฒนาหลักสูตรโดยครูของ ISB ร่วมกับ “KRU” โดยแบ่งเป็น:
- Differentiation Learning Strategies (กลยุทธ์การสอนและการเรียนรู้สำหรับนักเรียนคละชั้นและคละพื้นฐาน)
- Teaching English as an Additional Language (การสอนภาษาอังกฤษเพื่อเป็นภาษาเสริม)
- Technology Tools for Teachers (การใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนสำหรับครู โดยได้เริ่มพัฒนาเว็บไซต์เพื่อแบ่งปันเครื่องมือต่างๆให้กับนักเรียนทุกคนในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น)
นอกจากนี้ยังได้มีการเข้าเยี่ยมชมห้องเรียนต่างๆ รอบๆ โรงเรียนนานาชาติ ISB เพื่อกระตุ้นการสนทนาระหว่างทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับเทคนิคการสอนที่ใช้ในโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนในชุมชน
โครงการ “KRU” เป็นผู้ริเริ่ม ประสานงานและวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างสององค์กรนี้ ครูของ ISB และครูรัก(ษ์)ถิ่น ได้มีโอกาสทำงาน แลกเปลี่ยน เพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างแท้จริง
ในเดือนเมษายน 2567 ทิม ได้รับเชิญให้สัมภาษณ์เรื่องราวของโครงการฯและงานวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ลงใน Podcast ของหน่วยงาน Inspire Citizens ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริม Global Citizenship Education หรือ การศึกษาความเป็นพลเมืองดีของโลก “Inspire Citizens” ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก โดยมีจุดประสงค์ในการขับเคลื่อนพลังของการศึกษาเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนผ่านการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับการปลูกฝังให้มีส่วนสนับสนุนให้โลกดีขึ้น
สามารถรับฟัง Podcast นำเสนอที่มาของโครงการ “KRU” และการทำงานเพื่อต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านลิงค์นี้
มองต่อไปในอนาคต ทิมมีแผนที่จะจัดงานการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูโรงเรียนนานาชาติและครูท้องถิ่นของไทยให้ถี่ยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ขยายงาน “KRU” เพื่อสนับสนุนการศึกษาไทยในด้านอื่นๆ ต่อไปด้วย
อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เนลสัน แมนเดล่า เคยกล่าวไว้ว่า “การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่คุณสามารถใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงโลก” ทิมอยากรณรงค์ให้มาร่วมกันเริ่มต้นปลดปล่อยความสามารถของทุกคนเพื่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของมนุษยชาติ เราจะสามารถปลดล็อกศักยภาพของเยาวชนโลกผ่านการพัฒนาด้านการศึกษา