เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรม “SOCIAL INOVATION HACKATHON : สานต่อความคิด ส่งต่อความหวัง สานฝันให้น้องสู่รั้วอุดมศึกษา” ภายใต้ “โครงการวิจัยเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์” ณ โรงแรม TK Palace Hotel & Convention Bangkok โดยมีตัวแทนเด็กและเยาวชน ที่มีอายุ 15-23 ปี จำนวนกว่า 50 คน มาเข้าร่วม เพื่อทำความเข้าใจเส้นทางความท้าทายของเด็กและเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอแนวทางในการออกแบบหรือผลักดันมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างหลักประกันโอกาสในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา
นายสัมพันธ์ วารี นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวถึง บทบาทหน้าที่และเป้าหมายของ กสศ. กับความพยายามผลักดันและหนุนเสริมเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ด้อยโอกาส หรือขาดแคลนทุนทรัพย์ให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษากระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา
“เนื่องจากพบว่าปัจจุบันเด็กกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในสัดส่วนที่ยังคงต่ำ ประมาณ 12-13% ทั้งนี้ กสศ. ได้ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนแก่เด็กกลุ่มนี้ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับและบางส่วนของการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ เช่น ทุนเสมอภาค ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง (ปวช. ปวส. หลักสูตรระยะสั้น) รวมถึงทุนอื่น ๆ อย่างไรก็ดี พบว่ามีเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้หลุดหายไปในระหว่างทางก่อนถึงระดับอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก ราวร้อยละ 20”
นายสัมพันธ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความสำคัญอย่างหนึ่งพบว่าเด็กกลุ่มยากจนมีความสามารถเป็น “ช้างเผือก” แต่ไม่สามารถเข้าไปสู่ในระดับอุดมศึกษาได้ กสศ. จึงพยายามเชื่อมต่อเด็กกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบการศึกษาและสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น ในการจัดงานวันนี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้น้องๆ ตัวแทนมาช่วยกันระดมความคิดเห็นออกแบบมาตรการว่าจะทำอย่างไรให้เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือขาดแคลนโอกาส สามารถเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มมากขึ้น
รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าคณะผู้วิจัยโครงการฯ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ก่อนหน้านี้เพื่อศึกษาเส้นทางความท้าทายของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เด็กและเยาวชนที่จบการศึกษาในช่วงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 และเด็กที่เรียนในระดับอุดมศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในพื้นที่ 6 ภูมิภาค รวมถึงมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าวให้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษากระทั่งสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ความท้าทายที่ส่งผลต่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา พบว่าแม้เด็กจะมาจากครอบครัวยากจนเหมือนกัน แต่มีปัจจัยหลักหลายประการที่ส่งผลต่อการศึกษาต่อ ได้แก่ พื้นฐานครอบครัว คุณลักษณะและทัศนคติของเด็ก ครูและสถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายความสัมพันธ์และการสนับสนุน จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติ พบว่าความมุ่งมั่นในการศึกษาต่อและคุณลักษณะส่วนบุคคลของเด็กมีผลโดยตรงมากที่สุด ขณะที่พื้นฐานครอบครัวและทุนการศึกษาก็มีความสำคัญ แต่มีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านครูและสถานศึกษา ซึ่งชี้ให้เห็นว่าครูและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการสร้างทัศนคติแบบ Growth Mindset ให้เด็ก การสนับสนุนจากครูแนะแนวและการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนต่อได้ แม้ว่าครอบครัวจะมีข้อจำกัดทางการเงินหรือโอกาส การเน้นการสนับสนุนจากครูและสถานศึกษาเป็นจุดสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดแคลน
ผลการวิจัยฯ ข้อมูลเชิงคุณภาพ พบว่า กลุ่มกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3, กลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลาย, กลุ่ม กศน., กลุ่ม ปวช., กลุ่มจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และยังไม่ได้เรียนต่อ, กลุ่มจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และยังไม่ได้เรียนต่อ, กลุ่มกำลังเรียนในมหาวิทยาลัย, และกลุ่มจบมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเรียน คือ การไม่รู้ความถนัดของตัวเองหรือไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน การมีแรงบันดาลใจ Growth mindset การมีคนที่ให้คำแนะนำ (Role Model) ทุนการศึกษา การกู้ยืมเพื่อการศึกษา และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาต่อ สาขาการเรียนหรือทุนการศึกษา
การออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้ คณะวิจัยจึงได้นำสถานการณ์จำลองความท้าทายของเด็กและเยาวชนกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มเรียนดีมีเป้าหมายได้ทุนแต่ไม่พอค่าใช้จ่าย, กลุ่มติดเพื่อนและติดเกมจึงไม่เรียนต่อ, กลุ่มเรียนดีและสอบติดแต่ไม่มีเงินไปมอบตัว, กลุ่มที่ถูกสังคมดูถูกแม้อยากเรียนต่อแต่ยังไม่รู้ความถนัดของตัวเอง, กลุ่มโดนเพื่อแกล้งเบื่อการไปเรียนและไร้เป้าหมาย, กลุ่มตั้งครรภ์และหลุดออกจากระบบแต่ก็อยากกลับมาเรียนต่อ, กลุ่มเรียนดีและมีเป้าหมายในชีวิตแต่ยังขาดข้อมูลในการวางแผน, กลุ่มเรียนและทำงานไปพร้อมกันส่งผลให้เรียนไม่ไหว, กลุ่มมุ่งมั่นอยากเรียนต่อแต่ต้องดูแลครอบครัว, กลุ่มเรียนดีแต่ต้องดูแลครอบครัวไปพร้อมด้วย และกลุ่มเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วแต่เป็นหนี้และยังไม่มีงานทำ มาเป็นโจทย์เพื่อให้ตัวแทนเด็กและเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรม ได้ทำความเข้าใจเส้นทางความท้าทายของเด็กและเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ผ่านการสร้างโมเดล LEGO จำลอง
ตัวอย่างโมเดลที่ได้รับรางวัล ได้แก่ โมเดลช่วยเหลือกรณี “การตั้งครรภ์และหลุดออกจากระบบการศึกษา” โจทย์สถานการณ์ที่ได้รับเป็นเรื่องการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและหลุดจากระบบ แต่อยากกลับมาเรียนต่อ กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะเด็กไม่มีความรู้ น้องๆ จึงร่วมกันออกแบบรถที่ในรถมีตัวต่อบอร์ดเกมให้ความรู้ และมีเทคโนโลยี VR หรือการจำลองสถานการณ์ในโลกสมมติ มาใช้กับคนที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนที่ต้องการคำปรึกษา และมีห้องยาราคาถูกให้บริการโดยขอความร่วมมือจากหน่วยงาน สปสช. โดยไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีบัตรทอง อีกส่วนหนึ่งมีโรงเรียนที่สนับสนุนการเปิดเผยและยอมรับเด็กตั้งครรภ์ รวมถึงมีการจำลองศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น เพื่อให้เด็กมีพื้นที่ได้เรียนรู้เรื่องเพศให้เข้าใจอย่างถูกต้องเหมาะสม ต่อมาเป็นเรื่องของการเลี้ยงเด็ก และการดูแลเด็ก โดยให้เด็กที่มีการกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ต้องเก็บชั่วโมงจิตอาสา มาทำงานจิตอาสาช่วยเหลือดูแลเด็กฝากในโรงพยาบาล เนื่องจากคุณแม่ต้องไปเรียนจึงต้องฝากเด็กไว้ ด้านการสนับสนุนและแหล่งทุนจะขอความช่วยเหลือจาก “ยูนิเซฟ” รวมถึงกระทรวงต่างๆที่เข้ามาร่วม เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือหน่วยที่เกี่ยวข้องกับเด็กเข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุน นอกจากนี้อาจจะให้บริษัทผลิตภัณฑ์ถุงยางอนามัย จัดให้มีรถออกไปให้ความรู้ในโรงเรียน ชุมชน เพื่อมุ่งป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ให้เด็กผู้หญิงทุกคน สามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีสุขภาพที่ดี และมีโอกาสทางการศึกษาอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามแนวทางที่ได้จากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะนำไปประกอบการนำเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาที่เหมาะสมต่อไป