การอบรมเชิงปฏิบัติการทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills Workshop)
ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2565
สถานที่: เป็นการอบรมแบบ onsite จะประกาศสถานที่อีกครั้ง
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอเชิญชวนนักวิจัยทางการศึกษาและผู้สนใจ เข้าร่วมประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางการวัดผลทักษะอารมณ์และสังคม (Social and Emotional Skills Workshop) ในระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ( 5 วัน) โดยมีวิทยากรเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดประเมินผลทักษะอารมณ์และสังคมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียร์ เบิร์กลีย์ และธนาคารโลก โดยผู้สนใจสามารถส่งใบสมัคร พร้อมประวัติมาได้ตามลิงค์นี้ โดยผู้ที่เข้าร่วมต้องสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ครบทั้ง 5 วัน ผู้ที่ได้รับคัดเลือกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการอบรม
วัตถุประสงค์ของการอบรม
- เรียนรู้แนวคิดเรื่องทักษะอารมณ์สังคม (Socio-emotional skills) และแนวทางการประเมินผล
- ทำความเข้าใจในหลักการทางวิชาการพื้นฐานของการพัฒนาระบบวัดผลของทักษะอารมณ์สังคม
- เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์หลักการของการวัดผลเชิงจิตวิทยา (Psychometric Analyses) และศึกษาเครื่องมือสำหรับทดสอบความเที่ยงตรง (validation) และความเชื่อมั่น (reliability) ของการวัดผล
แนวทางของการอบรมเชิงปฏิบัติการ
- การอบรมจะใช้การผสมผสานระหว่าง การบรรยายโดยผู้สอน การทำงานในรายบุคคล การทำงานเป็นกลุ่ม การอภิปราย โดยจะเน้นให้ผู้เข้าอบรมทำกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ได้แบบการวัดผลที่สามารถนำไปใช้จริงได้ทันที
คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ควรมีคุณสมบัติ ทักษะหรือประสบการณ์ เหล่านี้
- จบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี ในสาขาจิตวิทยา การศึกษา เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง
- เป็นนักวิจัยที่มีความรู้สถิติขั้นปานกลางถึงขั้นสูง
- การอบรมเป็นภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีข้อกำหนดด้านภาษาอังกฤษเนื่องจากจะมีล่ามประจำการอบรมสัมมนา
หัวข้อที่จะทำการอบรมเชิงปฏิบัติการ
- ความสำคัญของทักษะด้านสังคมอารมณ์
- ประวัติการพัฒนาการของแนวคิดเรื่อง ทักษะอารมณ์สังคม ทักษะในเชิงสติปัญญาและทักษะที่ไม่ใช่สติปัญญา (cognitive and non-cognitive skills) กรอบแนวคิด แบบจำลอง และคำนิยาม การจัดหมวดหมู่ต่าง ๆ
- ลำดับของกรอบแนวทางวิเคราะห์ทักษะด้านสังคมอารมณ์
- เรื่องบุคลิกลักษณะแบบ Big Five และคุณสมบัติอื่นๆ
- แนวทางการวัดทักษะด้านสังคมอารมณ์
- Big Five Inventory (BFI)
- การวัดและความท้าทาย
- การแก้ปัญหา ความผิดพลาดจากการวัด (Measurement Errors)
- การนำแนวทางวัดผลทักษะอารมณ์สังคมมาประยุกต์ใช้ภายใต้บริบทของไทย
- แนวทางการดำเนินการในอนาคต
- ในประเด็นผลลัพธ์ระยะยาวในชีวิต ความยืดหยุ่น (plasticity) การพัฒนา แนวทางการใช้มาตรการต่าง ๆ
ประวัติวิทยากร
ศาสตราจารย์โอลิเวอร์ จอห์น (Oliver John)
โอลิเวอร์ จอห์น เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Institute of Personality and Social Research, University of California Berkeley เขาเป็นนักวิชาการชั้นนำในด้านการศึกษา การวัดผลประเมินผลที่มีประสบการณ์และผลงานกว้างขวาง เช่น เป็นบรรณาธิการ Handbook of Personality: Theory and Research (4th ed) เขาได้รับรางวัลทางวิชาการมากมาย เช่น Theoretical Innovation prize, Diener Award, Jack Block Award จาก Society for Personality and Social Psychology รวมถึงเป็นบรรณาธิการวารสารทางวิชาการ เช่น Personality and Social Psychology Bulletin และเป็นผู้เชี่ยวชาญหลักในงานวิจัยด้านจิตวิทยาให้กับ OECD และธนาคารโลก งานของท่านด้าน Big Five Inventory (BFI) และ Emotion Regulation Questionnaire (ERQ) ได้รับการแปลมากกว่า 20 ภาษา
ซาราห์ เอล วาซซิ (Sarah El Wazzi)
เป็นที่ปรึกษาด้านการศึกษาของธนาคารโลกในโปรแกรม Education Global Practice โดยเน้นที่การประเมินและพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะงานวิจัยที่เกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติทางการศึกษาที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะสังคมอารมณ์และการวัดผล ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เธอมีประสบการณ์ในการประยุกต์การประเมินด้านทักษะสังคมอารมณ์เพื่อปรับใช้ให้เหมาะสมกับหลายบริบททางวัฒนธรรมและภาษาของหลายประเทศที่แตกต่างกัน โดยเธอมีประสบการณ์ทำงานในประเทศกลุ่มตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ ซาร่าห์จบการศึกษาระดับปริญญาโท (M.A) ด้านเศรษฐศาสตร์และการศึกษา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก โดนเน้นด้านนโยบายการศึกษาและทักษะสังคมอารมณ์ นอกจากนั้นเธอยังสำเร็จการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ (MBA) จาก American University of Beirut (AUB) ในเลบานอน