องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ระบุว่า การทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาระดับประถมได้มากขึ้น ผ่านนโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลก คือหนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของประชาคมโลกในรอบศตวรรษ ทว่างานศึกษาล่าสุดกลับสะท้อนข้อเท็จจริงอีกด้านว่า คุณภาพการศึกษาทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะล่มสลาย สวนทางกับจำนวนการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
องค์การ UNICEF ยกตัวอย่างปี 1950 ที่มีเด็กวัยประถมอยู่นอกระบบการศึกษากว่าร้อยละ 50 จากทั้งหมด แต่ตัวเลขปัจจุบันลดเหลือเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น โดย UNICEF เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้เด็กวัยประถมศึกษาสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มากกว่านี้ เนื่องจากในประเทศรายได้ต่ำพบว่ามีเด็กเพียง 2 ใน 3 เท่านั้นที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้การถดถอยของทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณ ยังเป็นสิ่งที่ต้องรีบพัฒนาเป็นพิเศษตั้งแต่วัยประถมศึกษา
เช่นเดียวกับข้อมูลของสำนักข่าว The Economist เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2022 ระบุว่า ทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนในหลายประเทศทั่วโลกกำลังถดถอยลง แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของการศึกษาไม่ได้ถูกเพิ่มขึ้นตามจำนวนการเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มากขึ้น และการถดถอยขนาดใหญ่เช่นนี้อาจจะแปลได้ว่าการศึกษาในระดับโลกกำลังวิ่งไปผิดทิศทาง
คุณภาพถดถอยกับนโยบายการศึกษาที่ผิดพลาด
เพื่อศึกษาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา The Economist ใช้ข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อต่อกรกับความยากจนระดับโลกอย่าง The Centre for Global Development (CGD) โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจาก 80 กว่าประเทศยากจนทั่วโลก ซึ่งพบว่าจำนวนการเข้าถึงระบบการศึกษาของเด็กในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นแทบทุกประเทศตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา
ตัวอย่างสำคัญคือ ผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียใต้ที่เกิดในปี 1960 เพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่ได้รับการศึกษาอย่างน้อย 5 ปี แต่ผู้หญิงที่เกิดในปี 2000 ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 84 จากทั้งหมด แม้แต่ในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa) ก็กระโดดขึ้นจากร้อยละ 35 สู่ร้อยละ 70 เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขความสำเร็จนี้กลับส่อแววมีปัญหา เมื่อผู้ทำการศึกษาวัดผลการเพิ่มขึ้นของผู้หญิงที่เข้าถึงชั้นเรียนเหล่านี้ด้วยการให้อ่านประโยคหนึ่งประโยค ผลปรากฏว่า ใน 56 ประเทศ อัตราการรู้หนังสือของผู้หญิงที่เกิดช่วงปี 1990 และผ่านช่วงเวลาของการเข้าสู่ระบบการศึกษาครั้งสำคัญข้างต้น มีอัตราการรู้หนังสือที่ถดถอยลงมากเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่เกิดในปี 1960 ปัญหานี้รุนแรงมากโดยเฉพาะในทวีปเอเชียใต้และภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา
ยกตัวอย่างเช่น ผลการทดสอบในประเทศอินเดีย ผู้หญิงที่เกิดในปี 1960 จำนวนกว่าร้อยละ 80 ของทั้งหมดมีความสามารถในการอ่านประโยคหนึ่งประโยคได้ หลังได้รับการศึกษาในโรงเรียนมาแล้ว 5 ปี ทว่าผู้หญิงที่เกิดช่วงกลางปี 1990 กลับทำได้เพียงร้อยละ 45 เท่านั้น ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และลาตินอเมริกากลับมีคุณภาพการศึกษาคงที่ ไม่เพิ่มไม่ลด สวนทางกับจำนวนการเข้าถึงการศึกษาตลอด 40 ปีที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีบางประเทศที่คุณภาพการศึกษาเกิดการก้าวกระโดดขึ้นมาบ้างอย่างประเทศเวียดนามและประเทศเปรูก็ตาม
ไม่เพียงแค่งานศึกษาจาก CGD ที่ The Economist นำมาแสดงให้เห็นเท่านั้น แต่ดัชนีของสถาบันเพื่อพัฒนาการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ 64 ประเทศ ในปี 2021 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 56 มีอันดับลดลงหนึ่งอันดับจากปี 2020 และตกเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการจัดอันดับ ซึ่งหมายความว่าคุณภาพการศึกษามีอัตราการถดถอยลงอย่างแท้จริง
ข้อมูลเหล่านี้นับได้ว่าเป็นภัยเงียบที่กำลังแฝงตัวอยู่ใต้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ทั่วโลก เนื่องจากแม้หลังสถานการณ์โควิด-19 จะผ่านพ้นและสามารถนำเด็กกลับสู่โรงเรียนได้แล้ว ทว่าหากยังจัดการศึกษาในรูปแบบเดิม หรือพยายามรับนักเรียนให้เข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้นโดยไม่ปรับระบบนิเวศการศึกษา รายงานฉบับนี้ก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าทิศทางคุณภาพของการศึกษาจะค่อยๆ ลดลงอย่างน่าตกใจ
การศึกษาควรเป็นของทุกคน แล้วปัญหาคืออะไร
หนึ่งในคำอธิบายของปรากฏการณ์นี้คือ หลายประเทศในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ประถมศึกษากลายเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและฟรี จนทำให้จำนวนนักเรียนจากครอบครัวยากจนไหลบ่าเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ ทว่าคุณภาพในการสอนของอาจารย์และทรัพยากรในการเรียนรู้อื่นๆ ไม่สามารถตอบสนองได้ดีพอ ผลที่ตามมาคือเด็กจำนวนมากที่ผ่านระดับประถมศึกษาลักษณะนี้จะขาดทักษะที่จำเป็นต่อการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป ทักษะสำคัญอย่างการรู้หนังสือและการคำนวณจึงเป็นจุดบ่งชี้ที่เด่นชัดถึงการถดถอยของคุณภาพการศึกษา
ย้อนกลับไปในปี 2017 ธนาคารโลก (World Bank) ได้เตือนถึงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนประถมและมัธยมของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและประเทศรายได้ต่ำ โดยใช้คำว่า ‘วิกฤตการศึกษาระดับโลก’ (Global Learning Crisis) ซึ่งระบบการศึกษาเหล่านี้ล้มเหลวในการทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ (Learning) ใจความสำคัญของการเตือนดังกล่าวระบุว่า หากปราศจากกระบวนการสร้างการเรียนรู้ การศึกษาก็จะล้มเหลวในการกำจัดความยากจนและการเข้าถึงโอกาสอย่างยั่งยืนของทุกคนในสังคม ปัญหาสำคัญที่ World Bank มองเห็นคือ หากเด็กในหลายโรงเรียนทั่วโลกไม่สามารถเรียนรู้ที่จะอ่านออกเขียนได้หรือคำนวณคณิตศาสตร์เบื้องต้นแล้ว เด็กยากจนพิเศษหรือกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ในระบบการศึกษาก็จะถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเหล่านี้ และได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นหลายเท่า
รายงานของ World Bank ระบุว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถทำเป็นมาตรการทางนโยบายได้ทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ 1) ประเมินการเรียนรู้ 2) มีโรงเรียนสำหรับทุกคน และ 3) กระตุ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ขั้นตอนแรกคือการประเมินการเรียนรู้ ปัญหาสำคัญคือ World Bank ระบุว่า ในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนานั้นมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีการจัดการประเมินการเรียนรู้ของเด็ก โดยการประเมินนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการสอบเพื่อจบการศึกษาเสมอไป แต่การประเมินการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบมาอย่างดีจะช่วยให้ครูสามารถค้นหาแนวทางที่จะพัฒนาห้องเรียน ปรับปรุงรูปแบบการบริหารจัดการระบบการศึกษา และยังช่วยให้สังคมหันมาสนใจพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กอีกด้วย
ขั้นที่สองคือ การสร้างโรงเรียนสำหรับทุกคน ข้อนี้ World Bank ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงการออกแบบโรงเรียนที่สามารถให้โภชนาการและการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กทุกคนในโรงเรียน การมีสนามหรือสถานที่ให้วิ่งเล่น การนำบุคคลที่น่าสนใจให้เข้ามาช่วยกระบวนการทำงานของโรงเรียน รวมไปถึงการฝึกอบรมครูโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่างเป็นกุญแจสำคัญในการรื้อฟื้นคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนแต่ละแห่งได้
ขั้นตอนสุดท้าย ในการกระตุ้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ใส่ใจกับระบบการศึกษานั้น World Bank ระบุว่าเป็นการสร้างความรับผิดชอบให้แก่สังคม โดยต้องออกแบบกระบวนการที่กระตุ้นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อยากที่จะเข้าร่วมการปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่การออกแบบกระบวนการศึกษาไปจนถึงการปรับใช้ให้สำเร็จ
3 ขั้นตอนที่กล่าวมา เป็นขั้นตอนที่ยากสำหรับการทำให้สำเร็จโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ทว่าทั้ง 3 ขั้นตอนต่างไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนด้วยงบประมาณภาครัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญคือการลงทุนด้วยทรัพยากรมนุษย์และการใช้งานสถาบันทางสังคมของแต่ละชาติให้เหมาะสม ปัญหาคุณภาพด้านการศึกษาจึงไม่สามารถใช้เงินแก้ปัญหาได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ ความคิดริเริ่ม และความสม่ำเสมอของผู้ออกแบบนโยบาย การศึกษาจึงจะสามารถถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในสังคมได้อีกครั้ง เหมือนที่ถูกวางเป้าหมายเอาไว้แต่แรก
ที่มา: