ย้อนไปเมื่อครั้ง ‘นุ้ย’ พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ เป็นนักเรียนมัธยมปลาย ในคลาสเรียนวันหนึ่ง มันคือครั้งแรกที่เธอได้เรียนรู้วิชาว่าด้วยการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) และนั่นเป็นครั้งแรกที่เธอตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ฉันจะใช้หาเลี้ยงตัวเอง”
“ย้อนไป 20 ปีก่อน เราได้ริเริ่มโครงการต่างๆ และจัดตั้งองค์กร จนมาวันนี้ เรากำลังดูแลองค์กรเพื่อสังคมที่ชื่อว่า ‘School of Changemakers’
School of Changemakers ไม่ใช่โรงเรียนในความหมายของสถาบันการศึกษาทั่วไป แต่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บ่มเพาะและให้คำปรึกษาสำหรับใครก็ตามที่ตั้งใจริเริ่มโครงการหรือกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ด้วยความเชื่อว่า… ไม่ว่าใครก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ หัวเรือใหญ่แห่ง School of Changemakers อธิบายการทำงานขององค์กรที่เป็นเสมือนตัวกลางที่ทำงานสนับสนุนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในการปรับเปลี่ยนชั้นเรียนนอกหลักสูตรที่มีเนื้อหาการเรียนรู้ว่าด้วยการสร้าง ‘ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ’ ไปจนถึงการสร้างความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น (empathy)
“ชั้นเรียนส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการศึกษากิจการเพื่อสังคม สิ่งที่เราพบคือ นักเรียนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ อยากใช้ความรู้ตรงนี้เพื่อหาเลี้ยงชีพ เราจึงจัดโปรแกรมบ่มเพาะ หรือ Incubation Program ให้พวกเขา”
1
“พวกคุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ?”
ทุกครั้งที่มีนักเรียน นักศึกษา ที่สนใจเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการกับ School of Changemakers ข้อความข้างต้นคือคำถามที่พวกเขาจะต้องเจอและทำความเข้าใจเป็นสิ่งแรก
“ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ผู้ประกอบการ หมายถึงการหาเงิน” คำตอบนี้จะว่าไปก็ไม่ผิดนัก แต่ในนิยามของของพรจรรย์ เธอบอกเด็กๆ ว่า การเป็นผู้ประกอบการ มีความหมายมากกว่านั้น
“เราบอกพวกเขาว่า จริงๆ แล้ว มีวิธีหาเงินที่ง่ายมาก แต่ผู้ประกอบการเป็นอะไรที่มากกว่าแค่การสร้างหรือทำให้บางอย่างเกิดขึ้น เพราะมันคือสิ่งที่คุณต้องการมันจริงๆ คุณอยากทำให้มันเกิดขึ้น หรือคุณอาจเห็นว่า สังคมมีความต้องการในเรื่องนั้นๆ มาก”
สำหรับพรจรรย์ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ คือความสามารถในการชี้ให้เห็นช่องว่างและโอกาสในการแก้ไขปัญหา หรือเติมเต็มความต้องการ และยังเป็นทักษะของความสามารถในการหาทีม สร้างทีม ทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมาย วางแผน และดำเนินการตามแผนเหล่านั้น
กล่าวให้ง่ายกว่านั้น การเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการ คือการพาเด็กๆ ออกจากโลกที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ไปยังโลกที่ ‘ทุกอย่างเป็นไปได้’
“เราจะให้พวกเขาเจอกับประสบการณ์จริง แล้วแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน เราพยายามทำให้เขาตระหนักถึงความสามารถของตัวเอง พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนให้แก้ปัญหาด้วยวิธีของตัวเอง”
เธอยกตัวอย่างนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่อยากช่วยเหลือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ค่อนข้างยากจน ขณะเดียวกัน เด็กๆ กลุ่มนี้มีความชอบในงานศิลปะและงานฝีมือ สิ่งที่ทีม School of Changemakers จะชี้ให้เห็นนั่นคือ งานฝีมือและงานศิลปะจะสามารถช่วยเหลือคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวได้อย่างไร
“สำหรับเราแล้ว การช่วยเหลือนักเรียนที่ด้อยโอกาสให้เป็นผู้ประกอบการ ง่ายกว่าการช่วยเหลือนักเรียนทั่วไป เพราะพวกเขามีปัญหาอยู่แล้ว พวกเขาเจอกับความเจ็บปวดของจริงมา จึงมีแรงผลักดันในการทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ออกไปจากสถานการณ์ยากลำบากที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่”
การศึกษาเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ พรจรรย์แบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ
- การให้นักเรียนได้เรียนรู้ว่า ผู้ประกอบการคืออะไร พวกเขาเป็นใคร ต้องทำอะไร
- ให้นักเรียนได้ลองเป็นผู้ประกอบการ โดยเราจะเลือกหัวข้อให้พวกเขากลับไปคิดมา ปกติแล้ววิธีการใช้เวลาในการสอนประมาณ 1 เทอม
- เส้นทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ เริ่มจากการให้นักเรียนสำรวจว่าตัวเองสนใจอะไร ปัญหาและอุปสรรคแบบไหนที่จะเกิดขึ้น แล้วให้พวกเขาคิดหนทางแก้ปัญหา ทำงานเป็นทีม และดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ข้อนี้ใช้เวลาสอนประมาณ 1 ปี
“การส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ ไม่มีวิธีใดที่จะเหมาะกับทุกคน เราจึงจำเป็นต้องสร้างโปรแกรมให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน คุณครู สถาบัน และชุมชนด้วย”
2
พรจรรย์อธิบายลงลึกไปในกระบวนการสร้างทักษะผู้ประกอบการ (Entrepreneur Learning Journey) โดยเริ่มสตาร์ทจากการหาจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ (inspiration) จากนั้นจึงค่อยๆ ลงลึกถึงความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สืบค้นข้อมูลเชิงลึก (problem insight) ซึ่งแนวคิดที่ได้นั้น มาจากการผสมผสานระหว่างแรงบันดาลใจและข้อมูลที่นักเรียนค้นพบ (idea)
หลังจากนั้น แนวคิดดังกล่าวจะถูกพัฒนาเป็นแบบจำลองและแผนการทำงาน (model and plan) ซึ่งการทำงานนั้นจะถูกทดสอบโดยการสร้างต้นแบบ (prototype) เพื่อให้นักเรียนนำไปทดสอบในสถานการณ์จริง หลังการทดสอบแล้วจึงนำข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนและสร้างต้นแบบขึ้นใหม่
“นักเรียนบางคนอาจจะตัดสินใจไปต่อ หากพวกเขามีต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาอาจดำเนินการต่อ และปรับขนาดของงาน (scale) เพื่อสร้างการทำงานให้เกิดอิมแพ็คมากขึ้น”
การเตรียมเส้นทางในการเรียนรู้เพื่อการเป็นผู้ประกอบการ จำเป็นต้องมีระบบสนับสนุนที่มี 4 องค์ประกอบ คือ
- ทรัพยากร หมายถึง เงินจำนวนหนึ่งในการช่วยเหลือทีม หรือสถานที่ในการพบปะเพื่อการทำงาน
- เครื่องมือและความรู้ต่างๆ เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลนั้นต้องใช้ระยะเวลาร่วมหลายเดือน ทีมอาจสับสนได้ว่าจะเลือกทำหรือเลือกคิดอะไรก่อนดี การจัดเตรียมเครื่องมือที่เป็นขั้นตอน จะช่วยพวกเขาได้มากในการทำงาน
- โค้ช ที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ข้อนี้สำคัญที่สุด และโค้ชควรให้การสนับสนุนนักเรียนแต่ละทีมตลอดการเดินทางสู่การเป็นผู้ประกอบการ
- ชุมชนหรือเครือข่ายนักเปลี่ยนแปลง หากเชื่อมโยงนักเรียนให้ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ พวกเขาจะทำงานได้ดีขึ้น เพราะแต่ละทีมจะหันหน้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
3
“มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่อยากเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นที่จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดที่อยู่ทางภาคอีสานของประเทศไทย กลุ่มนี้มีชื่อว่า ‘Eggs for Learning’ พวกเขาเริ่มต้นทำธุรกิจในโครงการ Entrepreneur Program เป็นโปรแกรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลเมื่อหลายปีก่อน”
ก่อนจะกลายมาเป็นทีม Eggs for Learning พรจรรย์เล่าว่า พวกเขาคือกลุ่มเด็กที่ชื่นชอบในการบิดมอเตอร์ไซค์ในหมู่บ้าน แน่นอนว่า เสียงท่อที่ดังสนั่น สร้างความเวียนหัวให้กับชาวบ้านในชุมชนไม่น้อย
“แต่ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัว ทำให้เด็กกลุ่มนี้ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการ Entrepreneur Program โดยสร้างธุรกิจเลี้ยงไก่เพื่อเอาไข่ไก่ไปขายสร้างรายได้”
พวกเขาต้องตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ ให้อาหาร ดูแลไก่ วันแล้ววันเล่า การเริ่มต้นธุรกิจของพวกเขาทำให้ต้องฝึกฝนวินัยไปโดยปริยาย
“เด็กๆ ได้เห็นว่า บางสิ่งบางอย่างกำลังเติบโตภายใต้การดูแลของพวกเขา และนั่นช่วยให้พวกเขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง”
ปัจจุบัน พวกเขายังคงขี่มอเตอร์ไซค์ไปทั่วชุมชน แต่คราวนี้ไม่ใช่การบิดมอเตอร์ไซค์โชว์เสียงท่อเช่นเคย แต่พวกเขากำลังขี่รถไปส่งไข่ไก่ ต้องอาศัยความระมัดระวังจนไม่อาจเร่งความเร็ว ผู้คนในละแวกหมู่บ้านก็ได้เห็นว่า พวกเขาเปลี่ยนไป
โครงการสร้างทักษะผู้ประกอบการที่ School of Changemakers กำลังผลักดันอยู่นั้น ยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน
หนึ่ง – การลงทุนที่สูง ในแง่ของทรัพยากร เพราะโครงการประเภทนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-12 เดือน ในการดำเนินการ
สอง – ทรัพยากรมนุษย์ เพราะทักษะผู้ประกอบการสร้างขึ้นจากการที่นักเรียนต้องไปสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเอง การเรียนรู้จึงเกิดจากการฟังบรรยายอย่างเดียวไม่ได้ ข้อนี้พรจรรย์กล่าวว่า ผู้ให้ความรู้และส่งเสริมทักษะนี้จึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน
และสุดท้าย คือการสนับสนุนของทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคสังคม ที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการและนักเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาในสังคม