การเรียนออนไลน์ไม่ได้พบเจอแค่ปัญหาอุปกรณ์ไม่พร้อม อินเทอร์เน็ตไม่ถึง เรียนไม่ทัน หรือภาระงานเยอะเท่านั้น ปัญหาสุขภาพจิตจากการมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนหน้าจอที่ทั้งครูและนักเรียนต่างเผชิญความเครียด ความกดดันจนบางครั้งลามไปถึงการบูลลี่หรือการใช้ถ้อยคำรุนแรงทำร้ายจิตใจสร้างบาดแผลให้กันและกัน ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวเปิดเผยข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่าน Social Media ว่าในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยติดอันดับ 2 ในโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น และ Punch Up x Wisesight ได้ร่วมกันเล่าเรื่องผ่านข้อมูลพบว่า คำที่คนไทยใช้บูลลี่กันมากที่สุดเป็นเรื่อง รูปลักษณ์ เพศ และความคิดกับทัศนคติ (1)
นับว่าการบูลลี่เป็นปัญหาที่ติดอยู่ในโรงเรียนมาอย่างยาวนาน จนบางคนมองว่าเป็นเรื่องปกติทั้งที่ไม่ปกติ การสร้างห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ ผอ. ครู และผู้ปกครองต้องตระหนักในความสำคัญ และถึงเวลาร่วมมือกันแก้ปัญหาเสียที
การบูลลี่ในช่วงเรียนออนไลน์เกิดขึ้นกับใครบ้าง ?
ครูจุ๊ยเล่าว่า เกิดขึ้นได้ทั้งกับเด็กอนุบาล จากการที่ถูกพ่อแม่บังคับให้เรียนออนไลน์ ทั้งที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย จนเด็กมองการเรียนออนไลน์เป็นยาขม จนเกิดบาดแผลทางใจได้ และเด็กประถมที่อาจจะมีความเครียด ไม่รู้วิธีการสื่อสาร ทำให้เกิดการบูลลี่กันโดยไม่รู้ตัวได้
นอกจากนั้นยังพบได้ในวัยมัธยมที่แม้ว่าจะไม่พบการรังแกกันทางกาย แต่การรังแกกันทางวาจายังคงมีอยู่ โดยพบทั้งระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนและครู นักเรียนและพ่อแม่ หรือแม้แต่ครูด้วยกันเอง ก็ยังมีเรื่องการแซวที่ไม่มีขอบเขต จนกลายเป็นการบูลลี่ได้ ครูภูเสริม
การบูลลี่ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
เรื่องแซวกลายเป็นวัฒนธรรมที่เด็กเลียนแบบ ซึมซับ และไปสร้างแผลทางกายและใจให้คนอื่น
“การบูลลี่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลแค่ผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งห้องเรียนที่ซึมซับวัฒนธรรมการบูลลี่ไปโดยไม่รู้ตัว และมองว่าเป็นเรื่องปกติ หากครูไม่ทำความเข้าใจกับนักเรียนทั้งห้อง”
ครูจุ๊ย
นอกจากนั้น การบูลลี่ยังเป็นการซ้ำบาดแผลเดิม เป็นการตีตราและสร้างตัวตนเด็กขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทั้งครู-นักเรียน หรือนักเรียนด้วยกัน ทำให้ผู้ถูกกระทำอยากเอาคืน เพราะฉะนั้นครูต้องทำความเข้าใจและหยุดการบูลลี่โดยที่ไม่ลดคุณค่าในตัวเด็ก ครูการ์ตูนเสริม
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบูลลี่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย และไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป
“เราต้องทำให้การบูลลี่เป็นวาระแห่งชาติ เพราะการที่เรามองไม่เห็นปัญหา เท่ากับยอมรับปัญหา”
ครูภู
เราจะสร้างห้องเรียนปลอดภัยได้อย่างไร ?
ครูจุ๊ยเสนอทางออกของนโยบายว่าสามารถทำได้ ดังนี้
1. การทำให้ตระหนักในความสำคัญของปัญหา เช่น ให้ทำแบบสอบถาม ว่าอยากจะแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ มีเป้าหมายที่อยากไปให้ถึงอย่างไรบ้าง
2.การให้องค์ความรู้ เช่น คู่มือสำหรับครูและพ่อแม่ สังเกตอาการของเด็กที่มีโอกาสบูลลี่และถูกบูลลี่ และจัด workshop การฟังอย่างลึกซึ้ง โดยไม่ตัดสินให้กับครู
3. การเข้ามามีบทบาทของสื่อ โรงเรียนใดมีการบูลลี่น้อยลงก็มอบรางวัล
ครูภูเสนอว่าในโรงเรียน ต้องเริ่มต้นดังนี้
1. เด็ก ครู ผู้ปกครองต้องมีทัศนคติว่าการบูลลี่เป็นปัญหาร่วมกัน
2. ตั้งกติกาของโรงเรียนขึ้นมาว่าพื้นที่นี้ไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งรังแกกันทั้งทางกาย วาจา และในโซเชียล
3. มีเส้นทางการช่วยเหลือทั้งผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ เพราะเชื่อว่าเด็กไม่ได้เกิดมาเพื่อแกล้ง เราจึงต้องหาที่มาของพฤติกรรมนั้น
เช่นเดียวกับครูการ์ตูนที่บอกว่าการรักลูกเชิงบวกที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่สามารถลงโทษตามที่ตกลงในกติการ่วมกันได้
“ โรงเรียนต้องมีพื้นที่ในการรับฟังเด็ก ไม่ผลีผลามรีบจัดการปัญหาโดยไม่ฟัง
ครูจุ๊ย
คำนึงถึงเด็กที่อาจจะมีอาการผิดปกติบางอย่างหรือสื่อสารไม่เก่ง
และต้องมีความเชื่อว่าเด็กพัฒนาได้ ครูมีศักยภาพ และทุกคนอยากเป็นคนที่ดีขึ้น”
เพื่อป้องกันการบูลลี่ ทักษะใดที่ครูและนักเรียนควรมี ?
ครูจุ๊ยบอกว่า “เราต้องสอนให้เด็กปกป้องตนเอง กล้าปฏิเสธว่าไม่ชอบ ไม่ใช่อะไรก็ได้ การที่บอกว่าไม่เป็นไร บางครั้งมันเป็น”
เช่นกันกับครูการ์ตูนที่บอกว่าคนที่ชอบแกล้งรางวัลของเขาคือความเจ็บปวดของคนถูกแกล้ง
“เราต้องทำให้การบูลลี่ไม่ใช่เรื่องปกติ ครูต้องฟังเยอะๆ ทั้งน้ำเสียง ความหมาย และท่าทาง
ครูการ์ตูน
ทุกคนมีสิทธิ์ปกป้องตัวเอง เคารพสิทธิ์ของเราเอง ยืนยันสิทธิ์ของเราเอง และบอกว่าไม่ชอบได้”
“เราต้องไวต่อความรู้สึก ถ้ารู้ตัวว่าเครียดต้องออกมาก่อน ทบทวนตัวเองเสมอ และ feedback อย่าตรงไปตรงมา ไม่ใช่ด่ามาด่ากลับ” ครูภูเสริม
ชวนผอ.และครูสร้างห้องเรียนปลอดภัยไปด้วยกัน
ถ้าครูเห็นว่าสิ่งนี้สำคัญและเป็นปัญหาร่วมกัน ตระหนักว่ามันต้องแก้ไข อยากลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลง มีใจอยากทำ ครูจุ๊ยบอกว่าอย่าทำคนเดียว ให้สร้างชุมชนขึ้นมา และพึงระลึกว่าเราไม่สมบูรณ์แบบ เราไม่สามารถกดปุ่มแล้วปลอดบูลลี่ได้ทันที ต้องไม่คาดหวังเบอร์ 100 แต่ให้กำลังใจกัน และบอกกับตัวเองว่าอย่างน้อยวันนี้ก็ดีกว่าเมื่อวานแล้ว
“อย่าโบยตีตัวเองถ้าทำไม่ได้ อย่าเร่งฝีเท้า กระบวนการค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง
ครูจุ๊ย
ลองผิดลองถูก ถอดบทเรียน และอย่าลืมมีความสุขกับความสำเร็จเล็กๆ ระหว่างทาง”
“การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ใจ และแววตาของความเป็นครูที่เชื่อว่าเด็กพัฒนาได้”
ครูการ์ตูน
“ตั้งใจ สะสมประสบการณ์ และยืนยันในเป้าหมายของเราที่อยากไป”
ครูภู
ขอบคุณวิทยากรทั้ง 3 ท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกันใน Equity talk ครั้งที่ 17 ห้องเรียนปลอดภัย ทำได้อย่างไรในวันที่ไกลกัน เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา
ครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า
ครูภู ภูริทัต ชัยวัฒนกุล
ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม
โรงเรียนเพลินพัฒนา
ครูการ์ตูน ธัญญรัตน์ ธนิศาจูมจันทร์
นักจิตวิทยาและคุณครูผู้เชี่ยวชาญ
ด้านจัดกิจกรรมและดนตรีสำหรับเด็ก ที่ Playstation
สิรามล ตันศิริ
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์