ความเหลื่อมล้ำทางสังคมถือเป็นปัญหาใหญ่ที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆได้ เพราะเมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำก็ทำให้เข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันชัย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในการสัมมนาเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมองว่าปัญหาความยากจนเป็นการตัดโอกาสในทุกๆด้านของชีวิต การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้สามารถแก้ปัญหาอื่นๆได้ ซึ่งยังเห็นว่าควรต้องให้ทุกคนมีโอกาสในการเข้าถึงบริการ และสามารถที่จะใช้โอกาสนั้น อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องเท่าเทียมกันทั้งหมด เพราะมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ควรต้องลดช่องว่างของความแตกต่างลงให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งจะรับรู้ปัญหาของพื้นที่อย่างชัดเจน รวมทั้งยังมีชุดข้อมูลที่มีคุณภาพมากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ขณะที่อำนาจหน้าที่ทั้งตามข้อกฎหมาย ทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อเป็นการยกระดับสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาให้กับประชาชน
โครงการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ทำงานร่วมกับสถาบันพระปกเกล้านี้ เพราะมองเห็นความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการออกแบบแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ตามบริบททางวัฒนธรรมและต้นทุนของแต่ละชุมชนที่มีอยู่
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาได้ดีขึ้นมาก จากการประเมินผลยังพบว่าโรงเรียนท้องถิ่นจัดการศึกษาได้ดีกว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. บางโรงเรียน ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าเป็นเพราะท้องถิ่นมีต้นทุนทางสังคม มีความยืดหยุ่นในการสร้างเอกภาพทางการศึกษา และมีความเป็นเอกภาพในการใช้ทรัพยากรมาบริหารอย่างเหมาะสม สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมการศึกษาไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ ให้ชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการเรียนรู้ นำวิถีชีวิตในชุมชนมาเชื่อมโยงกับการศึกษาได้
ขณะที่ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้จัดการกสศ. เปิดเผยตัวเลขเด็กนักเรียนที่ยากจนด้อยโอกาส พบว่าขณะนี้มีอยู่ประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และมีเด็กในวัยระหว่างชั้น ป.1-ม.3 อีกประมาณ 430,000 คน ที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษา รวมทั้งยังพบว่ามีเด็กยากจนที่มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งจากช่องว่างทางการศึกษาของไทยดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข
โดยแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยนั้น ดร.ไกรยศเห็นว่าการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการกระจายอำนาจ ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะตามบริบทของพื้นที่ ซึ่งทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการศึกษาที่เสมอภาค เนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จะเป็นตัวทำนายแนวโน้มของคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ ท้องถิ่นจึงถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่นได้ โดย กสศ. และสถาบันพระปกเกล้าหวังว่า ในอนาคต โครงการดังกล่าวจะส่งผลต่อการจัดการศึกษาในระดับประเทศ ให้ได้มองเห็นภาพสะท้อนของปัญหาและทางออกในการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง