Equity lab โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สมาคมทัศนมาตรศาสตรแห่งประเทศไทยและคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คิกออฟจัดกิจกรรมอบรมการคัดกรองสายตาเบื้องต้นให้แก่คุณครู ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะเบื้องต้นในการคัดกรองหาความผิดปกติทางตาให้แก่นักเรียน ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต จังหวัดปัตตานี” ในระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี โดยมีคุณครูและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้าร่วมจาก 12 อำเภอ ทั้งหมด 561 คน แบ่งเป็นคุณครู 441 คน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 120 คน
จากข้อมูลของโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ที่ได้ทดลองนำร่องโมเดลการคัดกรองสายตานักเรียนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จาก 72 โรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,725 คน มีนักเรียนที่ต้องตัดแว่น จำนวน 238 คน คิดเป็น 13.8 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด นักเรียนที่มีความผิดปกติทางสายตาที่ต้องส่งต่อไปรักษากับจักษุแพทย์ จำนวน 77 คน คิดเป็น 4.46 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนทั้งหมด ขณะที่ประเภทปัญหาสายตาที่พบ มีทั้งปัญหาสายตาสั้น สายตาสั้นและเอียง สายตาเอียง สายตายาว สายตายาวและเอียง ส่วนประเภทปัญหาโรคตาที่ส่งต่อไปรับการรักษากับจักษุแพทย์ ประกอบไปด้วย ตาขี้เกียจ ตาสั่น หนังตาตก ต้อกระจก และทำตาปลอม ซึ่งปัญหาที่กล่าวมา อาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา และเพิ่มความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ทั้งนี้อาจยังมีกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข จึงได้มีการจัดอบรมเพื่อให้หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ และเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสายตาในเด็กและเยาวชนและประชาชนทั้งจังหวัดในปี 2567
ทางด้าน นายเศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวว่า ขอบคุณทางกสศ.ที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานและรู้สึกดีใจ ภูมิใจที่ทุกคน โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมอบรมการคัดกรองสายตาในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทุกคนที่มีปัญหาสายตาในจังหวัดปัตตานีให้เข้าถึงการตรวจคัดกรอง และนำไปสู่การแก้ไขหรือการรักษาอย่างเหมาะสม ลดอุปสรรคต่อการเรียนรู้และความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา
“1 ในเด็กที่มีปัญหาสายตา มีผู้ปกครองที่มีฐานะยากจน เขาไม่มีเงินในการที่จะวัดสายตาแล้วก็ตัดแว่นให้กับลูกของเขา รวมทั้งไม่รู้สิทธิ์ที่เขาจะได้รับบริการตรวจและตัดแว่นฟรี จากการฟังข้อมูลของ กสศ. ที่ลงไปในพื้นที่ สิ่งที่เรากังวลคือ ปัญหาเรื่องสายตาที่มีต่อเด็กและเยาวชนของเราเนี่ย มันจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เวลาเกิดปัญหากับสายตานานๆ เข้า เด็กอาจจะไม่อยากเรียน อาจจะมีความเสี่ยงในการที่จะออกนอกระบบการศึกษา”
ทางด้าน นางสาวฐิติกา เกาะหมาน คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยากรในการอบรมครั้งนี้ ก็ได้กล่าวถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองสายตาในเด็ก รวมถึงผลกระทบหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันท่วงที เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมตระหนักถึงความสำคัญและเกิดความตื่นตัวในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในเรื่องนี้มากขึ้น
“ความผิดปกติทางสายตาในเด็ก หากมีความผิดปกติมารบกวนพัฒนาการของระบบการมองเห็น โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด- 9 ปี และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องเหมาะสมและรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นระยะยาว จนทำให้เกิดความพิการด้านการมองเห็นได้ในที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่คนใกล้ชิดต้องสังเกต”
ในการจัดอบรมครั้งนี้ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติของสายตา (Refractive Error) พร้อมแนวทางการสังเกตและการแก้ไขที่คุณครู ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้กับเด็กได้ โดยการสังเกตจากพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ชอบเดินเข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้ ๆ อ่านหนังสือชิดตามากกว่าปกติ ชอบนั่งหน้าห้องเวลาเรียน หรือการพยายามโน้มตัวไปข้างหน้าให้มากที่สุด เมื่อต้องอ่านตัวหนังสือ ขยี้ตาบ่อย หรืออาจมีการสื่อสารกับคุณครู ทั้งยังสามารถสังเกตอาการหรือความผิดปกติต่าง ๆ ที่ปรากฎขึ้นกับตัวเด็กได้ เช่น ตาเหล่ ตาเข ตาขมวดเข้า-ออกตลอดเวลา หรือ ตาเป็นฝ้า ส่วนแนวทางการแก้ไข บางกรณีอาจแก้ไขได้ด้วยการใส่แว่น เช่น เด็กที่มีค่าสายตา หากยังไม่ดีขึ้นอาจต้องใส่เลนส์พิเศษ หรือบางกรณีต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขความผิดปกติ ซึ่งในบางโรคหรืออาการ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือรักษาก่อนอายุ 7 ปี จึงจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติ
นอกจากนี้นายซุลกิฟลี วาเซ็ง ประธานกรรมการสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ส่วนภูมิภาคใต้ตอนล่าง สาธิตวิธีการคัดกรอง และให้คุณครูฝึกปฏิบัติการคัดกรองสายตาเบื้องต้น โดยให้คุณครูทดสอบการอ่านและวัดสายตาด้วยตนเอง จากนั้นเป็นกิจกรรมกลุ่มฝึกการตรวจวัดสายตา บันทึกค่าสายตา และส่งต่อข้อมูล ร่วมกับเจ้าหน้าที่รพ.สต. เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อการดำเนินงานในพื้นที่นั้นๆ
ภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม จะมีการกำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อให้คุณครูคัดกรองสายตานักเรียนเบื้องต้น พร้อมทั้งส่งต่อข้อมูลไปที่รพ.สต. และจัดตั้งคณะทำงานออกหน่วยตรวจสายตา โดยมีการตั้งเป้าหมาย การคัดกรองสายตานักเรียนทุกระดับชั้น จำนวน 200,000 กว่าคน รวมทั้งเด็กนอกระบบ 12,000 คน ในจังหวัดปัตตานี โดยจะมีการมอบแว่นตาในวันที่ 15 ธันวาคม 2567