“เด็กจะเริ่มสร้างแม่ที่มีอยู่จริงในช่วงอายุ 6 เดือน เริ่มจากการฟังเสียงหัวใจ จดจำลักษณะใบหน้า เสียงเพลงกล่อม เมื่อเกิดการจดจำและความไว้ใจ จึงยกให้เป็นแม่ ผู้คลอดมิใช่เเม่ ผู้เลี้ยงใน 6 เดือนต่างหากที่เป็นแม่ คำถามคือ แม่ในประเทศไทยอยู่ที่ไหนในช่วง 6 เดือนแรก”
ประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอโดย นายเเพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผ่านปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ในหัวข้อ ‘เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการ ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’ จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็นสำคัญในปาฐกถาพิเศษครั้งนี้คือ การมองให้เห็นถึงความสอดคล้องระหว่าง ‘เวลาวิกฤติ’ (critical period) ในเด็ก ‘การกระจายอำนาจ’ และ ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ ว่าคำเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกันเช่นไร การกระจายอำนาจของรัฐจะส่งผลต่อช่วงเวลาวิกฤติหรือการเติบโตของเด็กได้อย่างไรบ้าง และหากรัฐจัดให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม จะช่วยฟื้นสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกได้หรือไม่
เวลาวิกฤติ คือช่วงเวลาสำคัญที่มนุษย์จะมีพัฒนาการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ รวมถึงพฤติกรรม หากช่วงเวลานั้นๆ ถูกปิดกั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้หรือฝึกฝนอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้พัฒนาการแหว่งวิ่น และหากล่วงเลยช่วงเวลานั้นแล้วก็ไม่อาจกลับไปสร้างพัฒนาการย้อนหลังได้
ทว่าการเติมเต็มช่วงเวลาวิกฤติ ไม่อาจทำได้ด้วยการปล่อยให้เป็นภาระของพ่อแม่เพียงลำพัง หากยังจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากรัฐในการเปิดโอกาสให้สายสัมพันธ์ของครอบครัวไทยฟื้นคืนกลับมา
ถัดจากนี้คือบางช่วงตอนที่เรียบเรียงจากถ้อยปาฐกถาของ นายเเพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
การสร้างเเม่ที่มีอยู่จริง กระบวนการสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤติ
ช่วงเวลาวิกฤติ ต่างมีอยู่ในเด็กทุกช่วงวัย โดยช่วงวัยที่สำคัญที่สุดคือวัยแรกเกิดหรือตอนที่ยังเป็นทารก เนื่องจากช่วงเวลาวิกฤติของทารกคือ การสร้างความไว้ใจ (trust) ซึ่งวิธีที่จะทำให้ทารกสามารถสร้างความไว้ใจโลกที่เขาเกิดมานั้นมี 2 ขั้นตอน คือ การไว้ใจเเม่เเละการไว้ใจโลก โดยก่อนที่จะนำไปสู่การไว้ใจโลก ทารกจะต้องไว้ใจเเม่ที่เป็นผู้เลี้ยงดูเสียก่อน กระบวนการเเรกที่จะเกิดขึ้นกับทารกในช่วง 6-12 เดือน จึงเป็นกระบวนการสร้างเเม่ให้มีอยู่จริง
กระบวนการสร้างเเม่ให้มีอยู่จริงจะเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาวิกฤติของทารก สิ่งที่ทารกต้องการคือ มีแม่ที่คอยตอบสนองความต้องการอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะการให้นม การโอบอุ้ม การกล่อมนอน การปกป้องจากผู้เป็นแม่ เมื่อทารกได้รับการตอบสนองความต้องการเหล่านี้ก็จะสามารถสร้างแม่ที่มีอยู่จริงขึ้นมาได้ โดยสร้างจากการฟังเสียงหัวใจ สัมผัสว่านี่คือท่อนเเขน เต้านม ทรวงอกของเเม่ จดจำเสียงร้องเพลงกล่อมนอน ไปจนถึงใบหน้าแม่ จนเกิดความคุ้นเคย นำไปสู่ความไว้ใจ จากนั้นจึงยกให้ผู้ดูแลคนนั้นเป็นแม่ นั่นหมายความว่า ผู้คลอดมิอาจเรียกว่าเป็นแม่ได้อย่างเต็มตัว ผู้เลี้ยงดูในช่วง 6 เดือนแรกต่างหากที่จะถูกจดจำให้เป็นแม่
ดังนั้น เมื่อทารกเรียกร้องเวลาในกระบวนการสร้างเเม่ที่มีอยู่จริงในช่วง 6 เดือน สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ การที่เเม่ที่เป็นผู้คลอดสามารถอยู่กับทารกและเลี้ยงดูเขาได้ในช่วงเวลาวิกฤติดังกล่าว แต่คำถามคือ กฎหมายของรัฐไทยสนับสนุนวาระการลาคลอด เพื่อให้พ่อเเม่สามารถลางานไปเลี้ยงดูบุตรได้นานแค่ไหน และสอดคล้องกับช่วงเวลาวิกฤติของทารกหรือไม่
98 วัน ที่รัฐอนุญาตให้แม่ลาคลอด
การลางานเพื่อจะดูแลทารกในช่วงเวลาวิกฤติอย่างเต็มเวลา เป็นเรื่องที่เเทบเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทย เนื่องจากข้อกฎหมายที่อนุญาตให้แม่เด็กสามารถลาคลอดและเลี้ยงบุตรหลังคลอดได้เพียง 98 วัน หรือคิดเป็นเวลาเพียง 3 เดือนเศษเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาวิกฤติที่เด็กต้องการการตอบสนองตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 เดือน และหากกล่าวอย่างถึงที่สุด เด็กหนึ่งคนควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดในช่วงเวลาวิกฤติไปจนถึงอายุ 3 ขวบเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากเมื่อพ้นช่วง 6 เดือนแรก หลังจากที่เด็กเข้าใจและตระหนักถึงการมีอยู่จริงของเเม่แล้ว ก็จะเป็นช่วงสร้างสายสัมพันธ์กันระหว่างแม่และลูกไปจนกระทั่งครบ 12 เดือน
นพ.ประเสริฐ ได้ยกตัวอย่างไว้ว่า ในช่วงแรกที่เด็กสามารถเดินเตาะแตะได้ เมื่อเดินไปได้สัก 5 ก้าว เด็กจะหันกลับมามองว่าแม่ยังอยู่หรือไม่ เพื่อความสบายใจและสามารถก้าวเดินต่อไปอย่างไว้ใจโลกได้ จุดนี้เองที่จะนำไปสู่การสร้างตัวตน (self) ในช่วงระหว่างนั้นไปจนถึงอายุ 3 ขวบ
สามารถกล่าวได้ว่า พัฒนาการความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นตอนอายุ 3 ขวบ หากพ้นไปจากนั้นแล้วพ่อเเม่อาจไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะความเป็นมนุษย์ได้ถูกสร้างจนเสร็จเเล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเวลาเพียง 98 วัน จึงไม่เพียงพอสำหรับการลาหลังคลอดเพื่อเลี้ยงลูก
พ่อแม่ในประเทศไทยหายไปไหน
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่กฎหมายไทยในปัจจุบันกำหนดให้ผู้เป็นแม่สามารถลาคลอดได้เพียง 98 วัน ส่วนผู้เป็นพ่อสามารถลาไปช่วยเลี้ยงลูกได้เพียง 15 วันเฉพาะราชการเท่านั้น ส่วนเอกชนยังไม่มีการบังคับใช้ ถึงเเม้ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา จะมีมติ ครม. เห็นชอบร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอข้อกฎหมายเพิ่มเติมว่า เมื่อครบกำหนดที่กฎหมายอนุมัติให้ลาคลอด 98 วันแล้ว แม่เด็กสามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยจะได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุไว้ว่า ควรให้ทารกได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงการเห็นชอบโดย ครม. ในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้ว่า เมื่อเข้าสู่การเสนอวาระในสภาจะเป็นไปในทิศทางใด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้พ่อเเม่ยังคงต้องเลี้ยงลูกให้เติบโตภายใต้ข้อกฎหมายฉบับเดิมอย่างไม่มีกำหนดไปจนกว่าข้อกฎหมายจะมีการเปลี่ยนแปลง
ในทางกลับกัน มีหลายประเทศในโลกที่ให้ความสำคัญแก่การกำหนดกฎหมายในการเลี้ยงลูกเเละการจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสม จากรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สามารถยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้ (ข้อมูล ณ ปี 2558)
- โครเอเชีย: หากมีการตั้งครรภ์ จะได้รับเงินประกันสังคมอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงที่จะคลอด และได้รับเงินเดือนเต็มอัตราในระหว่างการลาคลอด เป็นระยะเวลา 30 สัปดาห์ หรือประมาณ 7 เดือน
- โปแลนด์: ผู้เป็นแม่สามารถลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ หรือประมาณ 6 เดือนครึ่ง และจะได้รับเงินเดือนเต็มอัตรา ส่วนผู้เป็นพ่อสามารถลาหยุดเพื่อช่วยเลี้ยงดูได้ 2 สัปดาห์ และจะได้รับเงินเดือนเต็มอัตราเช่นกัน
- สหราชอาณาจักร: สามารถลาคลอดได้ 39 สัปดาห์ หรือประมาณเกือบ 10 เดือน แต่จะได้รับเงินเดือน 33 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมด
- อิสราเอล: สามารถลาคลอดได้ 26 สัปดาห์ โดย 14 สัปดาห์แรกจะได้รับเงินเต็มอัตรา ส่วนอีก 12 สัปดาห์ รัฐจะจ่ายให้เป็นก้อนเดียวคือ 5 เท่าของค่าเเรงเฉลี่ยในประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 430,000 บาท
ข้อมูลดังกล่าว เป็นเพียงตัวอย่างในบางประเทศเท่านั้น แต่หากมองภาพรวมจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาส่วนใหญ่ที่สามารถหยุดลาคลอดได้จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 สัปดาห์ หรือราวๆ กว่า 7 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างครอบคลุมช่วงเวลาวิกฤติที่ทารกคนหนึ่งจะเริ่มสร้างกระบวนการในการจดจำเเละไว้ใจจนนำไปสู่การสร้างแม่ที่มีอยู่จริงได้
ความเหลื่อมล้ำที่อัดแน่น จนไม่เหลือพื้นที่ให้เด็กเติบโต
นอกจากประเด็นกฎหมายในการลาคลอดที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูเด็กในช่วงเวลาวิกฤติแล้ว สภาพและโครงสร้างทางสังคมในประเทศไทยก็ไม่เอื้อต่อการเติบโตของเด็กเช่นกัน นพ.ประเสริฐ ระบุว่า สิ่งที่ควรจะมีการปรับเปลี่ยนในเชิงนโยบายคือ บ้านเเละโรงเรียน เนื่องจากสองพื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่ที่เด็กจะต้องใช้เวลาในการเติบโตและอยู่ในสภาพแวดล้อม ณ ที่แห่งนั้นมากที่สุด ซึ่งคำถามเดิมที่ยังคงอยู่คือ แล้วพ่อเเม่อยู่ตรงไหนในบ้านขณะที่เด็กกำลังเติบโต?
ในความเป็นจริงคือ พ่อเเม่ต้องออกไปทำงานทันทีหลังจากครบกำหนดวันลาหลังคลอดเพื่อเลี้ยงดูลูก อีกทั้งสัดส่วนพ่อเเม่ส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง ซึ่งล้วนต้องออกไปทำงาน บางครอบครัวอาจต้องอยู่แยกกับลูก เนื่องจากต้องเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ
“เมื่อพ่อเเม่ต่างต้องทำงาน จะเอาแรงและเวลาที่ไหนมาเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่ เพราะการเลี้ยงดูไม่ใช่เพียงการอยู่ข้างๆ เเล้วมองเขาเติบโต เเต่การเลี้ยงดูยังรวมไปถึงการพาลูกออกไปวิ่งเล่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำกิจกรรมต่างๆ และที่โชคร้ายไปกว่านั้นคือ กิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย” นพ.ประเสริฐ กล่าว
หากการทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนเเละเป็นไปได้มากที่สุดคือ การพาลูกไปวิ่งเล่นในพื้นที่กว้างๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดี เเต่ก็ยังเกิดคำถามคือ ในประเทศไทยมีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สีเขียว สนามหญ้ากว้างๆ ที่ไม่ติดป้ายข้อห้ามหรือคำเตือนต่างๆ อยู่สักกี่แห่ง แค่นึกถึงสถานที่เช่นนี้ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ยังเป็นเรื่องยาก กรณีพื้นที่ในต่างจังหวัด ชุมชน เเละชนบทยิ่งเเทบจะนึกไม่ออก เท่าที่เห็นเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยสนิมหรือแตกหัก รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้เขตชุมชนเเละสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวกด้วยหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ยังคงเต็มไปด้วยคำถามเเละปัญหาที่ยังรอคอยการเเก้ไข
‘โรงเรียน’ อีกหนึ่งปัญหารูปธรรมจากการไม่กระจายอำนาจ
พื้นที่ที่ 2 คือ โรงเรียน จะพบว่าโรงเรียนหรือระบบการศึกษาในปัจจุบันจะมุ่งเน้นให้เด็กต้องตกอยู่ในภาวะการเเข่งขันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนที่เยอะ ติวเยอะ สอบเยอะ ระบบการศึกษาในทุกวันนี้กลายเป็นระบบเเพ้คัดออกอย่างเต็มรูปแบบ เด็กนักเรียนต่างต้องเเข่งขันกันตั้งเเต่อายุยังน้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ปัจจุบันมีเเม้กระทั่งการติวสอบเข้าชั้น ป.1 สำหรับเด็กชั้นอนุบาล โดยปัญหามาจากการไม่กระจายอำนาจ นั่นคือ การที่ผู้ออกแบบหลักสูตรมักมาจากศูนย์กลาง ซึ่งจะออกแบบหลักสูตรโดยไม่ได้มีการประเมินหรือคำนึงถึงพื้นที่ในส่วนท้องถิ่นหรือพื้นที่ที่ห่างไกลว่ามีความพร้อมหรือไม่ มีอาคารและบุคลากรเหมาะสมหรือไม่ ในส่วนประเด็นนี้ นพ.ประเสริฐ จึงได้นำเสนอเเนวทางการแก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมาว่า
“โรงเรียนควรเป็นของส่วนท้องถิ่น หลักสูตรก็ควรเป็นของส่วนท้องถิ่น ครูยิ่งต้องเป็นของส่วนท้องถิ่น แต่ทุกวันนี้ทำไม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง ทั้งที่จริงแล้วครูต้องอยู่ใกล้ชุมชน เป็นคนของชุมชน เป็นหลักสูตรที่รับใช้ชุมชน และตัวผู้อำนวยการเองก็ควรตระหนักว่าต้องทำเพื่อชุมชน นี่คือการกระจายอำนาจตามที่เป็นจริง”
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นว่าการกระจายอำนาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของเด็กคนหนึ่งโดยตรง รวมไปถึงการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น หากรัฐยังไม่เร่งแก้ปัญหาและเเก้ข้อกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เอื้อให้พ่อเเม่สามารถเลี้ยงให้เด็กเติบโตมาอย่างมีคุณภาพได้ ปัญหาก็จะยิ่งพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตไปเป็นเด็กที่มีภาวะบกพร่องจากการมีพัฒนาการที่ไม่เต็มที่ การหลุดออกจากระบบการศึกษา หรืออาจจะเติบโตไปเป็นบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพ ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดขึ้น เเละนับวันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เเก้ได้ยากยิ่งขึ้น
ที่มา: