เรื่อง: ภูมิ เพ็ญตระกูล
นักวิชาการ วสศ.
“คะแนน PISA ของประเทศไทยรั้งท้าย (โลก)” “สิงคโปร์คะแนน PISA สูงที่สุดในโลก” คงเป็นคำพูดติดหูที่หลายคนเคยได้ยิน การนำเสนอข่าวเรื่อง PISA มักจะมุ่งไปในเชิงเปรียบเทียบโดยที่คะแนน PISA ของประเทศไทยมักจะได้อยู่ฝั่งที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ แต่การเปรียบเทียบไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการแพ้-ชนะ แต่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และพัฒนาสำหรับระบบการศึกษาต่างๆ
การทดสอบ PISA คืออะไร?
การประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล หรือ PISA (Programme for International Student Assessment) โดย องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เป็นการทดสอบสมรรถนะผู้เรียน อายุ 15 ปี ซึ่งดำเนินการจัดขึ้นทุก 3 ปี ทั่วโลก จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 ปัจจุบันมีประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจเข้าร่วมการประเมินจำนวนกว่า 79 ประเทศ มีนักเรียนกว่า 200,000 คนเป็นกลุ่มตัวอย่าง
ประเทศไทยได้เข้าร่วมการทดสอบ PISA อย่างต่อเนื่องตั้งแต่แรกเริ่ม โดยในปี 2018 มีโรงเรียนจากประเทศไทยเข้าร่วมการทดสอบ 290 โรงเรียน นักเรียน 8,633 คน
ตั้งแต่เริ่มต้นการทดสอบในปี 2000 การประเมิน PISA กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และกลายเป็นตัวชี้วัดสำคัญด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcome) สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาของปลายประเทศทั่วโลก
ข้อจำกัดของ PISA
แน่นอนว่าการเก็บข้อมูลจากนักเรียนทุกคนในทุกสถานศึกษาจะเป็นวิธีที่สามารถสะท้อนภาพระดับสมรรถนะของผู้เรียนในแต่ละประเทศได้อย่างแม่นยำสูงที่สุด แต่วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงมาก OECD จึงเลือกใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างนักเรียนและสถานศึกษาภายใต้ระเบียบวิธีที่เคร่งครัดและเป็นมาตรฐานเดียวกับทั่วโลก นอกจากนี้ เพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายและครอบคลุม ผู้เรียนแต่ละคนจะได้รับชุดแบบทดสอบที่มีความแตกต่างกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากการทดสอบที่ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างและใช้ข้อสอบหลายชุด จึงทำให้ข้อมูล PISA ไม่สามารถสะท้อนผลในรายบุคคลหรือสะท้อนการศึกษาได้อย่างแม่นยำ สถานศึกษาจึงยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลจากการทดสอบ PISA ได้อย่างเต็มที่
PISA for Schools คืออะไร
ด้วยข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์ข้อมูลในระดับสถานศึกษาของการทดสอบ PISA นี้ องค์การ OECD จึงได้พัฒนาโครงการ PISA for Schools หรือ การประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากลเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา ในปี 2013 เพื่อนำเครื่องมือการวัดผลระดับสากลอย่าง PISA มาปรับปรุงเพื่อให้สามารถรายงานผลได้ในระดับสถานศึกษา โดยในปี 2021 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาได้ร่วมกับ OECD ในการนำโครงการ PISA for Schools มาสู่ประเทศไทย และเริ่มต้นทดลองนำร่องใน 66 โรงเรียนทั่วประเทศ
PISA for Schools บอกอะไรเราได้บ้าง
การสำรวจ PISA for Schools จะมีความคล้ายคลึงกับการทดสอบ PISA ซึ่งมี 2 ส่วน
ส่วนแรก คือการประเมินสมรรถนะความฉลาดรู้ (literacy) ใน 3 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (reading literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (mathematics literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (scientific literacy) โดยแบบทดสอบนี้จะไม่เน้นความสามารถในการท่องจำของผู้เรียน แต่จะเน้นการวัดความสามารถในการนำความรู้ไปปรับใช้และแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่แปลกใหม่
ส่วนที่สอง จะเป็นการสำรวจข้อมูลของนักเรียน (student background survey) ซึ่งจะสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับระดับเศรษฐฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียน และมุมมองของนักเรียนที่มีต่อตนเอง เช่น แรงจูงใจและความใฝ่ฝัน ความคาดหวังต่อตนเอง ไปจนถึงมุมมองต่อสภาพแวดล้อมในโรงเรียน เช่น การกลั่นแกล้ง (bullying) หรือวิธีการจัดการเรียนการสอนของครู
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา OECD ได้เพิ่มการสำรวจทักษะทางอารมณ์และสังคม (socio-emotional skills) จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการอารมณ์ (emotional regulation) การมีส่วนร่วมกับผู้อื่น (engaging with others) การทำงานร่วมกัน (collaboration) สมรรถนะในการทำงาน (task performance) และการเปิดกว้างทางความคิด (open-mindedness)
การเปรียบเทียบเพื่อการเรียนรู้
โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ PISA for Schools จะได้รับรายงานสรุปผลสมรรถนะผู้เรียนระดับสถานศึกษา (school report) โดยรายงานดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงระดับสมรรถนะของนักเรียนในโรงเรียน ในเชิงเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ที่เข้าร่วมการประเมิน PISA ทั้งจากในประเทศไทยและจากทั่วโลก
ทั้งนี้ PISA for Schools ไม่ได้เป็นเพียงการทดสอบเพื่อรายงานผลคะแนนว่าใครดีกว่าใคร แต่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (peer learning) ในระดับประเทศและระดับสากล การมีข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบกันได้ในระดับนานาชาติจะสามารถช่วยให้โรงเรียนที่เผชิญสภาพปัญหาคล้ายๆ กัน หรือมีบริบททางเศรษฐฐานะใกล้เคียงกันสามารถมาร่วมเรียนรู้และหาทางแก้ไขปัญหาจากกันได้