กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจช่วยเหลือดูแล ให้โอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต ยูนิเซฟประเทศไทย กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน จัดตั้ง “บ้านปันยิ้ม”ศูนย์พักคอยต้นแบบสำหรับแม่และเด็ก เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด
คุณไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกสศ. มองว่าช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน ที่มีการปิดภาคเรียน ระหว่างรอยต่อปีการศึกษา เด็กกลุ่มเปราะบางเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะจากการระบาดของโควิด ที่ทำให้รายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ และจากอาการป่วย ซึ่งอาจเป็นตัวเร่งให้เด็กไม่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยจะเห็นได้จากตัวเลขเด็กที่หลุดออกจากระบบเมื่อปี 2564 มีสูงถึงแสนราย ซึ่งการจะป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้หลุดออกจากระบบ นั้น การทำงานต้องได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องเข้ามาออกแบบการเปิดให้มีการเรียน การสอน ที่ปลอดภัย เพราะมองว่าหากปิดเรียน หรือจัดให้เรียนออนไลน์ทดแทนในระยะยาว จะส่งผลต่อความถดถอยในการเรียนรู้ของเด็ก และเยาวชน โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ชนบท หรือ ห่างไกล ที่มีช่องว่างทางการศึกษาอยู่แล้ว
ที่ผ่านมา กสศ.พบว่าการจะทำให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ใช่เพียงการทำงานด้านการศึกษาเพียงด้านเดียว แต่ต้องทำงานในระบบคุ้มครองทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาให้ได้ เนื่องจากหากไม่มีระบบคุ้มครอง เด็กที่มีฐานะยากจนและด้อยโอกาส จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุดในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐาน
ข้อมูลจาก ศบค.ระบุตัวเลขผู้ป่วยเด็กติดโควิดสะสมตั้งแต่ปี 2564 กว่า 520,000 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเด็กเกิดใหม่ ในปี 2564 ประมาณ 540,000 ราย แสดงให้เห็นว่าการที่มีเด็กได้รับผลกระทบจากโควิดอาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว การป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดของโควิดมากระทบกับเด็ก จึงต้องทำงานแบบพหุภาคี ที่ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องมีระบบช่วยเหลือ อย่างบ้านปันยิ้ม CI เพื่อแม่และเด็ก ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานที่มีเป้าหมายเพื่อแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล
ขณะที่ คุณจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเปิดเผยว่าช่วงที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า มีเด็กกว่า 290,000 รายติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้ พม.ได้เข้าไปดูแลเด็กประมาณ 6,500 ราย พบว่ามีเด็กกำพร้าถึง 448 รายโดยส่งต่อให้กรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลแล้ว 300 ราย และเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบในมิติอื่นทั้งความยากจน ความรุนแรง เด็กเหล่านี้ต้องการความคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพ โดยในปีนี้ได้ใช้เงินกองทุนช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 1,800 ราย ใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาท
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดล่าสุดจากสายพันธุ์โอมิครอนที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง แต่การแพร่ระบาดก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงยังต้องเฝ้าระวังและดูแลสถานการณ์ เนื่องจากยังมีเด็กเล็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และในจำนวนนี้ก็มีเด็กกลุ่มเปราะบางอยู่ด้วย
ด้านนพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ต้องดูแลรักษาอาการป่วยของเด็กจากโควิดมองว่าการรักษาแบบ CI ,HI และ OPD HI เป็นแนวทางหลักในการลดจำนวนเด็กที่จะถูกส่งต่อมารักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะการรักษาแบบ CI ยังเป็นระบบที่เหมาะกับเด็ก ให้เด็กได้อยู่กับผู้ปกครอง เพราะเห็นว่าเมื่อเด็กป่วยไม่สามารถรักษาเพียงสุขภาพกายอย่างเดียว แต่ต้องรักษาใจโดยมีผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญให้เด็กหายเร็วขึ้น และยังเห็นด้วยกับการร่วมกันทำงานหลายหน่วยเพื่อดูแลเด็ก โดยไม่อยากให้หยุดแนวทางการทำงานนี้เพียงแค่เรื่องโควิดเท่านั้น แต่ควรดูแลในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเด็ก เพราะเด็ก ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด
เช่นเดียวกับ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่าเป้าหมายของการดูแลเด็กคือการมุ่งเน้นไปที่เด็กและครอบครัวที่เปราะบาง ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โยมองว่าในครอบครัวที่มีความสมบูรณ์ การเลี้ยงดูแด็กก็ถือเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว แต่เมื่อบางครอบครัวต้องขาดความสมบูรณ์ ทำให้การเลี้ยงดูยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้มีการแพร่ระบาดในครอบครัว ยิ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงเชื่อว่า “บ้านปันยิ้ม” จะสามารถสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่เข้ามารับการดูแล พร้อมเสนอให้ใช้กลไกการดูแลเด็กโดยเน้นที่สุขภาพจิตของเด็กเป็นหลัก
สอดคล้องกับหลักการทำงานของ ครูแอ๋ม คุณศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง ที่ระบุว่า ภายใน “บ้านปันยิ้ม” แห่งนี้ ได้พยายามออกแบบให้การทำงานทุกขั้นตอนเป็นมิตรกับเด็ก เพื่อลดความกลัวของเด็กลง ผ่านรูปแบบกิจกรรมสันทนาการในด้านต่างๆ นอกจากนี้ เมื่อครั้งที่มีการระบาดโควิด 19 ในพื้นที่ย่านคลองเตยช่วงแรก กลุ่มเยาวชนอายุ 15-20 ปี ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครในการจัดการดูแลภายในชุมชน และมีทีมแพทย์ มาร่วมให้ความรู้เพื่อให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ที่นอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระให้กับโรงพยาบาลแล้ว ยังเป็นการช่วยให้เด็กได้ใกล้ชิดกับผู้ปกครองด้วย
ด้านภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนร่วมสนับสนุนโครงการ อย่าง LINEMAN Wongnai โดยคุณอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ ที่บอกว่าต้องการให้มองเป็น logigtics partner ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการโดยสนับสนุนทั้ง HI และ CI ในการส่งอาหาร ยา และเครื่องมือแพทย์
แม้ปัญหาโควิด จะส่งผลกระทบต่อความเสมอภาคทางการศึกษา เศรษฐกิจ ความถดถอยทางการเรียนรู้ และสถาบันครอบครัวทีทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆตามมามากมาย แต่การที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันทำงาน โดยมีเป้าหายเดียวกันคือการช่วยเหลือเด็กกลุ่มเปราะบาง ให้ก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสเจริญเติบโตได้อย่างมีคุณภาพในอนาคต พร้อมที่จะเป็นต้นแบบจำลองให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ในอนาคต