นับเป็นเวลากว่า 2 ปี จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อทั้งหมดรวม 1,689,437 ราย และเสียชีวิตสะสม 17,534 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564) ภาพของจำนวนตัวเลขที่ปรากฏในแต่ละวันไม่ได้เป็นแค่บุคคลทั่วไป หากแต่บางส่วนยังหมายถึงชีวิตพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กจำนวนหนึ่ง
จากการสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม – 4 กันยายน 2564 พบเด็กกำพร้าถึง 369 คน โดยกำพร้าบิดา 180 คน กำพร้ามารดา 151 คน กำพร้าทั้งบิดาและมารดา 3 คน และกำพร้าผู้ปกครอง 35 คน โดยเด็กกำพร้าที่พบส่วนใหญ่มีอายุ 6-18 ปี รองลงมาคือช่วงแรกเกิดถึง 3 ปี และน้อยสุดคืออายุ 1 วัน จากการสูญเสียแม่ ทั้งนี้ พม. ได้เข้าช่วยเหลือในระยะสั้นโดยการให้เงินสงเคราะห์เด็กและให้สิ่งของอุปโภคบริโภค ส่วนการช่วยเหลือระยะยาว เช่น การจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้เด็ก หรือฟื้นฟูสุขภาพจิต และให้โอกาสทางการศึกษา
‘เด็กกำพร้า’ หรือ ‘เด็กที่ถูกทอดทิ้ง’ ถือเป็นเด็กด้อยโอกาสที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้อยู่ในประเภทที่ 3 ซึ่งจากงานศึกษา ‘ปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา: สถานการณ์ความไม่เสมอภาคในสังคมไทย’ ของ ดำรงค์ ตุ้มทอง และคณะ ให้ข้อมูลจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ในปี 2555 ว่ามีจำนวนมากถึง 4,323,142 คน โดยมีเด็กถูกทอดทิ้งหรือเด็กกำพร้า จำนวน 65,671 คน ขณะที่ผลสำรวจจำนวนเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาของ iSEE แพลตฟอร์มที่จัดทำโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า ในปี 2561 มีเด็กด้อยโอกาสทั้งหมด 3,625,048 คน โดยมีเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กกำพร้า จำนวน 15,173 คน
จากข้อมูลการสำรวจทั้ง 2 ปีข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้จำนวนเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่ถูกทอดทิ้งจะลดลง ทว่าก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อจำนวนเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ได้ อีกทั้งเด็กกลุ่มนี้ยังคงเป็นปัญหาคู่กับการศึกษาไทยมาโดยตลอด
เพราะอะไรจำนวนเด็กกลุ่มนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ สาเหตุมีดังนี้
- การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการมีบุตร ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่กำพร้าหรือถูกทอดทิ้งมักมาจากปัญหาพ่อแม่วัยรุ่นที่มีลูกในวัยเรียน ซึ่งพ่อแม่ในวัยนี้ยังขาดความพร้อมทั้งความรู้ในการเลี้ยงลูก และขาดความพร้อมทางการเงิน เป็นต้น
- ปัญหาครอบครัว เช่น การใช้ความรุนแรง ทะเลาะเบาะแว้ง การหย่าร้าง เป็นต้น ซึ่งหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ทำความเข้าใจ และให้ความอบอุ่นกับบุตรหลานของตัวเองมากพอ พฤติกรรมข้างต้นอาจกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็ก ทำให้เด็กอึดอัด ไม่มีความสุข และเลือกที่จะหนีออกจากบ้าน เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมดังกล่าว
- ปัญหาเศรษฐกิจ บางครอบครัวมีฐานะยากจน ทำให้ไม่มีทุนทรัพย์ที่จะสามารถเลี้ยงดูหรือดูแลเด็กได้
- การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เช่น ผู้หญิงถูกข่มขืน ทำให้ไม่ต้องการเลี้ยงดูเด็ก หรือไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้
- เด็กมีความบกพร่องหรือพิการ เด็กที่เกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือทางสมอง ทำให้บางครอบครัวไม่ประสงค์จะเลี้ยงดู หรือไม่สามารถเลี้ยงดูได้ เนื่องจากเด็กพิเศษเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าเด็กทั่วไป เช่น ค่าดูแลรักษาพยาบาล หรือค่าอุปกรณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ จากงานศึกษาของดำรงค์ได้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคและสาเหตุของปัญหาในการดำเนินแนวทางแก้ไขเรื่องเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาเชิงโครงสร้างไว้อีกด้วยว่า เพราะประเทศไทยขาดการร่วมมือกันของภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ปัญหา ด้วยหน่วยงานรัฐและเอกชนต่างทำงานอย่างเป็นเอกเทศ จึงขาดการบูรณาการที่ดีในการส่งต่อข้อมูล การสื่อสาร หรือวางแผนแก้ไขและดำเนินงานร่วมกัน
อีกทั้งแม้งบการศึกษาของไทยจะอยู่ในระดับสูง ทว่าขาดการจัดการที่ดี เช่น ขั้นตอนในการเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนของการดูแลเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาที่ซับซ้อนและยุ่งยาก จึงทำให้การจัดสรรงบไปสู่การดูแลเด็กกลุ่มนี้ล่าช้า รวมถึงขาดแผนกลยุทธ์เชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และขาดการติดตามผลการดำเนินการ ทำให้การแก้ปัญหาเด็กด้อยโอกาสไม่มีความต่อเนื่อง
เพื่อแก้ปัญหาเด็กกำพร้าหรือเด็กที่ถูกทอดทิ้ง พม. ได้มีมาตรการแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง จากการประชุมคณะกรรมการการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2558 ด้วยการเริ่มจากมาตรการป้องกัน รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องแก่เยาวชน และผลักดันให้ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และท้องถิ่น เข้ามาร่วมมือขับเคลื่อนและแก้ปัญหาร่วมกัน
แนวทางข้างต้นของ พม. เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อเสนอแนะของงานวิจัยที่ได้ระบุถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายทางสังคมอย่างจริงจัง โดยเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหาของเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และเข้าใจความต้องการของคนในพื้นที่ สภาพความเป็นอยู่ของเด็ก รวมถึงปัญหาของเด็กและผู้ปกครอง นอกจากนี้ หากชุมชนมีการจัดทำระบบข้อมูลเด็กด้อยโอกาส และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงตัวเด็กได้มากขึ้น และเด็กก็จะได้รับโอกาสในการช่วยเหลือที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- รายงานวิจัย ‘ปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา: สถานการณ์ ความไม่เสมอภาคในสังคมไทย’ โดย ดำรงค์ ตุ้มทอง นิสิตปริญญาเอก สาขาวิจัยและประเมินผลการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ
- ณิชชา บูรณสิงห์, เด็กถูกทอดทิ้ง: ปัญหาที่สังคมต้องเยียวยา
- สลด! โควิดเพิ่มยอดเด็กกำพร้า 369 ราย อายุน้อยสุด 1 วัน ห่วงเรียนออนไลน์ ทำคุณภาพการศึกษาถดถอย 1 ปี
- https://isee.eef.or.th/screen/disabled/disabled.html