เรื่อง: กานดา ณ พิกุล
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับคำว่าการเรียนในแบบ ‘New Normal’ เพราะด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด และถึงแม้จะมีการปรับให้เรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงการเรียนด้วยวิธีการนี้ โดยเฉพาะเด็กตาบอดที่การเรียนในช่วงปกติของพวกเขาก็มีอุปสรรคมากกว่าเด็กทั่วไป การเรียนออนไลน์จึงอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็กกลุ่มนี้ และอาจส่งผลให้พวกเขาหลุดออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว
“ตอนนี้โควิดเพิ่งจะผ่านมาประมาณ 3-4 เดือนหลังจากเปิดเทอมแล้ว แต่ยังไม่เห็นตัวเลขว่ามีใครที่ต้องหยุดเรียนหรือออกจากระบบไปเลย แต่ตัวเลขที่เราเห็นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ไม่ได้เรียนออนไลน์ต่อ เพราะคิดว่าเดี๋ยวโควิดดีขึ้นค่อยตามไปเรียนทีหลัง สำหรับนักเรียนตาบอดของเราไม่มีคนดูแล ไม่มีเพื่อน ไม่รู้จะเรียนยังไง จึงต้องหยุดเรียนไปกว่าครึ่ง เพียงแต่ว่าไม่รู้จะเป็นการหยุดแบบชั่วคราวหรือถาวร ถ้าต้องหยุดไปเรื่อยๆ เป็นระยะเวลายาวนานขึ้น ก็จะเป็นการยากที่จะกลับมาต่อติด เราอาจเห็นตัวเลขของเด็กตาบอดจำนวนมากที่หลุดออกจากการศึกษาไปเลยก็ได้ ถ้าเราไม่เร่งรีบจัดการแก้ปัญหาตรงนี้”
นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เล่าให้ฟัง ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ นายดรัณภพ นันตาเรือน ผู้อำนวยการโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ของเด็กตาบอดในขณะนี้กำลังน่ากังวล
อุปสรรคสำคัญที่อาจส่งผลให้เด็กตาบอดหลุดออกจากระบบการศึกษาชั่วคราวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยได้พูดไว้ 4 ประการ
ประการที่ 1 การที่นักเรียนหลายๆ คนไม่มีอุปกรณ์ในการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตที่จำเป็นต่อการเรียน บางคนที่มีก็จะพอเข้าเรียนได้ แต่บางคนที่ไม่มีก็เข้าเรียนไม่ได้
“มันเป็นอุปสรรคทั้งฐานะครอบครัวและปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย นักเรียนตาบอดที่เข้ามาสู่โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนเฉพาะ ส่วนมากมาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน และในช่วงโควิดที่พ่อแม่หารายได้ได้ยากลำบากขึ้น ก็อาจจะยิ่งแย่ไปกว่าช่วงเวลาปกติ และหลายคนก็เป็นนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่อยู่ในชนบท ซึ่งเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ต่างๆ และสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาสนับสนุนครอบครัวของนักเรียนให้สามารถใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายตรงนี้”
คำพูดของนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่เด็กปกติทั่วไปเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แต่เด็กตาบอดที่มีความยากลำบากในการเรียนอยู่แล้ว ยิ่งต้องพยายามเข้าถึงการเรียนรู้อย่างทวีคูณ
ประการที่ 2 เรื่องความรู้ในการใช้อุปกรณ์เหล่านั้น นักเรียนหลายๆ คนไม่สามารถที่จะใช้อุปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องให้ผู้ปกครองคอยช่วยเหลือ โดยเฉพาะกับเด็กที่อยู่ในระดับปฐมวัยและประถมศึกษา ซึ่งถ้าครอบครัวไหนไม่มีผู้ปกครองที่จะสามารถคอยดูแลได้ ก็แทบจะต้องออกจากการเรียนในระบบออนไลน์ไปเลย
ประการที่ 3 แพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน คนตาบอดไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะโปรแกรมอ่านหน้าจอไม่สามารถใช้ร่วมกับแอพพลิเคชั่นหรือแพลตฟอร์มนั้นได้ ในส่วนของโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้ว่าจะมีฟังก์ชั่นอ่านหน้าจอ บางกรณีก็ไม่สามารถใช้กับแอพฯ เหล่านั้นได้เช่นกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าเรียนได้ โดยเฉพาะเด็กที่ต้องเรียนร่วมกับเด็กปกติ
การเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่น เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่สำคัญ โดย ผอ.ดรัณภพ กล่าวเสริมว่า
“การเรียนในรูปแบบออนไลน์ แต่ละโรงเรียนจะมีแพลตฟอร์มไม่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือ เด็กตาบอดไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นเมื่อมีแพลตฟอร์มเหล่านี้ออกมาโดยไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานของนักเรียนตาบอด ก็จะทำให้เด็กเข้าไม่ถึงข้อมูล ทำใบงานไม่ทันเพื่อน เวลาสอบก็มีปัญหาเรื่องของการติ๊กไม่ตรง เพราะว่าโปรแกรมมันไม่อ่านหรืออ่านไม่ตรงหรืออ่านไม่หมด เด็กก็จะเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปเลย หลายๆ โรงเรียนก็ทำให้พอใช้งานได้ แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่าเด็กตาบอดจะใช้งานได้มากน้อยขนาดไหน ผมก็เข้าใจว่าเป็นสถานการณ์เร่งรีบ แต่ว่าเครื่องมือที่จะสามารถใช้งานได้และเข้าถึงได้ก็มีเยอะ เพียงแต่ว่าเราอาศัยความสะดวกของเรา หรือเราจะต้องการให้เด็กได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน”
ประการสุดท้าย นายกสมาคมคนตาบอดฯ กล่าวถึงเรื่องการจัดการเรียนการสอนในบางวิชาที่อาจจะต้องเน้นการปฏิบัติ เพราะเด็กไม่สามารถที่จะดูท่าทางของผู้สอนและนำมาปฏิบัติตามได้ โดยเฉพาะนักเรียนปฐมวัย ถึงแม้ว่าจะเรียนผ่านระบบโรงเรียนเฉพาะ แต่บางกรณีก็ต้องปฏิบัติจริง
“ในวิชาภาคปฏิบัติที่เจอกันบ่อยๆ จะเจอในวิชาวิทยาศาสตร์ อันนี้ค่อนข้างยากที่สุด เพราะนักเรียนไม่ได้อยู่ด้วยกัน เราไม่สามารถจัดการทดลองหรือจัดทำโครงการไปพร้อมๆ กันได้ ครูก็ต้องอธิบายไว้เบื้องต้นก่อน แล้วสาธิตให้นักเรียนฟังและสังเกต ครูจึงต้องเป็นคนทดลองและอธิบายเองทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วนักเรียนจดบันทึกผล ถ้าในกรณีที่ครูไม่ถนัดเรื่องการอธิบายก็จะเกิดปัญหา”
จากการพูดคุยกับทั้งสองท่านทำให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการออกนโยบายการแก้ไขปัญหาการเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สำหรับเด็กตาบอด เพราะนโยบายการเรียนการสอนออนไลน์ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กปกติทั่วไป ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมถึงเด็กในกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนในแบบปกติ โดยเฉพาะเด็กตาบอด ดังนั้นหากมีการจัดการเรียนการสอนแบบเฉพาะกลุ่มได้ อาจช่วยให้เข้าถึงเด็กในกลุ่มที่มีข้อจำกัดได้ดีกว่า